สามเหลี่ยมทองคำ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จะจัดงานมหกรรมเมืองพิพิธภัณฑ์เมืองเชียงแสน ปาเจียงแสนปิ๊กบ้าน
โดย...ส.ส.ต
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จะจัดงานมหกรรมเมืองพิพิธภัณฑ์เมืองเชียงแสน ปาเจียงแสนปิ๊กบ้าน เพื่อเปิดพื้นที่เผยแพร่ความรู้ของชาวเชียงแสนโดยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและผู้คนในชุมชน ให้สาธารณชนและสื่อมวลชนได้เห็นการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ศมส. วันที่ 7-9 ก.พ. 2562 ณ วัดเจดีย์หลวง ต.เวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงรายจุดเด่นๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมากในอดีต คือความเป็นมาของฝิ่นและสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ 2 แห่งคือ พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น และหอฝิ่นอุทยานสามเหลี่ยมทองคำ
พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น และหอฝิ่นอุทยานสามเหลี่ยมทองคำ
สามเหลี่ยมทองคำเป็นดินแดนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้าฝิ่นในอดีต แม้ว่าปัจจุบันภาพลักษณ์นี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วแต่ประวัติและความสำคัญของฝิ่นก็ยังเป็นสิ่งที่เตือนใจแก่คนรุ่นหลังเสมอมา ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ใน อ.เชียงแสน 2 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นและหอฝิ่นอุทยานสามเหลี่ยมทองคำ แบ่งหัวข้อเรื่องออกเป็น 2 หัวข้อ
พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น (Opium House Museum)
“บ้านฝิ่น” เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนตั้งอยู่ที่สามเหลี่ยมทองคำ เลขที่ 212 หมู่ 1 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย 57150 เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 โดยจัดแสดงเรื่องราวและเครื่องมือ เครื่องใช้เกี่ยวกับฝิ่นประกอบด้วยประวัติความเป็นมาของพืชฝิ่น ตั้งแต่อดีตเช่นถิ่นกำเนิดของฝิ่นจากแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้วเข้ามาสู่อินเดีย อังกฤษซึ่งปกครองอินเดียและทำการค้าขายกับจีนและเสียดุลการค้ามหาศาลเพราะต้องการซื้อผ้าไหม ใบชา เครื่องเทศ ฯลฯ จากจีน จึงบีบบังคับให้จีนยอมรับการซื้อขายฝิ่นอย่างเสรี (โดยอังกฤษได้เอาฝิ่นจากอินเดียมาขายให้จีน) เมื่อจีนไม่ยอม จึงเกิดการสู้รบกันเป็นสงครามฝิ่นถึง 2 ครั้ง ชาวเขาหลายเผ่าที่อาศัยอยู่ทางใต้ของจีนหนีภัยสงครามลงมาสู่อินโดจีนและแถบชายแดนไทย ลาว พม่าพร้อมกับนำเมล็ดฝิ่นติดตัวมาด้วย ฝิ่นจึงได้เข้าสู่สามเหลี่ยมทองคำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ตำนานฝิ่น
ส่วนตำนานฝิ่น ฟังแล้วอัศจรรย์ คือเล่าว่า ต้นฝิ่นงอกออกมาจากหลุมฝังศพของผู้หญิง บางเผ่าก็เป็นหลุมฝังศพของหญิงสาว บางเผ่าก็เป็นหญิงชรา และมีกลิ่นเหม็นดังเช่นตำนานกำเนิดยาสูบและฝิ่นของชนชาติลัวะ ซึ่งเล่ากัน ว่า “แต่ก่อนนานมาแล้ว มีแม่เฒ่าคนหนึ่ง อายุยืนมาก ต่อมาแกตายลงโดยไม่ได้เป็นโรคอะไร ก่อนตายแม่เฒ่าสั่งว่า ให้เอาศพของแกไปฝังไว้ที่สี่แยกชุมทางที่คนผ่านไปผ่านมาบ่อยๆ จากนั้นปรากฏว่ามีต้นยาสูบ 2 ต้น และต้นฝิ่นอีก 1 ต้น โผล่ขึ้นมาบนหลุมฝังศพ ต้นยาสูบขึ้นตรงกับนม ต้นฝิ่นขึ้นตรงอวัยวะเพศของแม่เฒ่า ชาวบ้านผ่านไปมาเห็นต้นไม้แปลกประหลาดก็ลองไปชิมดู ชาวบ้านชอบยาสูบมากกว่ายาฝิ่น ต่อมาจึงมีคนเอายาสูบไปปลูก และสูบกันมากกว่าต้นยาฝิ่น เนื่องจากต้นยาสูบเกิดจากนม ดังนั้นเด็กๆ เมื่อหย่านมก็เลยดูดยาสูบแทน”
นิทรรศการเครื่องมือ เครื่องใช้เกี่ยวกับฝิ่นเช่น มีดกรีดฝิ่น เกรียงปาดฝิ่น กระทะ เคี่ยวฝิ่น ตลับเก็บฝิ่นตา ชั่งฝิ่น ลูกเป้ง (ตุ้มน้ำหนักที่ใช้กับตาชั่ง) กล้องสูบฝิ่นแบบต่างๆ ตะเกียงสูบฝิ่น เสื่อไม้ไผ่สำหรับนอนสูบฝิ่น และหมอนนอนสูบฝิ่น เป็นต้น นอกจากนั้น พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นยังมีการจัดแสดงประกอบเป็นนิทรรศการหมุนเวียน เช่น เรื่อง มูยา (กล้องสูบยาเส้น) ไปป์น้ำ กะเหรี่ยงคอยาว และเรื่องปลาบึก อีกด้วย
หอฝิ่น
1.ความเป็นมา
ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ จุดที่ประเทศไทย ลาว และพม่า มาบรรจบกัน เป็นที่ที่แม่น้ำรวกไหลมารวมกันกับแม่น้ำโขง และยังหมายถึงพื้นที่กว้างครอบคลุมบริเวณถึงสามประเทศ ในพื้นที่นี้เองมีการปลูกฝิ่น ผลิตเฮโรอีนและลักลอบนำออกไปขาย เมื่อได้ยินคำว่า “สามเหลี่ยมทองคำ” คนส่วนมากมักจะนึกถึงดอกฝิ่น ชาวไทยภูเขา เทือกเขาที่ปกคลุมไปด้วยเมฆหมอก แม่น้ำโขง หรือภาพของภาพป่าเบญจพรรณ แต่ภาพที่ผู้คนนึกถึงมากที่สุดคงจะเป็นภาพของฝิ่นและเฮโรอีน ภาพความลึกลับ น่าสะพรึงกลัวของการปลูกและการลักลอบค้าฝิ่น ภาพสงครามกลางเมือง กองทหารการสู้รบของพวกลักลอบการค้าฝิ่น ชาวบ้านยากจน การกวาดล้างโรงงานผลิตเฮโรอีนคาราวานขนฝิ่นไปตามเส้นทางในป่า
“สามเหลี่ยมทองคำ” คือ แหล่งที่มาของเฮโรอีนกว่าครึ่งของจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมดในโลก สามเหลี่ยมทองคำ คือรากเหง้าของอาชญากรรมและการกระทำอันทุจริตที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย แพร่ไปสู่แอฟริกา ยุโรป และอเมริกา ทุกๆ ปีจะมีนักท่องเที่ยวนับแสนคน เดินทางมาที่นี่เพียงเพราะชื่อสามเหลี่ยมทองคำ