What is fascia ? : พังผืดคืออะไร
Fascia อ่านว่า ฟาสเชีย หรือแฟซเซีย
โดย ภัชภิชา แก้วสุวรรณสุข (ครูเจี๊ยบ) ผู้ก่อตั้ง Japayatri Yoga Style โยคะสุตรา สตูดิโอ www.YogaSutraThai.com
Fascia อ่านว่า ฟาสเชีย หรือแฟซเซีย ในฉบับที่แล้วเจี๊ยบได้เกริ่นนำเกี่ยวกับระบบพังผืดไปบ้างแล้วว่าคือ เนื้อเยื่อหรือไฟเบอร์ขนาดใหญ่ ที่ห่อหุ้มร่างกายภายในของเราเอาไว้ด้วยกันคล้ายกับใยแมงมุม ในวันนี้เราจะมาเจาะลึกเกี่ยวกับเจ้าสิ่งนี้กัน
เมื่อ 3 ปีก่อน เจี๊ยบเคยไปเข้าเวิร์กช็อปเกี่ยวกับเรื่องระบบพังผืดมาที่ฮ่องกง คุณครูที่สอนได้ยกตัวอย่าง “ผลส้ม” ให้เห็นรายละเอียดเปรียบเทียบผลส้มกับระบบพังผืดในร่างกายเรา เมื่อเราจินตนาการตามทำให้ง่ายและเห็นภาพได้ชัดเจนประกอบความเข้าใจเราได้มากขึ้น (ดูตัวอย่างจากภาพที่ 1)
ในภาพแรกเป็นภาพส้มที่ผ่าซีกออก ให้ผู้อ่านลองตั้งใจสังเกตรายละเอียดของส้มในภาพนี้ แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจเป็นส่วนๆ กันค่ะ
จากภาพเปลือกส้มด้านนอกเปรียบเป็นผิวหนังของมนุษย์ ลูกศรชี้ที่ฝั่งด้านขวาบนสุด อันถัดมาอันที่สองด้านขวาจากผิวหนังลูกศรชี้เข้ามาตรงเนื้อเยื่อขาวๆ ใต้เปลือกที่ยังไม่ถึงเนื้อส้มหรือก็คือผิวเปลือกส้ม เจ้าสิ่งนี้เปรียบเป็นพังผืดระดับผิวๆ ที่อยู่ใต้ผิวหนังของเรา ซึ่งสำหรับบางคนสามารถมองเห็นได้คือ เซลลูไลต์ Cellulite (พังผืดที่ไม่แข็งแรง คนผอมบางคนก็มีนะ)หากพังผืดตรงบริเวณนี้มีคุณภาพที่ดี ก็จะมองไม่เห็นเป็นเซลลูไลต์
ต่อมาอันล่างขวาสุดอันที่สาม จะเห็นว่าเริ่มเข้ามาภายในเนื้อส้ม แล้วลูกศรชี้ไปที่เส้นขอบระหว่างกลีบส้มแต่ละกลีบ เส้นที่แยกส้มแต่ละกลีบเป็นชิ้นๆ ที่เวลาเราจะกินส้มต้องเอามือแกะแยกส้มออกทีละกลีบนี้ เปรียบเหมือนกับพังผืดชั้นลึกที่ห่อหุ้มกล้ามเนื้อของเรา ดังนั้นเวลาเรายืดกล้ามเนื้อ หรือสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ก็เท่ากับว่าเราได้ใช้งานพังผืดที่ห่อหุ้มกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ไปด้วยพร้อมๆ กัน
สำหรับกล้ามเนื้อลายถัดจากฟาสเชียหรือพังผืด ยังมีชั้นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ที่ทำหน้าที่หุ้มกล้ามเนื้อชั้นนอกอีกทีเรียกว่า เอพิไมเซียม (Epimysium) และในด้านในจะประกอบไปด้วยฟาสซิเคิล (Fascicle) หรือกลุ่มของเส้นใยกล้ามเนื้อหลายกลุ่ม ที่ถูกหุ้มไว้ด้วยเพอริไมเซียม (Perimysium) ส่วนด้านในเส้นใยของฟาสซิเคิลจะถูกหุ้มไว้ด้วยเอนโดไมเซียม (Endomysium) อีกที
จากนั้นย้ายมาดูฝั่งซ้ายกัน ที่ล่างซ้ายสุดลูกศรชี้ไปที่เนื้อส้ม ที่ด้านบนของเนื้อส้ม ถ้าเราสังเกตดีๆ จะเห็นเยื่อบางๆ ที่ห่อหุ้มเนื้อส้มข้างในไว้ (ถ้าไม่เชื่อก็ไปปอกส้มมาดูได้เลยมีจริงๆ) อันนี้เปรียบเหมือนกับพังผืดที่ห่อหุ้มเส้นประสาท หลอดเลือดและอวัยวะภายใน และสุดท้ายบนซ้ายลูกศรชี้ไปที่ขั้วที่อยู่ตรงกลางผลส้ม เปรียบเหมือนกับกระดูกสันหลัง และระบบประสาทส่วนกลางของเรา
ถามว่า ทำไมต้องเอาผลส้มมาเปรียบเทียบ เจี๊ยบคิดว่าเป็นเพราะเนื้อเยื่อบางๆ แล้วส่วนประกอบเล็กๆ ที่ประกอบกันมาเป็นส้ม ดูมีความใกล้เคียงกับระบบพังผืดค่อนข้างมาก หากไม่มีเนื้อเยื่อกับชั้นๆ ที่เป็นระดับแบบนี้มารวมเข้าด้วยกัน ส้มก็จะไม่สามารถเป็นส้มได้เลย ร่างกายเราก็เช่นกัน สิ่งที่แรปหรือห่อหุ้มภายในของเราเอาไว้เข้าด้วยกัน ก็คือระบบพังผืดนั่นเอง
ทีนี้ (ดูตัวอย่างจากภาพที่ 2) ในภาพนี้เราจะเห็นเส้นบางๆ ที่เป็นเครือข่ายของระบบพังผืดเป็นเน็ตเวิร์กทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งมันลิงค์กัน ส่งผลให้บางครั้งเมื่อเรามีอาการเจ็บข้อเท้า แต่อยู่ดีๆ อาจทำให้เริ่มไปเจ็บไหล่ได้ เพราะเจ้าระบบพังผืดมันเชื่อมโยงกันนั่นเอง ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายนิ้วเท้าที่แรปเราอยู่ข้างใน อาการที่จุดหนึ่งอาจส่งผลไปที่จุดไหนๆ ก็ได้ในร่างกาย
ความหนา ความบางของพังผืดในแต่ละระดับของแต่ละคนไม่เท่ากัน และในร่างกายคนเดียวกันก็ต่างกันในแต่ละส่วนของร่างกายด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปมพังผืด Trigger Point ที่เกาะตัวแถวกล้ามเนื้อส่วน บ่า ไหล่ ของคนที่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ การยืดกล้ามเนื้อช่วยคลายความเมื่อยได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับบางคนที่สะสมความตึงไว้หลายสิบปีจนพังผืดกลายเป็นปม Knot พอกดลงไปจะเจอก้อนๆ ที่หนากดเจ็บๆ แต่รู้สึกดีเมื่อโดนกดรู้สึกเจ็บแบบสะใจ
ในกรณีคนที่เป็นหนักมาก อาจต้องการการปลดปล่อยด้วยวิธีอื่นๆ ผสมด้วย เช่น กัวซา นวดด้วยหมอ หรือการใช้น้ำหนักตัวกดนวดตัวเองด้วยลูกบอล Myofascial Release Techniques เป็นต้น ภาษาทางการแพทย์จะเรียกว่า กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด หรือกลุ่มอาการเอมพีเอส Myofascial Pain Syndrome (MPS)
พฤติกรรมในการใช้ชีวิตของเรามีผลในการสร้างปัญหาให้ระบบพังผืด ในส่วนของร่างกาย เช่น การชอบนั่งหลังค่อมนานๆ การต้องทำกิจกรรมบางอย่างซ้ำๆ นานๆ หรือการใช้งานร่างกายหรือทำงานหนักมากเกินไป ออกกำลังกายหนักไปโดยไม่ได้พัก ในส่วนของจิตใจ เช่น คนที่ใช้ความคิดเยอะ มีความเครียดสะสม วิตกกังวลตลอดเวลา และยังรวมทั้งการดื่มน้ำน้อยเกินไปในแต่ละวัน การกินอาหารทอดๆ มันๆ และคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินความจำเป็นเยอะเกินไปโดยไม่ออกกำลังกาย ทำให้ไขมันสะสมเอาไว้แล้วจับตัวเป็นก้อน (อาจจะเกิดเซลลูไลต์)
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของพังผืดเกิดขึ้นได้ ถ้ามันแย่ได้มันก็ดีได้ อยู่ที่ตัวเรา เมื่อเราดูแลสุขภาพกาย-ใจแบบองค์รวมและสร้างความสมดุล