posttoday

ใจกลางความสุข เขียวชอุ่มกลางภู ‘เชียงกลาง’

07 กรกฎาคม 2561

สองขากับสองล้อคู่กายพาไปสู่ใจกลางความสุข ณ เมืองเชียงกลาง อำเภอเล็กๆ ใน จ.น่าน

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ

สองขากับสองล้อคู่กายพาไปสู่ใจกลางความสุข ณ เมืองเชียงกลาง อำเภอเล็กๆ ใน จ.น่าน ที่ตอนนี้ชาวบ้านกำลังลงแขกดำนากลางฝน ต้นอ่อนพลิ้วโอนส่งกลิ่นความชอุ่มมากับสายลม

คนบนอานสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าเต็มปอดขึ้นไปถึงสมอง ปล่อยให้มันบำบัดความขุ่นหมองและชำระร่างกายที่บอบช้ำ ส่งแรงไปยังสองเท้า ปั่นมุ่งหน้าไปตามทางที่ขนาบด้วยทุ่งนาสุดลูกหูลูกตาจรดภูเขาเบื้องหน้าที่ปกคลุมด้วยหมอกหรือเมฆฝนก็ไม่แน่ใจ

นักท่องเที่ยวที่มาน่าน ส่วนมากจะมาไม่ถึงหรือเลยผ่านอำเภอนี้ไป คือหยุดเที่ยวที่ปัวก่อนถึงเชียงกลาง หรือขับรถเลยไปทุ่งช้างแล้วปล่อยเชียงกลางไว้กลางทาง เชียงกลางจึงมีเครื่องหมายคำถามว่า มีอะไรเที่ยว?

น่าดีใจที่เชียงกลางไม่ได้มีแค่ทุ่งนา แต่ยังมีที่พักให้คุณมาเที่ยวและพักค้างแรม ซึ่งคงต้องกล่าวถึง “แสงทอง รีสอร์ท” ที่พักริมนามีจักรยานให้ใช้บริการฟรี โดยถนนเล็กๆ หน้าโรงแรมเป็นเส้นทางปั่นจักรยานเลาะเลี้ยวไปหาคนเกี่ยวข้าว แนะนำ 2 ระยะ คือ 10 และ 20 กม. ซึ่งสามารถปั่นได้เองหรือใช้บริการไกด์นำทางของรีสอร์ท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมคนละ 100 บาทเท่านั้น

ใจกลางความสุข เขียวชอุ่มกลางภู ‘เชียงกลาง’

เดือน ก.ค. ชาวเชียงกลาง จะขี่รถเครื่องออกจากบ้านมายังทุ่งนา เพื่อนำต้นอ่อนที่ปลูกไว้ปักดำลงอีกแปลง แต่ละต้นห่างกัน 1 คืบเท่ากันตามความชำนาญประหนึ่งมีไม้บรรทัดวัด ซึ่งช่วงนี้เวลาปั่นไปตามถนนปูน (ถนนที่ชาวบ้านใช้สัญจร) จะเห็นต้นข้าวสีเขียวอ่อนเต้นระบำ เวลาปั่นฉิวจะอ้าปากกินลมแทนอาหารเช้า แวะหยุดทักทายชาวบ้านบ้างแม้ไม่รู้จัก เก็บรอยยิ้มกลับมา หรือหากใครมีเวลาอยากลองดำนา พี่ป้าน้าอาก็ยินดีให้ช่วย

จากถนนเส้นเล็กๆ ทะลุออกไปยังถนนใหญ่ไม่จอแจ ถนนสายน่าน-ชายแดนด่านห้วยโกร๋น เงียบสงบในยามเช้าตรู่ มองเห็นแต่วัวเท่านั้นที่ตื่นขึ้นมากินหญ้า ส่วนรถรายังคงนอนหลับอยู่ที่ไหนสักแห่ง ถนนทั้งสายจึงแทบเป็นเลนจักรยานแต่ก็ครอบครองได้ไม่นานเส้นทางก็นำไปสู่ถนนสายเล็กอีกครั้ง มุ่งหน้าไปยัง “วัดเจดีย์ (คาว)” วัดสำคัญของชุมชนบ้านเจดีย์

ลงจากอาน ถอดหมวกจักรยาน เข้าวิหารไปไหว้พระขอพร พระสงฆ์ยังออกไปบิณฑบาตจึงได้แต่ทำบุญในตู้บริจาค จากนั้นอย่าลืมไปชมวิวภูเขา ทุ่งนา และพักขาสักพักก่อนเดินทางต่อบนถนนปูนสายเล็ก (อีกครั้ง) ที่ทอดยาวไปกับทุ่งนา ปั่นผ่านผืนแล้วผืนเล่าเหมือนกับว่าถนนสายนั้นเป็นคันนาสายหรู

ใจกลางความสุข เขียวชอุ่มกลางภู ‘เชียงกลาง’

ไม่ต้องทำเวลา ไม่ต้องเร่งฝีเท้า ค่อยๆ ปั่นไปตามจังหวะหมอกไหลเชื่องช้าบนภูเขาที่ทอดยาว เพราะจะเร็วจะช้าปลายทางก็ยังไม่รอเวลาเหมือนเดิมคือ แม่น้ำกอน เส้นเลือดใหญ่ของชาวเชียงกลางที่กั้นพื้นราบเป็นสองฝั่ง โดยมี “สะพานแสงตะวันรุ่ง” เป็นตัวกลางเชื่อมผืนนาทั้งหมดเข้าหากัน

ส่วนความหมายของชื่อสะพานก็ไม่อ้อมค้อม เพราะวันไหนฟ้าเปิดเป็นใจจะสามารถยืนบนสะพานชมพระอาทิตย์ขึ้นพ้นเหลี่ยมเขาได้อย่างสวยงาม

จากสะพานแรกในเขตบ้านเจดีย์ ถนนปูนอย่างดีจะเปลี่ยนเป็นถนนดินลูกรังเลี้ยวเข้าชุมชนบ้านเชียงโคม เลียบแม่น้ำกอนและไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยังไม่มีฝักจะไปเจอกับอีกสะพานชื่อ “สะพานสายรุ้ง” สีสันทั้ง 7 บนรั้วสะพานบ่งบอกว่าไม่ผิดที่แน่ ซึ่งจุดนี้แม่น้ำกอนด้านล่างดูจะเกรี้ยวกราดกว่า จากการสอบถามคนเลี้ยงวัวแถวนั้นจะทราบมาว่า เป็นจุดที่แม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกันจนไหลแรงและเร็ว

ใจกลางความสุข เขียวชอุ่มกลางภู ‘เชียงกลาง’

จากนั้นสองเท้ายังพาสองล้อปั่นไปที่บ้านสบกอน อดีตชุมชนที่เคยรุ่งเรืองและควันโขมงไปด้วยกลิ่นยาสูบ ด้วยเป็นที่ตั้งของโรงบ่มยาสูบจำนวนมากที่สุดใน จ.น่าน

ร่องรอยความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมใบยาสูบในภาคเหนือยังมีให้เห็นที่ “สถานีบ่มใบยาสบกอน” ที่ตั้งของอาคารก่ออิฐถือปูน ไม่มีประตูและหน้าต่าง ทุกหลังถูกทิ้งร้าง และรายล้อมด้วยหญ้าและวัชพืชสูงเหนือเข่า สถานีแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2493 หรือ 68 ปีที่ผ่านมา เพื่อใช้อบใบยาสูบ ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง และส่งไปทำบุหรี่ทั่วประเทศไทย

“เมื่อก่อนบ้านสบกอนปลูกใบยาสูบเยอะมาก มีคนมารับซื้อใบยาสูบแห้งตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงตี 1 ตี 2 แต่เมื่อคนเลิกสูบบุหรี่เยอะขึ้น ทำให้ขายได้น้อยลง ชาวบ้านจึงปลูกน้อยลง แรงงานคนหายาก ฟืนก็หายาก เจ้าของกิจการคุณสมชาย โลหะโชติ อดีต สส.น่าน จึงเปลี่ยนจากโรงบ่มด้วยฟืนเป็นเตาอบไฟฟ้า สถานีเดิมแห่งนี้เลยถูกทิ้งร้างไว้เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา โรงบ่มจำนวน 114 เตาถูกทิ้งให้กลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนรุ่นหลังถึงอาชีพและวิถีชีวิตของชาวเชียงกลางในอดีตต่อไป” ผู้ดูแลสถานีบ่มใบยาสบกอนเล่า

ใจกลางความสุข เขียวชอุ่มกลางภู ‘เชียงกลาง’

เธอกล่าวต่อว่า จ.น่าน มีโรงบ่มใบยาสูบที่เชียงกลาง ปัว และท่าวังผา แต่สถานีแห่งนี้ใหญ่และสวยงามที่สุด ซึ่งปีนี้จะเป็นปีแรกที่โรงบ่มไฟฟ้าจะเลิกอบใบยาสูบเปลี่ยนไปอบลำไย ส่วนบ้านไหนที่ยังปลูกใบยาสูบจะต้องนำไปอบที่ปัวแทน

“ปกติประตูสถานีจะปิดตลอดเวลาเพราะเป็นที่ของเอกชน แต่จะเปิดเมื่อมีการขออนุญาตมาล่วงหน้าทั้งมาท่องเที่ยว ถ่ายภาพ และถ่ายพรีเวดดิ้ง ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะสามารถแวะเวียนมาถ่ายภาพได้แค่ด้านหน้าประตู” ผู้ดูแลสถานีกล่าว

หลังจากส่องดูอาคารร้างที่ไม่ไร้เสน่ห์จนหนำใจ เส้นทางปั่นจักรยานระยะ 10 กม. จะจบลงตรงนี้ ให้ปั่นกลับไปยังรีสอร์ทเพื่อพักผ่อนตามอัธยาศัย ส่วนอีก 10 กม. ที่เหลือของระยะไกล สองล้อจะแล่นต่อไปสู่ “สนามบินเหล็ก” หรือสนามบินเชียงกลางที่ปัจจุบันเลิกใช้งานแล้ว

ใจกลางความสุข เขียวชอุ่มกลางภู ‘เชียงกลาง’

สนามบินเชียงกลางเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2506 แต่เดิมปูพื้นรันเวย์ด้วยลูกรัง อีก 4 ปีต่อมาจึงขยายขนาดและเปลี่ยนมาปูพื้นด้วยแผ่นเหล็กนำเข้าจากไต้หวัน โดยทหารช่างจากลพบุรีเป็นผู้ปูพื้น มีทหารช่างอเมริกันเป็นผู้ควบคุมดูแล วัตถุประสงค์ในการก่อสร้างเพื่อรับ-ส่งกำลังพล เพื่อปฏิบัติภารกิจในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ตอนบนของ จ.น่าน โดยสามารถจอดได้ทั้งเครื่องบินลำใหญ่และเครื่องบินใบพัด และครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นสนามบินเฝ้าฯ รับเสด็จในหลวง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2537 ด้วย

สำหรับสถานที่สุดท้ายของภารกิจสองล้อได้ไปสิ้นสุดที่ “วัดหนองแดง” นมัสการพระครูพิบูลนันทวิทย์ เจ้าอาวาสวัด และถือโอกาสสอบถามประวัติของโบราณสถานวิหารไทลื้อ วัดหนองแดง แห่งนี้

หลวงพ่อเล่าให้ฟังโดยสังเขปถึงเรื่องราวที่เล่าต่อกันมาแบบมุขปาฐะเล่าว่า วัดหนองแดงสร้างขึ้นมากว่า 800 ปี โดยชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองสิบสองปันนา ประเทศจีน มาตั้งรกรากที่นี่ จากหมู่บ้านเล็กๆ กลายเป็นหมู่บ้านใหญ่และมีวัดหนองแดงเป็นวัดประจำหมู่บ้าน

ใจกลางความสุข เขียวชอุ่มกลางภู ‘เชียงกลาง’

300 ปีผ่านไป ชาวไทลื้อได้หาทางกลับไปสิบสองปันนาเพื่อไปตามหานายช่างกลับมาซ่อมแซมวัด และถือโอกาสไปเยี่ยมญาติพี่น้อง โดยก่อนกลับพวกเขาได้นำทรัพย์สมบัติไปฝังไว้ที่วัดหนองแดง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องขนสมบัติไปเสี่ยงกับการถูกปล้น แล้วปลูกต้นโพธิ์ทับหลุมฝังสมบัติอีกที คิดว่าถ้าเสร็จภารกิจกลับมาจะกลับมาขุดขึ้นมาใช้

อีก 14-15 ปีผ่านไป ชาวบ้านได้กลับมาปรากฏว่าต้นโพธิ์ได้โตใหญ่จนไม่มีใครกล้าขุด จนถึงปัจจุบันก็ยังเชื่อว่า ทรัพย์สมบัติถูกฝังอยู่ใต้ต้นโพธิ์เหมือนเดิม ต้นโพธิ์หลังวิหารจึงเป็นจุดที่ชาวไทลื้อจัดพิธีกรรมห่มค้ำโพธิ์ตามความเชื่อศรัทธา

“ตัววิหารถ้ามองภายนอกโครงสร้างต่างๆ จะเป็นแบบไทลื้อทั้งหมด คือ ทรงเตี้ย ภายนอกดูเหมือนจะเล็ก แต่พอเข้าไปข้างในจะใหญ่โล่งสบาย องค์พระประธานประดิษฐานอยู่บนนาคบัลลังก์ ช่อฟ้าที่มองเห็นอยู่บนยอดวิหาร เรียกว่า นกหัสดีลิงค์ เป็นความเชื่อของคนไทลื้อที่จะนับถือช้าง เพราะถือว่าเป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ตอนหลังเห็นฝูงนกบินบนท้องฟ้า จึงนับถือนกเพราะสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ทั้งสองความเชื่อจึงปลูกฝังร่วมกันมากลายเป็นนกหัสดีลิงค์ที่บริเวณอกเป็นนก และมีงวงเป็นช้าง ประดับอยู่บนช่อฟ้าสวยงาม

ใจกลางความสุข เขียวชอุ่มกลางภู ‘เชียงกลาง’

ส่วนเสาวิหารแต่ละต้นเป็นไม้โบราณอายุ 700-800 ปี ทุกต้นเจาะรูไว้ หลวงพ่อเรียกว่า รูใจ เพราะคำว่า ใจ ชาวเหนือหมายถึง แวะเวียนมาดู แต่เหตุที่ต้องมีรูนั้นก็คงเป็นเพราะการขนส่งในอดีตที่ไม่มีเครื่องทุ่นแรงจึงต้องเจาะรูกลางไม้แล้วใช้ไม้สอดเข้าไปเป็นคานหาม”

นอกจากนั้น เจ้าอาวาสยังอยากให้ทุกคนที่มาไหว้พระได้จุดผางประทีสหรือผางประทีป เครื่องสักการบูชาในพระพุทธศาสนา โดยคำว่า ผาง คือภาชนะดินเผาคล้ายถ้วยเล็กๆ ใช้เป็นถ้วยสำหรับใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมันและไส้ของประทีสที่ทำมาจากเส้นฝ้าย ส่วนคำว่า ประทีส คือแสงสว่าง เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตอุดมสมบูรณ์ และเจริญงอกงาม

ใจกลางความสุข เขียวชอุ่มกลางภู ‘เชียงกลาง’

“พื้นที่ตรงนี้ในอดีตเรียกว่า เมืองเปือ คือ เป็นตำบลที่มีแม่น้ำ 7 สาย จุดที่แม่น้ำไหลมารวมกันทำให้ถูกตีฟองขึ้นซึ่งชาวบ้านเรียกว่า น้ำเปือ ต่อมาแม่น้ำสายที่ 7 แตกแขนงเป็น 8 สาย ซึ่งสายที่ 8 นี้เองที่ชาวบ้านมักนำศพมาโยนทิ้งจนหนองน้ำแดงไปด้วยเลือด เป็นที่มาของบ้านหนองแดง ขณะเดียวกันยังชี้ให้เห็นว่า เชียงกลางเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีแม่น้ำถึง 8 สาย คนที่นี่จึงทำนาได้ไม่เดือดร้อนเรื่องน้ำท่า”

เป็นจริงอย่างเจ้าอาวาสวัดหนองแดงกล่าว เพราะเวลานี้ไม่ว่ามองไปทางไหนก็เห็นทุ่งนา วัวกำลังเล็มหญ้า และผืนป่าข้างทางสีเขียวสดชื่น การเดินทางด้วยสองล้อจึงเป็นการสัมผัสความชอุ่มที่ชุ่มฉ่ำที่สุด ไม่รบกวนยอดข้าวที่กำลังโตวันโตคืน และดื่มด่ำความสุขในใจกลางความเงียบ

ใจกลางความสุข เขียวชอุ่มกลางภู ‘เชียงกลาง’