posttoday

"ศิลปะ" สรรค์สร้างกรุงเทพฯ

19 พฤศจิกายน 2561

การจัดงานศิลป์ไม่ใช่เพียง “งานศิลปะ” แต่เป็น “การสรรค์สร้างเมือง” เป็นนวัตกรรมของเมืองที่กรุงเทพฯ ขาดหายไป

การจัดงานศิลป์ไม่ใช่เพียง “งานศิลปะ” แต่เป็น “การสรรค์สร้างเมือง” เป็นนวัตกรรมของเมืองที่กรุงเทพฯ ขาดหายไป

**********************************

โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale 2018) ด้วยแนวคิด “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้-ก.พ. 2562 เป็นโอกาสให้คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ชื่นชมผลงานศิลปะระดับโลก จากศิลปินระดับโลกและศิลปินไทยระดับยอดฝีมือ

งานศิลป์ระดับโลกนี้เคยจัดที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือแม้แต่สิงคโปร์เพื่อนบ้านของเรา ก็เคยจัดงานศิลป์นี้มาแล้วเช่นกัน การจัดแสดงครั้งนี้จะกระจายตามสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งด้านวัฒนธรรมและด้านความทันสมัยของกรุงเทพฯ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) วัดอรุณราชวราราม วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ศูนย์การค้าสยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ ดิเอ็มโพเรียม และวันแบงค็อก

การจัดงานศิลป์ไม่ใช่เพียงแค่ “งานศิลปะ” แต่ผมเห็นว่าเป็น “การสรรค์สร้างเมือง” เป็นนวัตกรรมของเมืองที่กรุงเทพฯ ขาดหายไป เมื่อเปรียบกับมหานครอื่นทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการผสมผสานงานศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ลงไปสู่ทุกอณูของความเป็นเมือง เพราะตระหนักว่าสังคมเมืองที่มีแต่ความแออัด รถติด คนเร่งรีบ มีแต่การแข่งขัน และมีความเครียดสูง งานศิลปะจึงเปรียบเสมือนยาบำบัดเยียวยาจิตใจของคนเมือง ให้มีความสุข มีรอยยิ้ม เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ในทุกวัน

เสียดายที่กรุงเทพฯ ยังขาดความเป็นศิลปะที่พลเมืองเข้าถึงได้ ไม่ต้องพูดถึงพิพิธภัณฑ์ศิลป์ที่มีอยู่น้อยนิดและยังไม่ได้รับความสนับสนุนมากนัก ขณะที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ที่มีพื้นที่สาธารณะมากกว่ากรุงเทพฯ หลายเท่า โดยเฉพาะลานเนชั่นแนล มอลล์ (National Mall) ที่เชื่อมต่อรัฐสภา ทำเนียบขาว พิพิธภัณฑ์ชั้นนำ มีการแสดงศิลปะกลางแจ้ง พร้อมมีดนตรีบรรเลงในสวน สร้างความสุขแก่ทุกคนที่เดินผ่าน นอกจากนั้นยังสรรค์สร้างผลงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ที่คนเมืองเข้าถึงได้ ตามป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟ หรือแม้แต่อาคารเก่า กำแพงรั้ว ก็สัมผัสได้ถึงความคิดสร้างสรรค์ของเมือง

กรุงโตเกียวถือเป็นแบบอย่างของเมืองแห่งศิลปะร่วมสมัย ตัวอย่างเช่น ย่านโอไดบะ (Odaiba) เมืองใหม่ที่เป็นเกาะอันเกิดจากการถมขยะ ยังมีรูปปั้นเทพีเสรีภาพจำลองในสวนสวยริมหาดอ่าวโตเกียว ที่นักท่องเที่ยวต้องไปถ่ายรูป และยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมิไรคัง (Miraikan) ที่ศาสตร์และศิลป์ถูกแสดงไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน

อีกทั้งย่านรปปงงิ (Roppongi Hills) เมืองใหม่ของโตเกียว ที่มีปรัชญา “ศิลปะและชีวิต” สร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรมตั้งแต่ทางเดินเท้าไปจึงถึงอาคารทุกอาคาร จะมีงานศิลปะแฝงอยู่แทบทุกที่ และยังมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะเลื่องชื่อ สรรค์สร้างเมืองใหม่แห่งนี้ให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นชัดเจน

สิงคโปร์ประเทศที่เราอาจคิดถึงเกาะเล็กๆ พื้นที่แคบๆ มีแต่ตึกสูง อาคารสำนักงาน ธนาคารระดับโลก แต่สิงคโปร์ประกาศว่าต้องเป็น “เมืองแห่งศิลปะ” มุ่งมั่นสร้างทุกมุมมอง และทุกมุมเมืองให้เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ ตั้งแต่อาคารสาธารณะ ทางเท้า ไปจนถึงสวนพฤกษศาสตร์ (Botanic Garden) ที่ไม่เพียงแต่จัดแสดงพันธุ์ไม้สวยงาม แต่จัดแสดงทุกอย่างเป็นงานศิลป์ร่วมสมัยผสมผสานร่วมด้วยอย่างลงตัว จนเป็นที่ยอมรับในความงดงามไปทั่วโลก

การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางศิลปะกับเมืองจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะทั้งของรัฐและพื้นที่ของเอกชน ทำให้คนเมืองได้พักผ่อนคลายจิตใจ ลดความแข็งกร้าว ลดความตึงเครียด เติมเต็มความคิดสร้างสรรค์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่อยู่แล้ว หากแต่ว่าต้องการการเสริมสร้างนวัตกรรมทางศิลปะให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น จะสรรค์สร้างกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ น่าสนใจ น่ามาเยี่ยมเยือนครั้งแล้วครั้งเล่ามิรู้เบื่อ