ขี่มังกรตามหาหัวใจ ‘ตันหยงโป’
เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ
เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ
หลังพายุปาบึกผ่านพ้นไปอยากชวนไปเที่ยวภาคใต้ให้คึกคักเหมือนเดิม อย่างอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทย จ.สตูล กับการท่องเที่ยวโดยชุมชนใกล้ตัวเมืองที่ “ตันหยงโป”
ชุมชนชาวประมงตันหยงโป รวมกลุ่มตั้งเป็นชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อหารายได้พิเศษจากสิ่งที่พวกเขามี “บังเดวิด” ไกด์ท้องถิ่นเป็นคนพาเที่ยว ประจำการตำแหน่งหัวเรือโทงเล่าเส้นทางคร่าวๆ ว่า เรือจะแล่นไป 3 จุด
จุดแรกที่ เกาะหัวมัน จุดพักของชาวประมงที่ยังคงวิถีชีวิตชาวเลไว้ จุดสองที่ สันหลังมังกรตัวเขื่องทอดยาวเกือบ 4 กม. และจุดสุดท้ายที่ เกาะหินเหล็ก มีหินรูปร่างประหลาดและทุ่งหญ้าคา จากนั้นจะกลับเข้าฝั่งเพื่อรับประทานอาหารกลางวันที่บังเดวิดภูมิใจนำเสนอว่า ต้องจุกแน่นอน
“ต.ตันหยงโป มี 3 หมู่บ้าน หมู่ 1 คือ ตันหยงโป ตันหยงแปลว่า แหลม โปเป็นชื่อต้นมะม่วง หมู่ 2 คือ หาดทรายยาว และที่ท่านอยู่ตอนนี้คือ หมู่ 3 บ้านบากันเคย บากัน แปลว่า ที่ตาก เคย คือกุ้งตัวเล็กไว้ทำกะปิ เพราะที่นี่เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้งเคย”
ดังนั้นถ้าได้ยินว่า ท่องเที่ยวชุมชนบากันเคย ก็หมายถึงที่เดียวกับตันหยงโปนั่นเอง
เกาะหัวมัน
ชาวประมงเรียกเกาะหัวมันว่า ปูเลาอูบี ปูเลา แปลว่า เกาะ ส่วนอูบี แปลว่า หัวมัน บ้านเรือนบนนั้นจะเป็นกระท่อมหลังคามุงจาก ฝ้าไม้ไผ่ และบันไดสามขั้น มีลักษณะเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของชาวประมงเวลาออกไปหาปลาไว้พักแรม โดยที่ไม่ต้องแล่นเรือกลับเข้าฝั่ง โดยบนเกาะยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา แต่มีบ่อน้ำจืดที่สร้างไว้เพื่อเก็บกักน้ำฝน
“คนมักถามว่าทำไมต้องมีบันไดสามขั้น นั่นเพราะว่าถ้าสร้างขั้นบันไดที่นับได้เลขคู่จะทำให้ลูกสาวบ้านนั้นขึ้นคาน ทำให้ทุกบ้านสร้างบันไดเลขคี่” บังเดวิดกล่าวต่อ
“กระท่อมเหล่านี้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของชาวประมง เวลาออกเรือหาปลาอาทิตย์หรือสองอาทิตย์จะกลับมาพักบนเกาะ แล้วค่อยกลับบ้านที่อยู่บนฝั่ง มีประมาณ 10 หลัง ซึ่งเราตั้งใจให้คงรักษากระท่อมมุงจากแบบนี้
ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นว่า สมัยก่อนเราใช้ชีวิตอยู่กันยังไง เพราะในอดีตไม่ได้มีแค่บนเกาะหัวมันเท่านั้น แต่บนฝั่งตันหยงโปก็สร้างบ้านลักษณะแบบนี้”
เกาะหัวมันใช้เวลาล่องเรือจากฝั่งประมาณ 20 นาที บนเกาะมีต้นไม้ขึ้นเขียวชอุ่ม โดยมีต้นหนึ่งที่บังเดวิดตื่นเต้นอยากโชว์เรียกว่า ต้นรูปหัวใจ คือมีลำต้นเป็นโพรงคล้ายหัวใจแต่ไม่เต็มดวง จึงเป็นกิมมิก
ให้คู่รักมาเติมเต็มให้สมบูรณ์
ส่วนหน้าเกาะเป็นหาดทรายยาว ไม่ใช่หาดทรายละเอียด แต่เป็นเศษเปลือกหอยที่ถูกคลื่นซัดมากองรวมกันเป็นสันดอนยาว และจากเกาะหัวมันจะมองเห็นสันหลังมังกรอยู่ลิบๆ กลายเป็นภาพประหลาดที่เห็นคนเดินได้กลางทะเล โดยหลังจากที่ถ่ายภาพและเดินชมกระท่อมมุงจากกันเต็มที่แล้ว ก็ขึ้นเรือหัวโทงลำเดิมเดินทางต่อไปหามังกร
สันหลังมังกร
ไฮไลต์ของเส้นทางอย่าง สันหลังมังกร ทอดยาวระหว่างเกาะหัวมัน (หางมังกร) กับเกาะสาม (หัวมังกร)
“สตูลมีสันหลังมังกร 8 ตัว แต่ตัวที่ยาวที่สุดคือที่นี่ ยาว 4 กม. โดยแต่ละวันจะเผยตัวให้ชมเวลาไม่เท่ากัน และสันหลังมังกรตัวนี้ไม่ใช่สันทราย แต่เป็นเศษเปลือกของหอยกาบงที่ถูกน้ำพัดมากองรวมกัน เวลาเดินจึงได้นวดเท้าไปด้วย”
หอยกาบงคล้ายหอยแมลงภู่แต่ตัวเล็กกว่า อาศัยอยู่ใต้โคลน บังเดวิดเล่าว่า แถวสันหลังมังกรมีหอยกาบงอยู่ทุกตารางนิ้ว การเก็บต้องช้อนมือทั้งสองข้างลงไปใต้โคลนแล้วอุ้มขึ้นมา หอยจะอยู่รวมตัวกันเป็นแพ และจะติดขึ้นมาเป็นแพ จากนั้นล้างน้ำเค็มให้โคลนออก และเก็บใส่ถุงไปต้มกินกับน้ำจิ้มซีฟู้ดเป็นอาหารกลางวัน
ในวันที่น้ำลงสุดๆ จะสามารถเดินเชื่อมระหว่างเกาะหัวมันและเกาะสามได้ ถึงขนาดที่เคยจัดอีเวนต์ขนจักรยานขึ้นเรือเพื่อมาปั่นบนสันหลังมังกรมาแล้ว
ส่วนเกาะสามนั้น ชาวบ้านเรียกว่า ปูเลาตีฆอ มีลักษณะเป็นกลุ่มเกาะ 3 เกาะใกล้กัน ถ้านักท่องเที่ยวอยากลงเล่นน้ำจะพามาที่เกาะสาม รวมถึงหากอยากพักกินของว่างระหว่างทางก็จะพามาปิกนิกบนชายหาดใต้เงาไม้ที่นี่
“หนึ่งในบริการของเราคือ อาหารว่าง แต่ละวันอาหารจะไม่เหมือนกันแล้วแต่กลุ่มแม่บ้านจะเตรียมอะไร อย่างวันนี้จะเป็นข้าวเหนียวสังขยากับหน้ากุ้ง น้ำส้ม น้ำเปล่า จะเตรียมมาให้กินรองท้องระหว่างทาง เพราะส่วนใหญ่จะออกเรือกันตอนสายๆ แล้วกลับขึ้นฝั่งหลังเที่ยง เพื่อลดความหิวระหว่างทางจะได้ไม่ต้องรีบกลับไปกินข้าว เพราะเราอยากให้ค่อยๆ เที่ยว ใช้เวลาทุกจุดได้เต็มที่ ไม่ต้องรีบร้อน” บังเดวิด กล่าว
เกาะหินเหล็ก
จากสันหลังมังกร คราวนี้นั่งเรือไกลหน่อยไปที่เกาะหินเหล็ก บังคนเดิมเล่าว่า สมัยก่อนชื่อเกาะกวาง แต่เปลี่ยนเป็นเกาะหินเหล็กเพราะพบแร่เหล็กมาก
“คนที่อยากถูหินเหล็กลองดูได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้เลือดหรือเลข” บังเดวิดตลกร้ายหินจะมีลักษณะเป็นปล้องสี่เหลี่ยมแข็ง และมีไฮไลต์ของชาวมุสลิมเป็นตัวอักษรภาษาอาหรับที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้ อ่านเป็นชื่อพระนามของพระเจ้าอัลเลาะห์
นอกจากนี้ บนเกาะยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตก 2 แผ่นดินระหว่างเกาะตะรุเตาฝั่งไทยและเกาะลังกาวีฝั่งมาเลเซีย แต่ต้องวางแผนมาให้ดี ให้เวลาเหมาะสมทั้งชมทะเลแหวกและแสงสุดท้าย โดยบนเกาะมีจุดชมวิวมุมสูง ต้องผาดโผนเล็กน้อยกับการไต่เชือกขึ้นไป ด้านบนจะเห็นวิว 360 องศา และเห็นภาพความตัดกันของสีเขียวจากทุ่งหญ้าคาตัดกับสีฟ้าจากท้องทะเล ปิดฉากจุดสุดท้ายของเส้นทางท่องเที่ยว
แต่หากมีเวลาเหลือและยังไม่หิวข้าวกลางวัน บังเดวิดมีจุดที่ 4 เป็นจุดใหม่ที่ไม่อยู่ในโปรแกรมแต่มีไว้แถม ชื่อ หาดทรายดำ อยู่ที่เกาะมดแดง มีกิจกรรมให้ไปนวดสปาผิวด้วยทรายสีดำ โดยตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองสินค้าคือ หากนักท่องเที่ยวพึงพอใจก็อาจเพิ่มเข้าไปในโปรแกรมแบบถาวร
บังเล่าต่อว่า การท่องเที่ยวตันหยงโปมีมานานราว 6 ปี ผู้บุกเบิกคือ “บังอาเร็น” เขยตันหยงโป และเป็นเจ้าของบริษัททัวร์ในตัวเมืองสตูล
บังอาเร็นมีแนวคิดที่จะพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวจึงล่องเรือสำรวจรอบพื้นที่ จากนั้นก็เริ่มขายโปรแกรมทัวร์ที่บริษัทตัวเอง หลังลูกค้าพอใจจึงเริ่มโปรโมทจนกลายเป็นชมรมส่งเสริมตันหยงโปอย่างในปัจจุบัน
“ส่วนมากคนในตันหยงโปทำประมง อีก 20 เปอร์เซ็นต์ทำสวนยาง ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ตันหยงโปเรามีสภาพเหมือนเกาะหัวมัน คือ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา มีแต่บ่อน้ำกร่อย เวลาอาบน้ำต้องกระโดดลงทะเลก่อนแล้วค่อยขึ้นมาอาบน้ำจืดอีกสักขันสองขัน และบ้านเรือนก็เป็นกระท่อมมุงจาก อยู่กันแบบชาวประมงจริงๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเจริญเริ่มเข้ามาชาวบ้านก็เริ่มสร้างบ้านให้แข็งแรงคงทนขึ้น แต่อาชีพก็ยังทำประมงอยู่เพราะมันเป็นชีวิตของเรา”
เขากล่าวด้วยว่า เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวมาสตูล มาแวะเข้าห้องน้ำอย่างเดียว แต่ตอนนี้บริษัททัวร์ในตัวเมืองสตูลช่วยกันโปรโมทท่องเที่ยวตันหยงโป ทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวและมาพักบนฝั่ง รวมถึงเรือที่จะไปเกาะหลีเป๊ะก็แวะเที่ยว 3 จุดนี้ก่อนแล้วค่อยล่องไปถึงหลีเป๊ะช่วงเย็น
“ปัจจุบันมีชาวมาเลเซียมาเที่ยวจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มารับประทานอาหารเพราะอาหารทะเลฝั่งไทยถูกกว่าและสดกว่า โดยส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์จากกัวลาลัมเปอร์ ปีนัง เคดาห์ ที่นี่จับปูม้ากับกั้งขาวได้เยอะ โดยเฉพาะกั้งขาวที่มีมากตลอดปี ขายกิโลกรัมละ 300 บาท ส่วนคนที่มาเที่ยวโปรแกรมตันหยงโปจะได้กินซีฟู้ดแบบจัดเต็มเป็นอาหารกลางวัน”
ในขณะที่เรือเทียบท่า กลิ่นปลาทอดก็ลอยมากระตุ้นน้ำย่อยทันที และกลุ่มแม่บ้านก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะตอนไปถึงศาลากินข้าวที่ตันหยงบุรี รีสอร์ท อาหารก็เตรียมพร้อมอยู่แล้ว ทั้งปูม้านึ่ง ปลาทอดน้ำปลา กุ้งเผา กั้งผัดพริกไทยดำ แกงส้ม หมึกย่าง ข้าวผัดปู และหอยกาบงนึ่ง เป็นอาหารสำรับใหญ่สมกับที่บังเดวิดเตือนตั้งแต่ต้นว่า “จุกแน่นอน”
ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตันหยงโปมีเรือประมง 10 กว่าลำ หมุนเวียนเป็นคิวรองรับนักท่องเที่ยว โดยไม่มีฤดูกาลท่องเที่ยวเพราะเที่ยวได้ตลอดปี และคลื่นลมไม่แรงเพราะมีเกาะตะรุเตาและเกาะลังกาวีบังคลื่นลมไว้
คิดค่าใช้จ่ายคนละ 990 บาท รวมอาหารว่างและอาหารกลางวัน เรือรองรับได้ลำละไม่เกิน 12 คน และไม่มีขั้นต่ำ มา 2 คนก็ออกเรือ ส่วนเมนูอาหารกลางวันยังคงเดิมแต่ลดปริมาณลงให้เหมาะสมกับจำนวนลูกค้า
รวมถึงหากต้องการพักค้างแรมบนฝั่ง ตันหยงบุรี รีสอร์ท เป็นรีสอร์ทเล็กๆ ของชาวบ้านให้บริการคืนละ 800 บาท ตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือ และก่อนกลับอย่าลืมซื้อกะปิกลับไปลองชิม รับรองว่าทำจากเคยแท้จากแหล่งบากันเคย
สนใจติดต่อชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ตันหยงโป โทร. 074-722-077