The Hidden of Sanyasi ‘สันยาสี’ กับสิ่งที่ซ่อนอยู่
ตามหลักการอาศรม 4 คือ ขั้นตอนของการดำเนินชีวิตแบ่งเป็นสี่ขั้น ในขั้นสุดท้ายเรียกว่า สันยัสตาศรม
โดย ภัชภิชา แก้วสุวรรณสุข (ครูเจี๊ยบ) ผู้ก่อตั้ง Japayatri Yoga Style โยคะสุตรา สตูดิโอ www.YogaSutraThai.com
ตามหลักการอาศรม 4 คือ ขั้นตอนของการดำเนินชีวิตแบ่งเป็นสี่ขั้น ในขั้นสุดท้ายเรียกว่า สันยัสตาศรม (โมกษะ) เรียกผู้ที่อยู่ในขั้นนี้ว่า สันยาสี ซึ่งก็คือในช่วงสุดท้ายของชีวิต ให้สละชีวิตทางโลกบำเพ็ญเพียรเพื่อความหลุดพ้น
สำหรับในคัมภีร์ภควัทคีตา ที่พระกฤษณะได้ตอบอรชุนว่า “สันยาสะ ได้แก่การเลิกละโดยเด็ดขาดของกรรมที่มีมูลเหตุมาจากความทะยานอยาก บุคคลพึงปฏิบัติไปโดยไม่หวังผลและไม่ยึดมั่นในผลของกรรม เพราะไม่มีใครในโลกจะหลีกเลี่ยงจากการกระทำกรรมได้ แม้ว่าผู้ใดไม่ปรารถนาจะทำกรรม แต่ความเป็นไปของชีวิตก็จะบังคับและส่งเสริมให้ท่านทำมันเอง ชีวิตทุกชีวิตบนโลก ล้วนแต่ถูกสร้างมาเพื่อให้กระทำกรรมทั้งสิ้น ฉะนั้น จงมุ่งสู่โมกษะเพื่อให้พ้นจากพันธะแห่งกรรม” คำตอบที่พระกฤษณะให้กับอรชุนช่างสวยงามและล้ำลึกยิ่งนัก
สำหรับเจี๊ยบ “สันยาสี” เคยได้ยินคำนี้ครั้งแรกจริงๆ สมัยเป็นเด็กตอนเรียนเรื่องปรัชญาอินเดีย ดินแดนชมพูทวีป เวลาล่วงเลย ณ ตอนนี้อีกไม่กี่ปีก็จะเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว พอจะเขียนเรื่องสันยาสีเลยลองสมมติเล่นๆ ว่า หากเรามองโลกในแง่ดีแล้ว บังเอิญโชคดีได้ใช้ชีวิตจนแก่ก่อนที่จะตาย ความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับ “การอยู่” แบบไม่มีอะไรเป็นของเราเลย จะเป็นยังไงนะ
ในความไม่มี เช่น ไม่มีสมบัติ ไม่มีอำนาจ ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีครอบครัวอยู่ใกล้ๆ ไม่มีลูกที่เป็นของเรา เพื่อนๆ ก็แยกย้ายจากกันไปหมด เมื่อไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีตัวตน เลิกมองหาการให้คุณค่า ค่างวด แข่งขัน ต่อสู้ ดิ้นรน ไขว่คว้า โหยหา
บางทีนี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายจริงๆ ที่เราจะได้รับรู้ ประสบและเข้าใจถึงมันก่อนที่จะลาจากโลกนี้ไป นำไปสู่การเตรียมตัวตายอย่างสงบ ทำให้เราเข้าใจคุณค่าของชีวิต นัยสำคัญที่ซ่อนอยู่
การตายอย่างมีสติแบบไม่กลัว ไม่กังวล ไม่โกรธและไม่โทษสิ่งใด สู่ความท้าทายที่จะได้เผชิญหน้ากับความเหงาแม้ว่าเราจะไม่เชื้อเชิญ เจ้าสิ่งนี้ต้องมาเยี่ยมเราในยามแก่อยู่แล้ว โอกาสของชีวิตที่ไม่ต้องหาสิ่งพึ่งพิงทางใจ เพราะความตายมันลองซ้อมกันไม่ได้สินะ
เคยได้ยินว่ามีคนต่างชาติทดลองจัดงานศพตัวเองก่อนตายจริงด้วย แต่ก็เพราะว่าเราไม่มีทางรู้วันที่เราจะตายได้เลย เราจึงต้องพร้อมเสมอทุกวินาที และจนกว่าจะถึงวันนั้นในช่วงสุดท้ายของชีวิต
ช่วงสันยาสี มี 3 ประโยคนี้ ลองขยายความให้ชัดเจนอีกครั้ง 1.การเสียสละ การละทิ้ง 2.การบำเพ็ญประโยชน์ บำเพ็ญเพียร 3.ความหลุดพ้น ทั้งหมดนี้คือการชี้นำให้เราตายอย่างสงบ ในความหมายของการกระทำกรรมดีแบบไม่ยึดตึดค่ะ
ทีนี้ลองโฟกัสที่คีย์เวิร์ดสุดท้ายคือ “ความหลุดพ้น” ของโยคะในภควัทคีตากัน การหลุดพ้นด้วยพลังแห่งสมาธิบริสุทธิ์ ที่เขียนไว้ในคัมภีร์มีหลายเส้นทาง ซึ่งมีให้เราเลือกแบบที่ตรงจริตกับตัวเอง หรือจะลองแบบผสมผสานก็ได้
ทางแรกคือ กรรมโยคะ การกระทำที่ไร้ซึ่งการกระทำ การสละผลแห่งการกระทำ การกระทำที่ไม่ยึดติดในกรรม อันที่สองคือ ชญาณโยคะ ภาวะของการหยั่งรู้ รวมถึงความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติ การใช้ปัญญาจนเท่าทันสิ่งทั้งปวงสู่การรู้แจ้ง อันที่สาม ภักติโยคะ ความภักดี การศิโรราบและมอบหัวใจให้พระเจ้า
เจี๊ยบจะเรียกพระเจ้าว่าจักรวาลหรือคุณจะเรียกว่า ธรรมชาติ สรรพสิ่ง เต๋า ความว่าง หรืออะไรก็ได้หรือไม่มีนามก็ได้ นั่นคือ การไว้เนื้อเชื่อใจในจักรวาล ในธรรมชาติ ตัวเราเป็นเพียงทางผ่านของพลังงานที่เลื่อนไหลผ่านเข้ามาแล้วก็จากไป
ตำราโบราณเขียนเรื่องราวเอาไว้อย่างน่าทึ่ง ทิ้งให้คนรุ่นหลังได้อ่านได้ศึกษา พวกเราช่างโชคดีไม่ต้องรอให้ถึงตอนแก่หรอก แผนที่มีไว้แล้ว คัมภีร์ที่ล้ำค่ามีไว้แล้ว เหลือเพียงแค่การปฏิบัติ ค้นหาทำความเข้าใจและซึมซับด้วยตัวเราเองเท่านั้น
อันที่จริงหลักแห่งสมาธิที่แตกต่างในสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ลัทธิ นักปรัชญา นักคิด ผู้แสวงหาทั้งหลาย พูดเรื่องเดียวกันอยู่อธิบายต่างกันบ้างมองต่างมุมกันบ้างแต่ล้วนมุ่งไปสู่สิ่งเดียวกัน เจี๊ยบขอส่งต่อเรื่องนี้ให้ท่านผู้อ่านเพื่อกระตุ้นเตือน ปลุกต่อมหรือพลังภายในให้เกิดการตระหนักรู้มองกลับเข้ามาที่ข้างในของเรา ที่เราจะเห็นจิตใจ รู้ทันกระบวนการคิด และอารมณ์ต่างๆ ที่พาเราหลงทาง (Self-Realization)
ดังนั้นเริ่มเลย ไม่ต้องรอใช้ความเป็นมนุษย์พัฒนาและเติบโตจากภายใน จนไปสู่การตื่นรู้...Om Tat Sat...