ปณต คุณประเสริฐ ชีวิตกับกีตาร์
กีตาร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ
เรื่อง มัลลิกา นามสง่า ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี
กีตาร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ที่เด็กชายปณต คุณประเสริฐ ได้ดีดกีตาร์ครั้งแรก เสียงนั้นได้พาเขาค่อยๆ เดินทาง จนวันนี้ ปณต คุณประเสริฐ เป็นนักแต่งเพลงและมือกีตาร์วงเก็ตสึโนวา
ไลฟ์สไตล์ของปณตจึงอยู่ในห้องซ้อม ร้านขายอุปกรณ์ดนตรี และท่องอยู่ในโลกดนตรี ถึงแม้จะศึกษาสำเร็จจาก Languages, Culture and Linguistic ที่ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมีธุรกิจครอบครัวให้สานต่อแต่เขาก็เลือกเป็นนักแต่งเพลงนักดนตรี
“ตอนเด็กไปบ้านญาติเห็นพี่ๆ เขาเล่นกีตาร์ก็รู้สึกชอบ แล้วมีโอกาสได้จับคอร์ด ตีคอร์ดเสียงไม่บอด พี่เขาก็ตกใจไปเล่าให้คุณพ่อฟัง คุณพ่อก็พาไปเรียนกีตาร์ที่ใต้ถุนตึกที่คุณพ่อสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้พี่เบิ้ล (ธีรยุทธ) สินเจริญ บราเธอร์ส สอนทุกเช้าก่อนเข้าโรงเรียนครึ่งชั่วโมง สอนสนุก ไม่ได้เน้นทฤษฎี พอ 2 ปีต่อมา ไปเรียนกีตาร์คลาสสิกตามสถาบัน รู้สึกเครียดไปหน่อย ก็เกือบเบนความสนใจแล้ว แต่เริ่มกลับมาชอบอีกครั้งตอนอายุ 12 บ้าซ้อมกีตาร์ เล่นทั้งวันทั้งคืน เปิดตู้แอมป์
มีอาจารย์มาสอนที่บ้านอาทิตย์ละ 3 วัน กีตาร์โปร่ง คลาสสิก ไฟฟ้า เล่นหมด พอย้ายไปอยู่อังกฤษ เริ่มได้เรียนทางด้านทฤษฎีดนตรี มีเปียโนเข้ามาเสริม
ตอนนั้นคิดว่าจบมาอยากเล่นดนตรี อยากอยู่กับมัน ไม่ได้คิดว่าจะเป็นอาชีพ เพราะมองว่าต้องไปช่วยธุรกิจที่บ้าน ตอนเรียนก็เรียนบริหาร
สรุปเคยไปช่วยแป๊บเดียว ตอนนั้นก็รวมวงกับเพื่อนๆ เก็ตสึโนวาแล้ว เป็นจังหวะที่เพลง ไกลแค่ไหนคือใกล้ ดังพอดี รอดตาย (หัวเราะ) เลยได้ข้ออ้างออกมาทำงานตรงนี้ก่อน
จริงๆ ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องประดับเพชร มันไม่ใช่แนวทางเราเลย เพลงดังเห็นทางออกเลย รอดแล้วทุกวันนี้ไม่ต้องกลับไปแล้ว คุณแม่ก็ไม่ได้หวังกับเราแล้ว”
ความทรงจำกับกีตาร์
ปณตมีกีตาร์หลายตัว ทั้งเอาไว้แต่งเพลง เอาไว้ซ้อม โชว์บนเวทีคอนเสิร์ต แต่ละตัวล้วนมีที่มาที่ไปและความทรงจำที่ไม่เคยลืม
“กีตาร์ตัวแรกมีสติ๊กเกอร์ติดเยอะ ดูวัยรุ่นที่สุด บางตัวซื้อมาก็ไม่อยู่แล้ว แต่ตัวแรกยังอยู่ และเป็นตัวหลักที่ใช้ในการเขียนเพลงทุกเพลง ซื้อปี 1997 ที่อังกฤษตอนไปเรียนซัมเมอร์ ราคา 5 หมื่นกว่าบาท ตอนนั้นพี่คนที่สอนผมเชียร์คุณพ่อให้ซื้อ มันดีแบบโปรเฟสชั่นแนล ใช้ของดีตั้งแต่เด็ก
ตัวนี้ยังเป็นตัวหลัก เราคุ้นเคยกับคอมัน ท่านั่งของเรากับส่วนโค้งของมัน มันดูคลาสสิก ทำให้เวลาจะซื้อกีตาร์ตัวนี้เป็นทรงต้นแบบ ก็มีกีตาร์ประมาณ 30 ตัว ราคาตั้งแต่หมื่นต้นๆ จนถึงแสนกว่าบาท
คัสตอมช็อป ตัวนี้ช่างเก่งๆ ทำ ราคาอยู่ที่ 1.6 แสนบาท เป็นของหายาก อันนี้ซื้อมา 4 ปีที่แล้ว ช่วงหลังๆ ที่ออกทัวร์จริงจัง ก็ซื้อตัวที่ราคาแพงขึ้น มีช่วงที่ฮิตของหรูหราออกไปโชว์
กีตาร์ตัวสีน้ำตาล ให้เสียงดี ตัวนี้ไว้ใช้ในห้องอัด กีตาร์แต่ละตัวจะมีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนกัน บางตัวให้เสียงพุ่ง บางตัวให้เสียงใส เสียงหนักแน่น ก็เลือกมาใช้งานคนละฟังก์ชั่น แต่งเพลง เล่นในห้องอัดเสียง ทำมาสเตอร์ เล่นคอนเสิร์ต บางตัวราคาไม่แพงแต่โชว์แล้วสวย เป็นโปร่งแสงเปิดไฟเปลี่ยนสี เล่นบนเวทีแล้วสนุก มีเรื่องลุคเข้ามาเกี่ยวด้วย
เวลาทัวร์คอนเสิร์ต จะนำไปประมาณ 3 ตัว เสียงดี สวยมีลูกเล่นให้สนุก จูนเสียงนิ่ง แล้วในโชว์จะเปลี่ยนเล่นครบทั้ง 3 ตัว มีกีตาร์เอนเตอร์เทน ตัวใสเปิดไฟได้ แฟนเพลงค่อนข้างจำกันได้ ตัวแพงสุดก็เอาไปเล่นเพลงเร็วที่ดนตรีหนักๆ เสียงพุ่งๆ ดุๆ เพลงช้าเสียงใสๆ ก็เปลี่ยนอีกตัว”
ต่อให้ราคากีตาร์แพงแค่ไหน รักกีตาร์มากขนาดไหนก็ตาม หากกีตาร์จะเป็นรอยก็ไม่เศร้า เพราะมันคือประสบการณ์
“ส่วนใหญ่ช่วง 1 ปีก็จะเปลี่ยนรุ่น ซื้อใหม่เพราะบางตัวอยู่มานานมาก บางตัวสภาพไม่ไหว ออกงานช่วงสงกรานต์โดนน้ำ ตากแดก ตากลม ขนขึ้นรถคอกีตาร์กระแทก เราต้องมาปรับเรื่อยๆ ก็ต้องซื้อมาแทนกัน ตัวไหนไม่ไหวก็เก็บไว้ แล้วก็หาให้ได้ใกล้เคียงที่สุด
กีตาร์เป็นรอยจากการใช้งานจริง เป็นบาดแผลของนักรบ ผมไม่ได้ซื้อมาเก็บไว้ในกล่องอย่างเดียวหรือตั้งโชว์ ผมรู้สึกว่ากีตาร์เป็นรอยเหมือนมันมีเรื่องราวกับเราที่ต้องแชร์กัน เคยมีทีมงานทำกีตาร์ตกเป็นรอย ผมก็แค่ถามเสียงเหมือนเดิมใช่ไหม
การเก็บรักษาตัวไหนที่ใช้ทัวร์บ่อยๆ จะมีทีมงานช่วยเช็กสาย เช็ดคราบเหงื่อ มีช่างกีตาร์มาดูแลให้ แล้วมีกีตาร์วินเทจ 2 ตัว ที่ชอบจริงๆ เป็นวินเทจยุค 80 70 ประมูลจากอังกฤษ ราคาแสนกว่าบาท อันนี้เก็บในกล่อง เป็น 2 ตัวที่ไม่ได้ใช้งาน เสียงไม่ค่อยดี (หัวเราะ) ผมชอบทรง ของแพงไม่ได้ดีเสมอไป ตัวราคา 5-6 หมื่น ใช้งานคุ้มสุดเลย”
เสียงกีตาร์คือเสียงของปณต
กีตาร์สำหรับใช้เขียนเพลงจะวางประจำที่ห้องทำงาน “มี 4-5 ตัว ที่ใช้เป็นหลักๆ วนๆ กันไป เปรียบกีตาร์เป็นกระบอกเสียงของผม เป็นปากอีกปากของผม
ผมเขียนเพลงก็จริง แต่ผมไม่ได้เป็นนักร้อง เวลาเราไกด์เมโลดี้ ไม่มีความมั่นใจร้องให้เขาฟัง เราเล่นกีตาร์แล้วฮึมฮัมให้เขาฟังได้แล้วให้เขาร้องตาม เสียงกีตาร์เป็นกระบอกเสียงของเราที่เรามั่นใจกว่าปากของเราด้วยซ้ำไป
ไม่คิดว่าจะมีกีตาร์เยอะขนาดนี้ ตอนเด็กคิดว่าจะเป็นมือกีตาร์ แต่ตอนนี้ผมอยากเรียกตัวเองเป็นนักแต่งเพลงมากกว่า สกิลกีตาร์ผมไม่ได้พัฒนาไปเรื่อยๆ ไประดับเทพ เราเล่นเพื่ออัดเสียงในเพลงของเรา เล่นเพื่อโชว์
อยากเป็นนักแต่งเพลง เล่นกีตาร์เพื่อเอามาแต่งเพลงของวง เสน่ห์ของกีตาร์มันคือส่วนประกอบของเพลง ตอนนี้ผมรู้สึกว่ามือกีตาร์ยิ่งแต่งเพลงใส่เสียงกีตาร์น้อยเท่าไหร่เพลงนั้นเรายิ่งแต่งออกมาดี
ขนาดสิ่งที่เรามั่นใจที่สุดแทบไม่มีอยู่ในนั้น เช่น เพลงความเงียบที่ดังที่สุด เพลงดวงจันทร์กลางวัน ก็เสียงกีตาร์น้อย ตอนโชว์ไส่ไลน์เพิ่มไป แต่ตอนอัดเสียงกีตาร์น้อย ได้มิติเพลงใหม่ๆ โชว์ร้องกับกีตาร์โปร่งก็เพราะ”
ในการแต่งเพลง เอกลักษณ์ของปณตคือการเล่นคำที่ตรงข้ามกัน “ทุกวันนี้ยังต้องหาเรื่องราวกับคำใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเล่า หาจากการอ่านหนังสือ ดูหนัง ดูงานศิลปะ เปิดมุมมอง
ก็ยังเล่าถึงความรักแต่หาวิธีเล่าใหม่ๆ เพราะสุดท้ายคนฟังก็อยากฟังเพลงคิดถึงเธอจัง รักเธอได้ไง โดนทิ้ง แต่วิธีเล่าจะน่าสนใจแค่ไหน อย่างของผมเอาเรื่องขัดแย้งมาเล่าในเรื่องเดิมๆ อกหักรักคุด หาคำแปลกๆ มา มีกิมมิกของมัน”