posttoday

หัตถกรรมไทย (เชิงสร้างสรรค์) นิยามความหรูหรายุคใหม่

21 มิถุนายน 2561

เวทีเสวนาว่าด้วยเรื่อง Craft Innovation Guru Panel “Today Life’s Craft” จัดขึ้นโดย SACICT-ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)

เรื่อง ชุติมา สุวรรณเพิ่ม  ภาพ SACICT

เวทีเสวนาว่าด้วยเรื่อง Craft Innovation Guru Panel “Today Life’s Craft” จัดขึ้นโดย SACICT-ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ระดมกูรูเรื่องศิลปหัตถกรรมรอบทิศทาง ชี้ 4 เทรนด์ ที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับงานหัตถศิลป์ไทย ต้อนรับปี 2562 องค์กรใหญ่ที่ทำงานด้านนี้คอนเฟิร์มอนาคตหัตถศิลป์ไทยอินติดกระแสแน่นอน

งานเสวนาจัดขึ้นที่ ช่างชุ่ย อาณาจักรรวมทั้งงานศิลปะ ไอเดีย แฟชั่น บนพื้นที่กว่า 11 ไร่ ในย่านฝั่งธนบุรี มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ให้ความรู้ แลกเปลี่ยนแนวความคิด เพื่อค้นหาแนวโน้ม ทิศทางของเทรนด์หัตถกรรมร่วมสมัย และสื่อถึงภาพรวมงานศิลปหัตถกรรมไทย

เปิดเวทีนำโดยแม่ทัพหญิง อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวเปิดงานเสวนาที่นักสร้างสรรค์ทุกกลุ่ม ทุกวัย รอคอยและติดตามเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวความคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งทิศทางของเทรนด์หัตถกรรมร่วมสมัย ทั้งในด้านการผลิต ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการหรือบุคคลที่สนใจได้เข้าร่วมรับฟังต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น

เวทีนี้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในวงการหัตถศิลป์ไทยมากมาย นำเสวนาโดยผู้บริหารใหญ่ อัมพวัน มาพร้อมกับ แสงระวีสิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ และวิทยากรเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ดุลยพล ศรีจันทร์ นักออกแบบโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศ.ศ.ป. และเจ้าของแบรนด์ PDM ศรัณย์ เย็นปัญญานักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ วุฒิชัย หาญพาณิชย์เจ้าของแบรนด์ไทย HARNN พิษณุ นำศิริโยธิน อาจารย์สอนวิชางานไม้และเครื่องจักสานในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ธนพัฒน์ บุญสนาน ผู้ก่อตั้งบริษัท6 ไก่ชน วิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์ ผู้ก่อตั้ง Asiatides และ Wit’s  Collection สมชัย ส่งวัฒนาผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่น Flynow กิตติภัต ลลิตโรจน์วงศ์ นักออกแบบฝีมือกระฉ่อนในวงการดีไซน์

หัวข้อการเสวนาในปีนี้มี 4 เทรนด์ ซึ่งกำหนดทิศทางโดยกลุ่มนักออกแบบไทย และ SACICT เผยข้อมูลประกอบไปด้วย

หัตถกรรมไทย (เชิงสร้างสรรค์) นิยามความหรูหรายุคใหม่

เทรนด์ Tropical Dream 

ด้วยความเป็นไปของโลกในปัจจุบันที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็วตามกระแสของเทคโนโลยี การหลบหนีความวุ่นวาย และหาโอกาสพาตัวเองไปอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จึงเป็นเสมือนค่านิยมสะท้อนถึงการมีคุณภาพที่ดีของคนรุ่นใหม่ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ในความเป็นจริงที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงต้องมีวิถีชีวิตภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ จึงทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามที่ใจปรารถนา จึงเกิดเป็นแนวโน้มการนำความเป็นธรรมชาติ ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ด้วยการจำลองบรรยากาศความเขียวไว้ในบ้าน หรือที่ทำงาน รวมถึงการสร้างสรรค์กิจกรรมในรูปแบบต่างๆ จึงสะท้อนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยเติมความสดชื่นให้กับจิตวิญญาณของคนเมือง แม้ว่าจะเป็นสัมผัสจากธรรมชาติในรูปแบบเสมือนก็ตาม

ความชื่นชอบธรรมชาติ คือค่านิยมของชนชั้นกลาง เป็นการแสวงหารสนิยมและแสดงความร่ำรวยอีกหนทางหนึ่ง เจรมัยแห่งอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ให้ข้อมูลนี้

“ไม่ว่าจะมีเทรนด์อะไรเกิดขึ้นในโลก แต่จะมี 1 เทรนด์ที่อย่างไรก็จะไม่ล้มหายตายจากไป คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์เรามากที่สุด เทรนด์ Tropical มากับคำว่า Dream มันคือการเข้าไปอยู่ในความฝันโลกสีเขียว ที่เข้ามาเติมเต็มเรื่องไลฟ์สไตล์การดำรงชีวิตของชนชั้นกลางทั่วทั้งโลก กลายเป็นความหรูหราใหม่ของชนชั้นกลาง การโพสต์รูปผ่านออนไลน์โชว์ความร่ำรวย คือการโชว์ความฟุ้งเฟ้อที่คนเริ่มเบื่อหน่าย แต่การโชว์รูปแคมปิ้งกลางป่าเขา กลับกลายเป็นวิถีชีวิตที่ทันสมัยกว่า ชีวิตมีคุณภาพมากกว่า

ปี 2017 เทรนด์การปลูกต้นไม้ในบ้านการทำสวนขวด Terrarium DIY นั่นคือการเรียกน้ำย่อย และจะจริงจังเข้มข้นขึ้นในปีนี้ แบรนด์แฟชั่นเริ่มเข้มข้น จริงจัง กับการนำธรรมชาติเทรนด์ Tropical เข้ามาดีไซน์ และเพิ่มความแฟนตาซีนำสีขั้วตรงข้าม มาปรับแต่งกับดีไซน์ให้เข้ากับวัสดุธรรมชาติและเทคโนโลยี เป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่ว่าชีวิตจะทันสมัย ฟุ้งฝันเกินจริงอย่างไร คนเราก็สามารถใกล้ชิดและโหยหาธรรมชาติได้ เนเชอรัลคือลักซ์ชัวรี่เป็นเทรนด์การออกแบบล่าสุดที่ชัดเจนมาก คนเราโหยหาสัญลักษณ์ธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน”

หัตถกรรมไทย (เชิงสร้างสรรค์) นิยามความหรูหรายุคใหม่

เทรนด์ Retelling the details

เป็นการตอกย้ำถึงคุณค่าผลิตภัณฑ์อีกครั้ง นำเสนอเรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นลงถึงในรายละเอียดซึ่งมีอยู่ในขั้นตอนต่างๆ ที่กว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการในฐานะผู้นำเสนอผลิตภัณฑ์นั้นต่อกลุ่มลูกค้า ที่ตอกย้ำความสำคัญและต้องให้ลูกค้าทราบเข้าถึงความใส่ใจหรือความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ เพื่อให้ส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าของสินค้าในสายตาผู้บริโภค ซึ่งอาจนำเสนอได้ทั้ง การเล่าประวัติศาสตร์ของแบรนด์ ประวัติศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ของชุมชน การเฉลิมฉลองวาระครบรอบ การรีดีไซน์ผลิตภัณฑ์เดิม การต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมให้มีเรื่องราวเพิ่มขึ้น การเล่าเรื่องเดิมในบริบทใหม่ รวมไปถึงการออกแบบใหม่จากดีไซน์เดิมด้วยรายละเอียดที่ใส่ใจมากขึ้น เป็นต้น

อัมพวัน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ทำงานกับผู้สร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ทั่วประเทศ กล่าวว่า แน่นอนว่าคนยุคนี้ไม่ได้ซื้อแต่ตัวผลิตภัณฑ์ ไม่ซื้อเพราะเรื่องราวว่าตะกร้าชิ้นนี้มีขั้นตอนการผลิตอย่างไร แต่เลือกความศรัทธา รู้สึกประทับใจในคุณค่า เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ซื้อเพราะรู้สึกดีกับของชิ้นนั้น

“เทรนด์ยุคนี้คือ Collaboration ปีที่แล้วมีการทำงานกับ สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ มีการสั่งซื้อวัตถุดิบคือกระจูด สั่งซื้อผ้าทอจากชุมชนหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ผลิตกระเป๋ากำลังใจออกมาจำหน่าย เป็นการสร้างคุณค่าให้เป็นรูปธรรมขึ้นและสนับสนุนผู้ผลิตตั้งแต่ต้นทาง แต่ปัญหาก็คือขาดการต่อเนื่องเมื่อหมดการสานต่อโครงการ ซึ่งองค์กรกำลังเน้นนโยบายเป็นตัวกลางประสานงาน เพื่อให้มีการต่อเนื่อง”

“อะไรจึงจะขายได้...?” วุฒิชัย เจ้าของแบรนด์ HARNN บอกว่าเคยผลิตเซตแฮนด์ครีม ครีมอาบน้ำ ซึ่งเป็นของขายดีมากของแบรนด์ โดยนำของกลุ่มนี้ ดีไซน์ใส่กล่องกิฟต์เซต และนำรายได้ 100% ไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ให้แก่องค์กรที่ทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้มะเร็งเต้านม แต่ผลก็คือไม่ได้ขายดีมาก นั่นแสดงว่าในกลุ่มสินค้านี้ไม่ได้ขายดีด้วยการรณรงค์เพื่อสังคม แต่สิ่งที่สร้างคุณค่าให้แท้จริง ของชิ้นนั้นต้องดีงามโดยตัวมันเองแท้จริงด้วย ส่วนเรื่องอิ่มใจได้ให้ ได้ช่วยเหลือสังคม ควรเป็นเรื่องต่อมา

“สินค้าต้องดูแพงกว่าราคาที่เราตั้งขาย การวางคุณภาพเหนือราคาอย่างไรคนซื้อก็สู้ตายจริงๆ นะครับ”  วุฒิชัย เผยกุญแจสำคัญวิธีนำสินค้าให้เข้าไปอยู่ในใจคน

หัตถกรรมไทย (เชิงสร้างสรรค์) นิยามความหรูหรายุคใหม่

เทรนด์ Hospit (re) ality

คนยุคนี้ โรงแรมคือพื้นที่สำหรับการหลบหนีความวุ่นวาย เพื่อปรนเปรอจิตวิญญาณด้วยจินตนาการเหนือจริง เป็นโลกอีกใบที่พาเราออกจากบรรยากาศเดิมๆ ในชีวิตประจำวัน

ดังนั้น เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง ไปจนถึงงานออกแบบสเปซเพื่อการพักผ่อน และอุตสาหกรรมบริการ จึงต้องมีความโดดเด่นแปลกใหม่ และนี่คือโอกาสที่งานคราฟต์พื้นถิ่นสุดวิจิตร จะได้รับการประยุกต์ให้ร่วมสมัยเพื่อพลิกมุมมอง และสร้างบรรยากาศหวือหวา แฟนตาซี ให้กับสเปซแห่งโลกเสมือนนี้

“มีโรงแรมทั่วโลกรอซื้องานฝีมือเหล่านี้อยู่ นี่คือธุรกิจที่มีเชนโรงแรมทั่วโลก ที่ล้วนต้องการความลักซ์ชัวรี่ และให้คุณค่ากับคราฟต์สแมนชิป” พิษณุ อาจารย์สอนวิชางานไม้ และเครื่องจักสานในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ย้ำเทรนด์นี้ว่าคงแรงดีไม่มีตก

พฤติกรรมคนเลือกท่องเที่ยวพักอาศัยในโรงแรมหรู คือต้องการความพิเศษ ยิ่งกว่าพิเศษ เทรนด์นี้กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มคนมิลเลนเนียล หรือคำที่คุ้นหูกันดีคือ Gen Y

“งานคราฟต์ให้คุณค่าเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน หรูเกินจริง ดีเกินจริง ละเอียดเกินจริงเตียงนอนก็ต้องใหญ่ต้องสูง หมอนก็ต้องหนากว่าที่บ้านขึ้นมาอีกนิดหนึ่งนะครับอยู่บ้านไม่มีอ่างน้ำให้อาบ มาโรงแรมไฮเอนด์ก็ต้องมีอ่างให้อาบ การท่องเที่ยวเป็นจินตนาการเชิง Surreal เหนือจริงขึ้นอีกระดับ”

หัตถกรรมไทย (เชิงสร้างสรรค์) นิยามความหรูหรายุคใหม่

เทรนด์ Virtuous

เป็นเทรนด์ที่มาจากงานแฟร์ระดับโลกเช่น งาน Maison & Objet 2018 ที่พูดเรื่องการออกแบบและการซื้อขายจะเปลี่ยนไป การผลิตผลงานแต่ละชิ้นมีปัจจัยเชื่อมโยงในการออกแบบ คิดถึงการใช้งาน เป็นหลักความรู้สึกผิดต่อวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยมไม่ใช้วัสดุแบบทิ้งขว้าง จึงเกิดกฎเกณฑ์ใหม่จริยธรรมใหม่ ในการเลือกซื้อสินค้า ซื้ออย่างถูกจริยธรรม ไม่ใช่แค่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือช่วยสร้างงานในกลุ่มชุมชนที่ด้อยกว่า แต่เป็นการคำนึงถึงองค์รวม เป็นการกระจายรายได้กลับสู่ชุมชน

ดีไซเนอร์จึงใช้เรื่องราวและที่มาของสินค้าชิ้นนั้นๆ เป็นพระเอกชูโรง แม้จะเป็นงานคราฟต์แบบเดียวกัน หน้าตาเหมือนกัน ผู้ซื้อจะเลือกชิ้นที่มีจริยธรรม และมีจรรยาบรรณในการทำงาน และมีความเฉพาะตัวกว่า เป็นต้น

แม่งานใหญ่ อัมพวัน กล่าวทิ้งท้ายงานเสวนาครั้งนี้ ต้องถือว่าเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานหัตถศิลป์ทั้งในส่วนการผลิต วัตถุดิบ การออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และนักวิชาการ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวโน้มและทิศทางของเทรนด์หัตถกรรมร่วมสมัย และภาพรวมงานศิลปหัตถกรรมไทย ทั้งในด้านการผลิต การออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการนำเสนอผลงานหัตถกรรมและหัตถศิลป์ของไทยในปี 2562 ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการหรือบุคคลที่สนใจได้เข้าร่วมรับฟัง เกิดผลต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีศักยภาพต่อไป