สองล้อริมกว๊าน ชมอาทิตย์อัสดง

02 มีนาคม 2562

หนึ่งในเส้นทางฝันของนักปั่นสายชิลต้องมี “กว๊านพะเยา”

หนึ่งในเส้นทางฝันของนักปั่นสายชิลต้องมี “กว๊านพะเยา” อยู่ในนั้น กับเส้นทางปั่นรอบกว๊านระยะทาง 26 กม. ชมทิวทัศน์บึงน้ำ วิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน แลดูพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าหลังยอดดอย

เดิมกว๊านพะเยาเป็นพื้นที่ราบลุ่ม แต่หลังจากมีการสร้างประตูกั้นแม่น้ำอิงเมื่อเกือบ 80 ปีก่อน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่รับน้ำท่วมวัดและบ้านเรือนจนกลายเป็นเมืองบาดาล จนเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ที่สุดทางภาคเหนือตอนบน และเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวพะเยา

หลังจากนั้นในปี 2526 ชาวบ้านชุมชนวัดศรีอุโมงค์คำได้ขุดพบพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัยองค์ใหญ่ หรือ “หลวงพ่อศิลา” ทำให้ทราบว่าบริเวณนั้นเคยเป็นวัด และได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีอุโมงค์คำ

ทั้งยังพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นศิลาจารึกเขียนด้วยอักษรฝักขามว่า “วัดติโลกอาราม” มีประวัติความเป็นมาว่า เป็นวัดที่พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาโปรดให้พระยายุธิษฐิระเจ้าเมืองพะเยา สร้างขึ้นในปี 2019-2029 จวบจนปัจจุบันวัดแห่งนี้มีอายุมากกว่า 500 ปี

เมื่อมีการขุดพบหลวงพ่อศิลาทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาในสมัยนั้น พร้อมด้วยคณะสงฆ์ หน่วยงานราชการ และพุทธศาสนิกชน ดำเนินการกู้วัดติโลกอาราม โดยทำเป็นเนินดินกลางกว๊านและอัญเชิญหลวงพ่อศิลากลับไปประดิษฐาน ณ ที่เดิม ทั้งยังก่อให้เกิดเป็นประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำรอบวัดเพื่อสักการบูชาหลวงพ่อศิลาในวันพระใหญ่ปีละ 3 ครั้ง ได้แก่ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา

สองล้อริมกว๊าน ชมอาทิตย์อัสดง

เริ่มมีการเวียนเทียนครั้งแรกในปี 2551 และทำต่อเนื่องกันมาเป็นประเพณีประจำจังหวัดเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของชุมชนรอบกว๊านพะเยา เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของพะเยา

อย่างในวันมาฆบูชาที่ผ่านมา จ.พะเยา ได้จัดงานเวียนเทียนทางน้ำกลางกว๊านพะเยา ครั้งที่ 35 โดยมีพ่อเมือง ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.พะเยา คนปัจจุบัน นั่งหัวเรือนำเวียนเทียน ท่ามกลางบรรยากาศแสงสีทองอาบไปทั้งท้องน้ำยิ่งดูมีมนต์ขลัง

ในขณะที่กลางน้ำกำลังทำพิธีทางศาสนา เลนจักรยานริมกว๊านก็กำลังคึกคักไปด้วยนักปั่น โดยระหว่างทางจะมีจุดแลนด์มาร์คให้หยุดแชะภาพ เป็นรูปปั้นพญานาค 2 ตนหันหน้าเข้าหากัน และมีองค์พระธาตุจอมทองตั้งอยู่ตรงกลาง สร้างขึ้นจากตำนานพญานาคแห่งกว๊านพะเยา ตามความเชื่อว่าบึงน้ำแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพญานาคพญาธุมะสิกขี

ส่วนด้านบนฝั่งระนาบเดียวกับรูปปั้นพญานาคเป็นที่ตั้งของ “อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง” กษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งเมืองภูกามยาว (เมืองพะเยาโบราณ) ที่ปกครองดินแดนแห่งนี้จนรุ่งเรือง

นอกจากนักปั่นที่พาสองล้อออกมาชมอาทิตย์อัสดง ชาวพะเยาเองก็ต่างเดินทางมาพักผ่อนรับลมเย็นๆ ริมกว๊าน บ้างปูผ้านั่งปิกนิก บ้างนั่งตกปลา บ้างเดินออกกำลังกาย บ้างพาลูกหลานมาวิ่งเล่น บ้างจูงมือคู่รักมาถ่ายรูป กลายเป็นภาพคึกคักแต่น่ารักตามวิถีชีวิตของชาวพะเยาที่อยู่คู่กับสายน้ำ

สองล้อริมกว๊าน ชมอาทิตย์อัสดง

เลนจักรยานรอบกว๊านพะเยาถูกทาสีฟ้าเด่นชัด ซึ่งนอกจากเลนจักรยานแล้ว ตามถนนหนทางในชุมชนริมกว๊านก็สามารถปั่นจักรยานได้ค่อนข้างปลอดภัย เพื่อไปชมสถานที่สำคัญในตัวเมืองพะเยาอย่าง “วัดศรีอุโมงค์คำ” วัดที่นอกจากจะเป็นสถานที่เก็บรักษาหลวงพ่อศิลานานถึง 24 ปี ภายในวัดยังมีพระประธานที่ ถวัลย์ ดัชนี เคยกล่าวยกย่องไว้ว่า เป็นพระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในล้านนา

และทางวัดยังได้ทำทางเดินลอดต๋าแหลวสูงกว่า 1 เมตร ระหว่างทางเดินไปไหว้พระเจ้าทันใจ ซึ่งต๋าแหลวเป็นความเชื่อของชาวเหนือ ทำจากไม้ไผ่สานเป็นรูป 8 เหลี่ยม เชื่อว่าสามารถป้องกันสิ่งชั่วร้าย และขจัดสิ่งอัปมงคลออกจากตัว

อีกวัดที่สำคัญต้องปั่นไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ “วัดศรีโคมคำ” หรือที่ชาวพะเยาเรียกกันว่า วัดพระเจ้าตนหลวง เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนองค์ใหญ่ที่สุดในล้านนา มีขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 18 เมตร อายุ 495 ปี

องค์พระเจ้าตนหลวงนั้นไม่เป็นเพียงพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพะเยา แต่ยังเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของอาณาจักรล้านนา โดยในวันวิสาขบูชาของทุกปีจะมีงานประเพณีนมัสการพระเจ้าตนหลวงเดือนแปดเป็ง มีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาสักการะจำนวนมาก

บริเวณเดียวกันกับวัดยังมีโบสถ์กลางน้ำ ภายในมีงานจิตรกรรมฝาผนังที่วาดขึ้นโดย อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้ได้วิจิตรสวยงาม และยังมีหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ภายในจัดแสดงวัตถุล้ำค่าทั้งพระพุทธรูปเก่าแก่ ศิลาจารึก เครื่องปั้นดินเผา ฟอสซิลไดโนเสาร์ ฟอสซิลช้างสี่งา และฟอสซิลปูคู่รัก

สองล้อริมกว๊าน ชมอาทิตย์อัสดง

นอกจากนี้ ไม่ไกลจากวัดศรีโคมคำเป็นที่ตั้งของ “วัดพระธาตุจอมทอง” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพะเยา ที่โดดเด่นด้วยองค์พระธาตุสีทองสุกใส และภายในวัดยังมีพระเจ้าทันใจให้กราบขอพรอีกด้วย

ถัดไปในเช้าวันใหม่ช่วงเวลา 7 โมงเช้าของทุกวัน จะมีกิจกรรมตักบาตรข้าวเหนียวริมกว๊านบริเวณศาลาท่าน้ำ โดยจะมีชาวบ้านมาขายกับข้าวและข้าวเหนียว พร้อมปูเสื่อให้นั่งรอใส่บาตร นักท่องเที่ยวสามารถอุดหนุนและทำบุญตักบาตรได้โดยไม่ต้องติดต่อล่วงหน้า

หลังจากนั้นศาลาท่าน้ำดังกล่าวยังเป็นจุดลงเรือไปยังวัดติโลกอาราม ซื้อตั๋วลงเรือไป-กลับคนละ 30 บาท โดยสารเรือประมาณ 30 นาทีก็ถึงวัด ขึ้นไปสักการะหลวงพ่อศิลาที่ตั้งอยู่กลางเนินดิน ซึ่งวัดแห่งนี้ไม่มีหลังคา ไม่มีผนัง เป็นเพียงเนินดินกลางบึงน้ำขนาดไม่ยิ่งใหญ่ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธาอันใหญ่ยิ่งของชาวพะเยา

กว๊านพะเยามีขนาดใหญ่ประมาณ 1.2 หมื่นไร่ จัดเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และยังเป็นแหล่งอาหารของชาวพะเยา เพราะชาวบ้านสามารถนำเรือออกหาปลาเพื่อเลี้ยงชีพและยังชีพได้

ดังนั้น เมนูขึ้นชื่อของจังหวัดจึงหนีไม่พ้นเมนูปลาเผา และอีกจานที่เด็ดไม่แพ้กันคือกุ้งฝอยทอดและกุ้งเต้น ลักษณะเป็นกุ้งตัวจิ๋วใสแจ๋วที่หาได้มากในบึงแห่งนี้

สองล้อริมกว๊าน ชมอาทิตย์อัสดง

อย่าให้เส้นทางจักรยานริมกว๊านพะเยาเป็นแค่เส้นทางในฝันอีกต่อไป เพราะตอนนี้ จ.พะเยา พร้อมรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ แต่ไม่เอิกเกริก เห็นได้จากการมีเกสต์เฮาส์เกิดขึ้น มีร้านกาแฟเล็กๆ ในตัวบ้าน มีร้านอาหารท้องถิ่นราคาชาวบ้าน

คนพะเยาก็ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวมาเที่ยวบ้าน มาชมความงามของกว๊าน และมารับพลังแห่งความสุขจากพะเยาซึ่งยังคงบริสุทธิ์ดีต่อหัวใจ

Thailand Web Stat