เรื่องเล่าจากโรงเรียนอินเตอร์ฯ เรียน...เล่น ดูโลกเป็น ไม่เน้นเวอร์
ใครๆ ก็ว่าพวกที่ส่งลูกเรียน(โรงเรียน)อินเตอร์ฯ เป็นพวกเวอร์ซะ ด้วยเหตุที่ว่าค่าเล่าเรียนนั้น
ใครๆ ก็ว่าพวกที่ส่งลูกเรียน(โรงเรียน)อินเตอร์ฯ เป็นพวกเวอร์ซะ ด้วยเหตุที่ว่าค่าเล่าเรียนนั้น
เรื่อง เม่งจู
ใครๆ ก็ว่าพวกที่ส่งลูกเรียน(โรงเรียน)อินเตอร์ฯ เป็นพวกเวอร์ซะ ด้วยเหตุที่ว่าค่าเล่าเรียนนั้น ต้องเป็นระดับยาใจคนรวยเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ ส่วนยาใจคนจนเลิกพูด อย่าหวังซะให้ยาก อะไรหนอที่ทำให้เดี๋ยวนี้บรรดาลูกท่านหลานท่าน เฮโลมาเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ กันเป็นว่าเล่น จะเป็นเพราะเทรนด์ หรือเป็นเพราะเวอร์ ต้องไปเกาะรั้วโรงเรียนสัมภาษณ์ซะแร้วววว...
คริสตี้คริสติน่า เศรษฐบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เศรษฐบุตร คอมเมอร์เชียล นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ดูแลเมอร์เซเดสเบนซ์ คลับ ประเทศไทย คุณแม่ของลูกๆ น้องไท และน้องทีน่า เศรษฐบุตร น้องไทตอนนี้อายุ 5 ขวบ เรียนอยู่โรงเรียนบางกอกพัฒนา ส่วนน้องทีน่าเพิ่ง 2 ขวบ เรียนอยู่โรงเรียน Mulberry House International PreSchool
คุณแม่ลูกครึ่งคนสวย เล่าว่า จำเป็นต้องส่งลูกเรียนหลักสูตรนานาชาติ ก็เพราะกลัวว่าจะไม่สามารถสอนการบ้านลูกได้ “เห็นการบ้านที่เด็กไทยต้องทำทุกวันๆ แล้ว คริสรู้ตัวว่าคริสคงช่วยลูกไม่ได้เลย” อีกอย่างคือทัศนคติด้านการศึกษา เด็กไทยเรียนหนักไปไหม ในความเห็นของคริสตี้แล้ว มันหนักมาก
สามี สยาม เศรษฐบุตร ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกกล๊าส และอุปนายกสมาคมรถคลาสสิคแห่งประเทศไทย เป็นเด็กไทยที่เรียนโรงเรียนไทย โตขึ้นมาก็เข้ามหาวิทยาลัยไทย อยากให้ลูกเรียนภาษาไทย ก่อนจะส่งลูกเรียนอินเตอร์ฯ ก็เลยต้องคุยกันหน่อย “วัยเด็กมันสั้นนิดเดียวนะ ถ้าต้องคร่ำเคร่งเรียนอย่างเดียว ลูกของเราจะไม่ได้เป็นเด็กเลย” คริสตี้ว่าวรรคทองที่ทำให้สามีเคลิ้ม...เอ๊ย...คล้อยตาม
โชคดีที่สามีก็เห็นด้วย วัยเด็กควรที่เด็กจะได้เป็นเด็ก ไม่ใช่เกิดมาปุ๊บก็อายุ 20 ปั๊บ หมกมุ่นครุ่นคิดแต่จะทำข้อสอบ ส่วนค่าเล่าเรียนที่สูงปรี๊ด คริสตี้บอกว่า อยากให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุด ถ้ามันจำเป็นต้องแพงที่สุดก็ช่วยไม่ได้ เราอาจโชคดีกว่าหลายคนที่เราจ่ายไหว คนเล็กเรียนพรีสกูล อาทิตย์ละ 3 วัน เทอมละ 4 หมื่นบาท ส่วนคนโตเทอมละ 1.3 แสน มองในมุมหนึ่ง ค่าเทอมอันแพงระยับนี้ ช่วยคัดเด็กที่เข้ามาเรียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเด็กในทางหนึ่ง
ลูกศรธนาภรณ์ รัตนเสน ผู้อำนวยการ บริษัท พับบลิค วิชั่น ลูกทั้ง 4 คน เรียนโรงเรียนนานาชาติ ได้แก่ น้องแฟร์รี่ กัลญากร น้องเฟมี่ รัชกร น้องเฟย์ อาภากร และน้องโฟร์ทภาสกร จิตต์จารึก ทั้งหมดเรียนที่ New International School of Thailand (NIST) และ Ruamrudee Learning Center (RC)
ส่งลูกทุกคนเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ “เพราะทำใจไม่ได้ค่ะ นี่คือทางเลือกสุดท้ายจริงๆ” ธนาภรณ์ เล่า
ความที่คุณแม่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง ช่วงเรียนปริญญาโทด้านบริหารจัดการที่บอสตัน (Boston University) จึงเป็นช่วงที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เพราะทุกครั้งที่โปรเฟสเซอร์ชี้ให้พูด ต้องจำใจลุกขึ้นพูดอย่างตะกุกตะกักประดักประเดิด จบมาได้ตั้งปณิธานตั้งแต่ยังไม่ท้อง ถ้ามีลูก ลูกต้องไม่เป็นแบบเราเด็ดขาด อยากให้ลูกเก่งภาษาแต่เอาเข้าจริง คุณแม่ก็ตัดใจส่งลูกไปเรียนไกลถึงต่างประเทศไม่ได้
“ไม่อยากส่งลูกเรียนต่างประเทศ เพราะทำใจให้ลูกไปอยู่ไกลตัวไม่ได้จริงๆ เพราะฉะนั้นก็เลือกโรงเรียนอินเตอร์ฯ ซึ่งเราดูแลได้ใกล้ชิด ลูกได้ทั้งภาษา และได้ทั้งความอบอุ่น”
เดี๋ยวนี้โรงเรียนอินเตอร์ฯ กลายเป็นเทรนด์ไปแล้ว การเลือกจึงต้องพิจารณาให้ดี เพราะมีทั้งแบบที่จำกัดเด็กไทย (หรือเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก) และแบบไม่จำกัด ส่งผลต่อทักษะการใช้ภาษาที่จะต่างกัน แต่สำคัญที่สุดในความคิดของคุณแม่แล้ว คือความพร้อมของครู และการเข้าถึงตัวเด็กแต่ละคน
“ระบบการเรียนของโรงเรียนไทยไม่ใช่ไม่ดี แต่มันมีจุดอ่อนจุดแข็ง จริงๆ อยู่ที่ว่าเราให้ความสำคัญกับอะไร” คุณแม่ลูกศรบอกว่า ไม่ได้อยากให้ลูกเรียนอินเตอร์ตลอดหลักสูตร เพราะในเมืองไทย คอนเนกชันสำคัญ อยากให้ลูกได้ทั้งภาษาและได้ทั้งเพื่อน
สำหรับค่าใช้จ่าย ยังไงก็คุ้มกว่าส่งเรียนต่างประเทศ โรงเรียนอินเตอร์ฯ ในประเทศค่าเทอมเทอมละ 5.6 แสนบาท เคยกดเครื่องคิดเลขเล่นๆ ลูก 4 คน หลักสูตร 13 ปี รวมแล้วต้องใช้เงินคนละ 6.5 ล้านบาท เบ็ดเสร็จลูก 4 คน เตรียมหาเงินไว้เลย 26 ล้านบาท อย่าลืมว่าเงินจำนวนนี้ต้องปรับขึ้นปีละ 8% ด้วย (ค่าเทอมขึ้นปีละ 8%)
“ถึงจะแพงแต่คุ้ม เมื่อคิดว่าแลกกับความสุขทางใจที่ได้อยู่ใกล้ลูก เวลาย้อนกลับมาไม่ได้ คุยกับสามีว่าไม่อยากกลับมานั่งเสียดาย” ลูกศร เล่า
น้องแคทเซฟฟานี่ อาวะนิค มิสทีนไทยแลนด์ปี 2009 ปัจจุบันอยู่เกรด 11 The Regent's School เล่าว่า เลือกเรียนอินเตอร์ฯ เพราะอยากเก่งภาษา แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเพื่อนๆ อีกหลายประเทศ อยู่โรงเรียนอินเตอร์ฯ สนุกนะ จากประสบการณ์ของตัวเองไม่ได้ปรับตัวอะไรมาก ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ การสอนเน้นให้รู้จักตัวเอง
“กิจกรรมทำให้เรารู้จักตัวเอง กีฬาช่วยให้แข็งแรง ส่วนกิจกรรมพัฒนาสังคม ก็ช่วยให้เรามีระบบความคิดที่แบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งมันดีมากๆ ค่ะ” น้องแคท เล่า
อุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติของเอเชีย โดยชื่อเสียงของกลุ่มโรงเรียนนานาชาติเป็นที่ยอมรับทั่วโลก แต่ละปีจะมีการประเมินมาตรฐานจากองค์กรประเมินมาตรฐานต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมาตรฐานการศึกษาของหลักสูตรนานาชาติในไทยเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย
ค่าเล่าเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ โดยเฉลี่ย อยู่ที่ 6 แสนบาทต่อคนต่อปี เปรียบเทียบกับค่าเล่าเรียนในต่างประเทศแล้ว ยังถูกกว่าเยอะ เช่น สหรัฐอเมริกา 2 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี อังกฤษ 3.8 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี (ไม่นับค่ากินอยู่)
ภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานสำคัญ ยิ่งกว่านั้นคือการคิดที่เป็นระบบ ที่จะทำให้ผู้เรียนไปอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก สำหรับหลักสูตรโรงเรียนนานาชาติ เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เด็กต้องเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ เรียนรู้อย่างท้าทาย
“ในฐานะครู ดิฉันอยากเห็นเด็กมีแพสชัน มีความกระหายใคร่รู้ มีความกระตือรือร้นที่อยากจะรู้ Hungry Brain หรือการเรียนการสอนที่เด็กเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง” อุษา กล่าว วิธีเรียนสำคัญที่สุด รีเฟลกทีฟเลินเนอร์ที่จะทำให้เด็กได้ทบทวนความรู้ มีทักษะและมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง อธิบายได้ มีความคิดรวบยอด
1921 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีงาน Thailand International Education Expo 2010 (TIEE 2010) รวบรวมบูธของโรงเรียนนานาชาติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 230 บูธ ใครสนใจก็เตรียมเงิน...เอ๊ย...เตรียมตัว www.thaitradefair.com หรือ www.depthai.go.th