posttoday

ทางรอดจากโรคหลอดเลือดสมอง

27 ธันวาคม 2561

รู้ไหมว่า ปัจจุบันนี้ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีมีจำนวนเพิ่มขึ้น

เรื่อง ภาดนุ ภาพ Pixabay

รู้ไหมว่า ปัจจุบันนี้ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งบอกว่าอายุอาจไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้อีกต่อไป จากนี้โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่คนทุกวัยควรระวัง เพราะแม้แต่ผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน หรือวัยรุ่น ก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ด้วยสาเหตุที่ต่างกัน

ครั้งนี้เราจึงนำข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับ โรคหลอดเลือดสมอง จากโรงพยาบาลกรุงเทพมาฝาก เพื่อคุณผู้อ่านจะได้รู้เร็ว รักษาเร็ว และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการอัมพาต ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคนี้โดยตรง ทุกคนจะได้ใช้ชีวิตกันแบบอยู่ดีมีสุขและมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น

โรคหลอดเลือดสมอง 3 ประเภท

1.หลอดเลือดในสมองอุดตัน (Embolic Stroke)

สาเหตุ 80% เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในเส้นเลือดนอกสมอง เช่น ที่หัวใจ ลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง

2.หลอดเลือดในสมองตีบ (Cerebral Thrombosis)

สาเหตุ 80% เกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นจากผนังหลอดเลือดสมองที่มีคราบไขมันเกาะจนแข็ง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบ แคบลง จนอุดตันในที่สุด

3.เลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke)

สาเหตุ 20% เกิดจากเลือดออกภายในสมอง ซึ่งเลือดที่ไหลออกมาทำให้เกิดแรงกดเบียดต่อเนื้อสมอง และทำลายเนื้อเยื่อสมอง

วิธีสังเกตอาการโรคนี้ มีชื่อเรียกโดยรวมว่า F.A.S.T ดังนั้น หากพบอาการใดอาการหนึ่งดังต่อไปนี้ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

F-Face Drooping หรืออาการปากเบี้ยว ยิ้มแล้วมุมปากตก ปวดศีรษะรุนแรง ล้มแล้ววูบไป

A-Arm Weakness อาการแขนขาอ่อนแรง และเดินเซ

S-Speech Difficulty พูดไม่ชัด พูดลำบาก หรือพูดไม่เป็นคำ

T-Time โทรเรียกรถพยาบาล แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

จำไว้ว่า “เวลา” คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการรักษาโรคนี้ หากสังเกตเห็นอาการ F.A.S.T ควรรีบนำผู้ป่วยส่งให้ถึงมือแพทย์เฉพาะทางด้าน Stroke เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต และลดความเสี่ยงในการเป็นอัมพาต เพราะหากสมองเราขาดเลือดเพียง 1 นาที จะทำให้เซลล์สมองตายลงประมาณ 1 ล้านเซลล์

 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยง

- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดสูง หรือโรคเบาหวาน

- คนที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือผู้ที่หลอดเลือดคอตีบแคบ

- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และภาวะหัวใจโต

- ผู้ที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน คนที่นอนกรนหรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ

- คนที่มีการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน

- ประวัติครอบครัวมีโรคหัวใจและหลอดเลือด

- กีฬาหรืออุบัติเหตุที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรงๆ จนทำให้หลอดเลือดบริเวณคอฉีกขาด

ทางรอดจากโรคหลอดเลือดสมอง

ตัวเลขสำคัญในการรักษา

1.มาถึงโรงพยาบาลภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง หลังเกิดอาการ แพทย์จะให้ยาสลายลิ่มเลือด rtPA ทางหลอดเลือดดำในคนไข้ที่มีภาวะสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดอุดตันขนาดเล็กและไม่พบภาวะเลือดออกในสมอง จะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ทันท่วงที

2.มาถึงโรงพยาบาลช้ากว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเซลล์สมองยังไม่ตาย สามารถรักษาโดยการใส่สายสวนหลอดเลือดแดง เพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตันขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ

สำหรับวิธีการรักษา แพทย์จะใช้เทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมอง หากผลการตรวจพบว่า คนไข้มีเส้นเลือดอุดตันขนาดใหญ่ แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเพื่อหาตำแหน่งหลอดเลือดที่อุดตัน และใช้ BIPLANE DSA ดึงลิ่มเลือดออกจากสมองด้วยวิธีผ่าตัดแผลเล็ก (Minimal Invasive) โดยการใส่สายสวนที่ขาหนีบ แล้วดูดหรือนำลวดหรือตะแกรงเข้าไปเกี่ยวลิ่มเลือดที่อุดตัน เพื่อเป็นการเปิดหลอดเลือดสมองให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมอง โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ

แต่เนื่องจากหลอดเลือดสมองมีความบอบบางมาก การรักษาจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง โดยทีมแพทย์รังสีร่วมรักษาระบบประสาทที่มีความชำนาญเฉพาะทาง

การฟื้นตัวหลังการรักษาของผู้ป่วย หากทำตั้งแต่อยู่ในห้องไอซียูหรือระยะเฉียบพลัน ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวด้านสมองและกำลังของกล้ามเนื้อได้เร็วขึ้น และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อาทิ ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางปอด โรคลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ เป็นต้น โดยฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อแขนขา การทรงตัว การกลืน การขับถ่าย การทำกิจวัตรประจำวัน การฝึกพูด การหายใจ กระบวนการรับรู้ ความคิดและความจำ การฟื้นฟูภาวะซึมเศร้า และปัญหาด้านสภาพจิตใจร่วมด้วย

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองไม่เลือกเพศหรือวัย และผู้ที่เคยเป็นแล้ว อาจมีโอกาสเป็นซ้ำอีกได้ หากมีปัจจัยเสี่ยง ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพ เช่น กินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน ตรวจร่างกายประจำปี วัดความดัน ตรวจเช็กภาวะเบาหวานและคลื่นหัวใจ

ถ้าในครอบครัวไหนมีสมาชิกป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต ก็อาจมีความเสี่ยงในระดับหนึ่งฉะนั้นการตรวจอัลตร้าซาวนด์หลอดเลือดที่คอ เพื่อดูว่ามีคราบไขมันจับหรือหลอดเลือดตีบหรือไม่ ถือเป็นการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองให้ห่างไกลจากตัวเราได้ดีพอสมควร