the VISIONARY: ‘คนที่ใช่-คนที่ไม่ใช่’ เป็นเพียงวาทกรรมในโลกแห่งความฝัน
หลังจากช่วงฮันนีมูนเกือบร้อยวันที่แฟนบอล ‘ปีศาจแดง’ ได้นอนหลับฝันดี
ณัฐพันธ์ ส่งวิรุฬห์
หลังจากช่วงฮันนีมูนเกือบร้อยวันที่แฟนบอล ‘ปีศาจแดง’ ได้นอนหลับฝันดี
กับผลงานมหัศจรรย์ ชัยชนะ 13 นัดติด รวมทุกรายการ ภายใต้การนำของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา
แต่หลังจากปาฏิหารย์ที่ปารีสเพียงเดือนกว่า ๆ ดูเหมือนว่า กุนซือซุปเปอร์ซับ
กำลังทำความรู้จักกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังยุค เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่แท้จริง
เป๊ป กวาร์ดิโอล่า อาจเปรียบเสมือนพ่อมดแห่งโลกลูกหนัง เพราะเขาสามารถเนรมิตทุกทีมที่รับงาน
ให้เล่นในแนวทางที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็น ทีมฟุตบอลในอุดมคติ ครองบอลเฉลี่ย 65%-70% ต่อเกม
โครงสร้างทีมเต็มไปด้วยนักเตะที่เต็มไปด้วยเทคนิคและความสามารถเฉพาะตัวระดับแถวหน้าของวงการ
รูปแบบการฝึกซ้อมที่สร้างและพัฒนา product หรือตัวนักเตะในทีมที่มีอยู่ จนดึงศักยภาพออกมาได้สุด
ความพ่ายแพ้ต่อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แบบ technical outclasss ไม่ใช่เรื่องที่เหนือเกินความคาดหมาย
แม้ว่าช่วง 30 นาทีแรก ทีมของโซลชา จะออกสตาร์ทดีกว่าและสร้างโอกาสขึ้นนำได้หลายครั้ง
แต่เมื่อทำไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อยิ่งวิ่งไล่ก็ยิ่งไม่เจอบอล เมื่อนักเตะซิตี้ ตั้งหลักเก็บบอลจังหวะสองได้
มูลค่าที่แท้จริงก็จะค่อย ๆ ถูกสะท้อนออกมาในเกม 90 นาทีอยู่ดี
3 นัดหลังสุด เสีย 9 ลูก และยิงใครไม่ได้ ทำให้คำถามแฟนบอลบางส่วน twist กลับไปยัง โซลชา
ว่าเขายังเป็น ‘คนที่ใช่’ อยู่อีกหรือ
หรือแท้จริงแล้ว ผู้จัดการทีมที่ ใช่-ไม่ใช่ เหมาะสม-ไม่เหมาะสม
จะไม่ใช่สาระสำคัญของปัญหาที่ยูไนเต็ดมีตลอด 6 ปีที่ผ่านมา?
ทีมชุดแชมป์ลีกปี 2013 ที่เซอร์ อเล็กซ์ ทิ้งไว้มีอายุเฉลี่ยราว 26
นี่คือทีมที่ยังมีอนาคต และยังมีนักเตะลูกหม้อ นักเตะท้องถิ่น เป็นแกนหลักสร้างสปิริตในห้องแต่งตัว
แต่ 6 ปีผ่านไป ยูไนเต็ดใช้โค้ชถึง 3 คน และต้องจ่ายเงินกับค่าชดเชยในการปลดรวมกว่า 37 ล้านปอนด์
รวมทั้งทุ่มเงินจับจ่ายซื้อนักเตะไปตลอด 6 ปีที่ผ่านมาแตะตัวเลข 692 ล้านปอนด์
เปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้กลับมาคือ
แชมป์ เอฟเอ คัพ 1 สมัย
แชมป์ ลีก คัพ 1 สมัย
แชมป์ยูโรป้า ลีก 1 สมัย
อันดับ 2 พรีเมียร์ลีก
นับจากหมดยุคเซอร์ อเล็กซ์ พวกเขามีปัญหาความขัดแย้งในทีมมาต่อเนื่อง
ผลงานในสนามสูญเสียความคงเส้นคงวา
แนวทางการบริหารทีมในเรื่องฟุตบอล ดูจะครุมเครือ ไม่ชัดเจน
ทลายปรัชญาการทำทีม อัตลักษณ์ การ recruit นักเตะมาเสริมทีม
เม็ดเงินที่ยอมทุ่มและเพดานค่าเหนื่อยที่สูงลิ่ว
แต่ที่สุดแล้วย้อนกลับมาทำให้โครงสร้างสปิริตในทีมถดถอยลง
ฉะนั้นแล้วปัญหาใหญ่มองย้อนกลับขึ้นไปถึงเบื้องบน
การตัดสินใจรีไทร์ของ เซอร์ อเล็กซ์ ในปี 2013 อาจสร้างอิมแพ็คมหาศาล
แต่พร้อมกันนั้น การอำลาทีมของประธานบริหารอย่าง เดวิด กิลล์ เอง
กลับกลายเป็น ‘เนื้อร้าย’ ที่แท้จริงที่ทำให้ ปีศาจแดง แปรสภาพ
จากทีมลุ้นแชมป์เหลือเพียงทีมลุ้นพื้นที่แชมเปี้ยนส์ลีก
หลุนส์ ฟาน กัล อดีตผู้จัดการทีมของยูไนเต็ดเอง
เคยระบุว่า สโมสรแห่งนี้ เป็นสโมสรเชิงพาณิชย์
ภายใต้การบริหารงานของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด และเจ้าของทีมตระกูล เกลเซอร์
“แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นั้นซึ่งแตกต่างจากบาเยิร์น กุนซืออย่าง คาร์ล ไฮน์ซ รุมเมนิกเก้ และ อูลี่ เฮอเนสส์ นั้นเคยเป็นอดีตผู้เล่น และรู้ว่าพวกเขากำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่”
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือตัวอย่างของสโมสรที่ขาดการวางแผนด้านกีฬาที่ดี
ผู้บริหารที่ไม่มีแบ็คกราวน์เรื่องฟุตบอล แต่กลับกุมอำนาจเรื่องการตัดสินใจ
อนุมัติงบประมาณซื้อขายนักเตะของสโมสรไว้เอง
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี ฤดูกาลนี้อาจเป็นฤดูกาลสู่การเปลี่ยนผ่าน
การบริหารภายในอย่างแท้จริง
ยูไนเต็ด กำลังจะดัน ไมค์ ฟีแลน อดีตนักเตะของยูไนเต็ด และผู้ช่วยของ เซอร์ อเล็กซ์
ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการด้านเทคนิคเป็นคนแรกของสโมสร
โดยฟีแลนจะมาทำหน้าที่ดูเรื่องการวางรากฐานการทำงานของสโมสร
และด้วยประสบการณ์ ความคุ้นเคยกับสโมสรมายาวนาน
นั่นอาจทำให้เราได้เห็นทิศทางการทำงานที่กลับไปสู่การรื้ฟื้นพื้นฐานที่มั่นคงอีกครั้ง
เพียงแต่หากพูดถึงในระยะเวลา 1-2 ปี
อาจเป็นการเรียกร้องที่มากเกินไปสำหรับแฟนปีศาจแดง
ในการกลับขึ้นมาอยู่ในสถานะผู้ท้าชิงในพรีเมียร์ลีกอีกครั้ง