posttoday

อ่อนมารยาทสังคม ปัญหาของคนเมืองใหญ่

31 กรกฎาคม 2561

ปรากฏการณ์ใหม่ ที่กำลังแพร่ระบาดมากขึ้นในสังคมเมืองใหญ่ๆ คาดว่าจะเป็นอาการที่รักษายาก

เรื่อง  อณุสรา ทองอุไร ภาพ  Pixabay

ปรากฏการณ์ใหม่ ที่กำลังแพร่ระบาดมากขึ้นในสังคมเมืองใหญ่ๆ คาดว่าจะเป็นอาการที่รักษายาก อยู่ที่ไหนก็ลำบากเพราะถ้าเป็นแล้วไปอยู่ที่ไหนใครๆ ก็ไม่รักเพราะจะทำให้คนอยู่ด้วยเอือมระอาทำตัวน่าเบื่อ เป็นคนมารยาททางสังคมบกพร่อง เคยไหมที่สละที่นั่งบนรถไฟฟ้าให้แต่ไม่มีคำขอบคุณ มีคนเดินเฉี่ยวคุณแต่ไม่มีคำขอโทษ หรือมีคนเดินก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือเดินมาชนแล้วทำหน้าเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แซงคิวแบบหน้าตาเฉย บอกให้กดชั้นในลิฟต์ให้แล้วก็ไม่ขอบคุณ  

มาทำความรู้จักอาการมารยาททางสังคมบกพร่องที่กำลังระบาดหนักในสังคมไทย โดยเฉพาะในหมู่กลุ่มประชากรวัยรุ่น และวัยทำงานในเขตเมืองใหญ่ ที่ต่างประเทศพบมากในเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ เช่น นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก โตเกียว และปารีส

ผศ.พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า อาการนี้ขั้นแรกๆ ผู้ป่วยจะมีอาการนิ่งเฉย ไม่ตอบสนองต่อการมีปฏิสัมพันธ์ปกติจากคนรอบข้าง เช่น การทักทาย การขอบคุณ หรือความช่วยเหลือจากภายนอก แต่ระบบประสาทของผู้ป่วยจะมีความไวเป็นพิเศษหากเจอสิ่งเร้าในทางลบ หรือสิ่งกระตุ้นที่ตนเองไม่พอใจ โดยจะมีอาการตอบสนองอย่างรุนแรงทันทีที่ไม่ถูกใจบางสิ่งเรียกสั้นๆ ว่า “เหวี่ยง” นั่นเอง

ในขั้นกลางของโรค ผู้ป่วยจะไม่สามารถแสดงออกถึงมารยาทพื้นฐานเช่น การขอบคุณ การขอโทษ การรับการทักทาย การยิ้ม การตอบคำถามทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือการให้ความร่วมมือกับงานของส่วนรวมได้ และไม่สามารถแสดงความเห็นอกเห็นใจ  มีน้ำใจต่อผู้อื่นได้หากปราศจากผลประโยชน์ตอบแทน แต่ในทางตรงข้ามจะพบความสามารถในการแสดงออกอย่างก้าวร้าว ด่าทอ นินทาว่าร้าย เรียกร้องความสนใจ แย่งซีนชาวบ้านมากขึ้นถึงเกือบ 3 เท่าของคนปกติ

สุดท้ายจะมีอาการต่อต้านสังคมอย่างเห็นได้ชัด เหตุและผลจะหายไป โดยสัญชาตญานของความเห็นแก่ตัวจะเข้ามาแทนที่ อาการภายนอกเห็นได้จากหน้าตาที่บูดบึ้งโกรธเคืองตลอดเวลาในทุกสถานการณ์ บางรายมีท่าเดินที่ดูแปลกผิดปกติ อันเกิดจากบุคลิกภาพที่เสื่อมไปจากการไม่แคร์ภาพลักษณ์ของตัวเอง จะมีแรงกระตุ้นอย่างรุนแรงที่จะต่อต้านกติกามารยาทของสังคม หรือต้องการแสดงวาจาก้าวร้าวต่อผู้อื่นโดยไม่มีสาเหตุอันควร รวมถึงการแสดงความดูถูก เหยียดหยาม พูดจาตอกหน้าต่อผู้อื่นด้วยความตั้งใจ โดยเฉพาะกับคนที่ทำดีต่อตนเองก่อน เช่น เปิดประตูให้ ลุกให้ที่นั่งบนรถประจำทาง กล่าวคำทักทาย นำของขวัญมาให้ หรือแสดงความเป็นมิตรความใส่ใจห่วงใยต่อผู้ที่มีอาการนี้ และบางรายมักเกิดความพึงพอใจเมื่อได้ค่อนขอดคนที่ทำดีในสังคมว่า สร้างภาพบ้าง โลกสวยบ้าง

อ่อนมารยาทสังคม ปัญหาของคนเมืองใหญ่

ผู้เข้าข่ายของอาการนี้ คือคนที่มีอาการคิดว่าตัวเองสำคัญที่สุดในโลก คือมองว่าตนเองสำคัญเกินกว่าจะต้องลดตัวเองไปทำดีกับใคร ตัวเองสำคัญจนไม่จำเป็นต้องเคารพกติกามารยาทกาลเทศะใดๆ ในสังคม เพราะเป็นหน้าที่ของคนรอบข้างที่ต้องคอยมาเอาอกเอาใจตัวเองมากกว่า  ส่วนกลุ่มที่สองมักมีปมด้อยดูถูกตัวเองอย่างสุดขีด จึงเกิดแรงผลักดันที่จะผลักไสความรู้สึกแย่ของตนไปให้ผู้อื่นได้รับทุกข์ทรมานด้วยเพื่อความสะใจลึกๆ หรือชอบอวดตัวเองอย่างบ้าๆ บ๊องๆ ขายความเป๋อสร้างความรำคาญ แบบอนาถใจแก่ผู้พบเห็น

ความร้ายแรงของอาการนั้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดผลร้ายแรงจนใครๆ อาจไม่รัก หรือไม่มีใครคบตลอดชีวิตได้ สังคมรังเกียจ ทำให้ผู้คนที่ได้พบเห็นไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย ในรายที่เป็นหนักหนามากอาจถูกมองด้วยสายตาอันขยะแขยงรังเกียจได้

การรักษาในผู้ป่วยระยะเริ่มต้นและปานกลาง แก้ไขอาการของโรคให้ทุเลาลงได้ด้วยการ ฝึกยิ้มบ่อยๆ หัดพูดคำว่าขอบคุณและขอโทษครับหรือไม่เป็นไร อย่างจริงใจให้เป็นนิสัย พยายามนึกถึงใจเขาใจเราให้มากขึ้นว่าถ้าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำอย่างไร้มารยาทบ้างจะรู้สึกแย่อย่างไร เพื่อจะได้ไม่ทำกับคนอื่น แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเดียวกัน ให้ลองใช้เทคนิคขั้นสูงที่เรียกว่าการช่างมันเถอะ เพื่อป้องกันการดราม่าอันอาจนำไปสู่การติดต่อของโรค สุดท้ายลองฝึกนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาที่เรานับถือสามารถลดความรุนแรงของอาการได้

ในผู้ที่มีอาการรุนแรง แนะนำให้งดหรือลดการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กลงสักช่วงหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้นิสัยชิงดีชิงเด่น เรียกร้องความสนใจและพฤติกรรมก่อกวนสังคมเกิดกำเริบลุกลาม และออกไปมีเพื่อนจริงๆ ที่ไม่ประสาทบ้าง แต่หากในครึ่งปีอาการไม่ดีขึ้นผู้ป่วยควรไปพบจิตแพทย์ วิธีป้องกันและการรักษา ก็คือหัดยิ้มให้คนรอบข้างด้วยความเป็นมิตร หัดเอาใจเขามาใส่ใจเรา หัดพูดคำว่าขอบคุณ ขอโทษ ไม่เป็นไร อย่างจริงใจ หัดเป็นผู้ให้และรู้จักให้อภัย และเปลี่ยนจากคำว่ายอม เป็นคำว่าเข้าใจ

อ่อนมารยาทสังคม ปัญหาของคนเมืองใหญ่

เห็นอาการแบบนี้แล้วน่ากังวลใช่ไหม คนเหล่านี้หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจกลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจ ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคม และใช้ชีวิตในสังคมอยู่ยาก แต่หากพบว่ามีความผิดปกติขั้นจริงจัง ควรจะรีบพบและปรึกษาจิตแพทย์เพื่อปรึกษาหาทางออก การเริ่มต้นสอนให้เด็กๆ รู้จักกับมารยาทพื้นฐาน อันได้แก่ การมีสัมมาคารวะ มีความสุภาพ อ่อนน้อม ความมีวินัยและพฤติกรรมต่างๆ ที่ปรากฏแก่สายตาต่อผู้อื่น เพื่อให้เติบโตมาเป็นที่รักและคนที่ดีได้ในสังคมอนาคต

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาส จิตแพทย์กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน การเรียน หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องอยู่ในคนหมู่มาก ต้องอาศัยทักษะทางสังคม หรือความฉลาดทางสังคม เป็นความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของผู้คนและสังคมรอบข้างได้เป็นอย่างดี

สถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกี ได้ติดตามสถิติของคนที่มีไอคิวดี ที่มีการฝึกอบรมทางด้านสมอง รวมทั้งมีทักษะความสามารถในการทำงานดี พบว่าคุณสมบัติดังกล่าวทำให้คนประสบความสำเร็จเพียง 15% แต่อีก 85% มาจากปัจจัยด้านบุคลิกภาพ และการปฏิบัติต่อผู้อื่น หรือที่เรียกว่า การพัฒนาทักษะความฉลาดทางสังคม หากมองให้ดีการที่คนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่ที่คอยอบรมเลี้ยงดูลูกมาเป็นอย่างดีตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ ซึ่งการใกล้ชิดของพ่อแม่ลูก จะช่วยส่งเสริมให้เด็กรู้จักการคิด ตอบสนองกับทุกเรื่อง และกับทุกคนที่นอกเหนือจากพ่อแม่ หรือคนในครอบครัว 

ทางกลับกันในปัจจุบันพ่อแม่มักไม่มีเวลาที่จะอยู่ใกล้ชิดกับลูกมากเท่าที่ควร การที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกๆ มากเท่าที่ควรจะเกิดความห่างเหินแปลกแยกระหว่างคนในสังคมที่ไม่รู้จักแม้กระทั่งเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันโดยไม่เคยแม้แต่จะยิ้มทักทาย พูดคุยกัน ต่างคนต่างอยู่ และมีน้ำใจให้กันน้อย ผลพวงของปัจจัยเหล่านี้เป็นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ เกิดอาการมารยาทสังคมบกพร่องกันมาก 

อ่อนมารยาทสังคม ปัญหาของคนเมืองใหญ่

คนที่มีลักษณะแบบนี้ โดยเฉพาะกับเด็ก หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก อาจส่งผลให้คนในสังคมรังเกียจ ไม่มีใครอยากคบ อยากพูดคุยด้วย ไม่มีเพื่อน และอาจถูกมองว่าเป็นขยะทางสังคมได้ในอนาคต  มารยาททางสังคมบกพร่อง สามารถแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้เกิดได้ ด้วยการได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ การได้รับการอบรมสั่งสอนให้แสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง สอนให้เข้าใจกฎกติกามารยาททางสังคม สอนให้รู้จักมีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่มองแต่ตัวเองเป็นสำคัญ การที่พ่อแม่ได้ใกล้ชิดกับลูก เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้เห็น และได้ซึมซับแต่สิ่งที่ดีจากพ่อแม่ ก็จะช่วยลดปัญหาการเกิดโรคมารยาททางสังคมบกพร่องลงได้

“ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่แพร่ระบาดไปมากในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งต้องช่วยกันรณรงค์แก้ไข คนไทยเป็นประเทศที่มีน้ำใจ ร่ำรวยวัฒนธรรม มีความเอื้ออาทร อย่าให้ข้อดีนี้สูญหายไป ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่หัดทำอยู่เสมอคือ การไหว้ ไม่ใช่ไหว้แค่คนที่รวยกว่าหรือแก่กว่าเท่านั้น เราไหว้แม้ป้าแม่บ้านที่เอาผ้ามาเช็ดน้ำที่เราทำหก ก็ควรไหว้หรือขอบคุณเพราะมาช่วยทำดีเพื่อเรา อย่าคิดว่าต้องเสียเกียรติที่ต้องไปไหว้แม่บ้าน ยิ่งทำตัวให้อ่อนโยนน่ารักด้วยการยิ้มแย้ม ทักทาย ขอบคุณ ขอโทษ อยู่เสมอจะทำให้มีจิตใจอ่อนโยนน่ารักมีน้ำใจเป็นที่รัก ตัวเราเองก็จะมีความสุขมากขึ้น

หากทำตัวแข็งกระด้างแห้งแล้งไหว้ใครไม่เป็น ขอโทษ ขอบคุณใครก่อนไม่ได้ คุณจะกลายเป็นคนเย็นชาไม่น่ารัก แล้วก็จะมีความสุขในชีวิตได้ยากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเสียเงิน ลองเริ่มจากหัดขอบคุณตัวเอง ขอบคุณคนในบ้าน คนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน ฝึกบ่อยๆ จนกลายเป็นนิสัย หัวใจคุณจะอ่อนโยนนุ่มนวลยิ่งขึ้น คนไทยมีความโดดเด่นเรื่องความมีน้ำใจ ควรรักษาสิ่งนี้เอาไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติ”

Thailand Web Stat