ร.7 พระมหากษัตริย์ พระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา
เรื่องของขวัญแห่งมิตรภาพ ราชอาณาจักรไทย และสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2361-2561 จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง
โดย...สมาน สุดโต
เรื่องของขวัญแห่งมิตรภาพ ราชอาณาจักรไทย และสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2361-2561 จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง ตอนที่แล้วจบที่เรื่องช้างพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประธานาธิบดีลินคอล์น มีสาส์นตอบกลับอย่างสุภาพ แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่ 2 ประเทศมีต่อกัน ตอนสุดท้ายนี้จะเริ่มที่เรื่องพระมหากษัตริย์สยามพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา
หนังสือคู่มือนำชม ของขวัญแห่งมิตรภาพ ได้เล่าถึงเรื่องที่พระมหากษัตริย์สยามพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2474 ว่า ประธานาธิบดี เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ได้เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สยามพระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ชาวนครนิวยอร์กได้จัดการรับเสด็จทั้งสองพระองค์อย่างสมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ขึ้นไปยังยอดตึกเอ็มไพร์สเตตที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ และเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกในขณะนั้น นอกจากนี้ เบบ รูธ นักเบสบอลชื่อก้องโลกในสมัยนั้นได้เข้าเฝ้าฯ ในระหว่างที่เสด็จฯ เยือนนครนิวยอร์กด้วย ทั้งนี้ด้วยความที่พระองค์มีพระราชดำริสนับสนุนประชาธิปไตย จึงทรงเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและสาธารณชนทั่วไปในสหรัฐอเมริกาที่อยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม
การเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา ครั้งนั้น TIME ฉบับวันที่ 20 เม.ย. 2474 อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ขึ้นปก ส่วนของพระราชทานประธานาธิบดี ได้แก่ ขันถมเงิน
ในงานนิทรรศการ ได้นำฉลองพระองค์ครุย ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประทานแก่สถาบันสมิธโซเนียน เมื่อ พ.ศ. 2490
ของขวัญแห่งสันติภาพ
ในหนังสือมีภาพกล่องบุหรี่ทอง ประดับอักษรพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ
บรรยายภาพว่า เป็นกล่องบุหรี่ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มอบให้ ประธานาธิบดี แฟลงคลิน ดี รูสเวลต์ เพื่อสื่อถึงความปรารถนาดีของประเทศไทยในการมุ่งให้เกิดสันติภาพ
กล่องบุหรี่ทองใบนี้ สื่อถึงพลังอันแรงกล้าที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญได้ ทั้งนี้หลังจากการที่กองทัพญี่ปุ่นรุกเข้าดินแดนไทยใน พ.ศ. 2484 บีบให้รัฐบาลไทยประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ในขณะนั้น ไม่ยอมส่งคำประกาศสงครามดังกล่าวแก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามระหว่างสองประเทศ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยังร่วมมือกับฝ่ายสหรัฐอเมริกา เพื่อปลดปล่อยประเทศไทย ด้วยการจัดตั้งขบวนการเสรีไทย
หนังสือคู่มือได้แสดงจดหมาย ของ OSS กับทำเนียบขาว เล่าเรื่องการติดต่อลับกับฝ่ายไทย 1945 ด้วย
ธรรมเนียมที่เปลี่ยนแปลง
หนังสือหน้าที่ 42 พิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงฉายกับประธานาธิบดี ดไวท์ ดี ไอเซนฮาวร์ พร้อมกับช้างไม้แต่งเครื่องออกศึกพระราชทาน พ.ศ. 2503 พร้อมทั้งเล่าเรื่องธรรมเเนียมที่เปลี่ยนแปลงว่าแม้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นมากมาย แต่ความพยายามในการสานสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศยังดำรงสืบเนื่องมาโดยตลอด
ใน พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปรมิน ทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ขณะที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงศึกษา ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ตลอดระยะเวลา 70 ปี อันรุ่งเรืองในรัชสมัยของพระองค์ สายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศที่เสด็จพระราชสมภพก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2503 ของขวัญที่ทั้งสองประเทศมอบให้กันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น และของขวัญแต่ละชิ้นย้ำเตือนถึงมิตรภาพที่เพิ่มพูนขึ้นตลอดระยะเวลาสองศตวรรษ
ของขวัญพระราชทาน
ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เครื่องถมก็มิได้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงฐานันดรศักดิ์อีกต่อไป หากแต่เป็นการเชิดชูงานฝีมืออันล้ำค่าและประเพณีในยุคใหม่แทน ดังนั้น เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา พระองค์จึงได้พระราชทานเครื่องถมแก่ประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาที่มาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ
ในขณะเดียวกันของขวัญพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
จะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์จากศูนย์ศิลปาชีพ เช่น กระเป๋าถือ สิ่งทอและเครื่องถมทอง เป็นต้น
นิทรรศการนี้ สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2561 ครับ