อาจแพ้เพราะ “บอกเลิก”
..คำว่า “เลิกสัญญา”ที่เป็นเหตุให้ภาครัฐต้องเสียเงินฟรีอยู่บ่อย ๆ ซึ่งในหลักกฎหมายต่างประเทศใช้อยู่ 2 คำหลัก ๆ คือ rescission กับ termination สองคำนี้มีนิตินัยสากลที่แตกต่างกันมาก...
...คำว่า “เลิกสัญญา”ที่เป็นเหตุให้ภาครัฐต้องเสียเงินฟรีอยู่บ่อย ๆ ซึ่งในหลักกฎหมายต่างประเทศใช้อยู่ 2 คำหลัก ๆ คือ rescission กับ termination สองคำนี้มีนิตินัยสากลที่แตกต่างกันมาก...
*****************
โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์
ย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระราชดำริว่า “…บัดนี้เปนสมัยสมควรจะจัดวางราชการชำระสะสางร่างแปลประมวลบทกฎหมาย ควบคุมกรรมการแลงานนั้นให้เปนกิจลักษณะ…”
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเลือกสรร “…เนติบัณฑิตผู้ชำนาญในนีติสารสักสมัยแลปะระสมัยให้เปนกรรมการทั้งฝ่ายไทแลต่างประเทศ มีน่าที่รับผิดแลชอบในราชการชำระประมวลบทพระราชบัญญัติแลประเพณีเมือง…”
และมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งเป็น “กรรมการชำระประมวลกฎหมาย”ขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2459 คณะกรรมชุดแรกนี้มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสวัสดิวัฒวิศิษฎ์ อธิบดีศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ
ส่วนกรรมการอื่นได้แก่พระยานรเนติบัญชากิจ พระจินดาภิรมย์ พระเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี นายเรเน คิยอง นายซาเวีย เดอ ลาฟอรคาด์ และนายร้อยเอก ชาล เลอเวก ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกฎหมายของสยามประเทศให้สอดคล้องกับระบบกฎหมายของสากล โดยมีกองกรรมการชำระประมวลกฎหมายทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ
ต่อมา เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดตั้ง “กรมร่างกฎหมาย” ขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการร่างกฎหมายเป็นระบบระเบียบ โดยยกกองกรรมการชำระประมวลกฎหมายขึ้นเป็นกรมชั้นอธิบดีเพื่อเพื่อทำหน้าที่ “…ชำระสะสาง รวบรวม ร่าง แปล และแก้ไขเพิ่มเติมบรรดาประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ กฎเสนาบดี และประเพณีเมืองไว้ให้เปนระเบียบ โดยมีหลักดำเนินการสม่ำเสมอเปนทำนองคลองเดียวกัน และให้ถูกต้องชอบด้วยกาลสมัยความเจริญแห่งบ้านเมืองเช่นว่านั้น…”
โดยมีนาย อาร์. ซี. กียอง (คือนายเรเน คิยอง) เป็นที่ปรึกษา พระยานรเนติบัญชากิจ พระยาจิดาภิรมย์ราชสภาบดี พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี นายชาลส์ เลเวก พระยามานวราชเสวี นายเรมี เดอ ปลังเตอโรส และนายเรเน กาโซ เป็นกรรมการ และต่อมาในปี 2476 ได้มีการโอนกรมร่างกฎหมายไปเป็น “คณะกรรมการกฤษฎีกา”ทำหน้าที่ดังกล่าวสืบต่อมาจนปัจจุบัน
ที่เล่าเท้าความมาเสียยืดยาวนี้ก็เพื่อจะบอกว่าการร่างกฎหมายยุคใหม่ของเราเมื่อร่วมร้อยปีก่อนนั้นเขาร่างกันเป็นภาษาอังกฤษแล้วจึงแปลเป็นไทยนะครับ
ไม่ได้ร่างเป็นภาษาไทยแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างปัจจุบัน เพราะกรรมการชำระประมวลกฎหมายของเรานั้นมีทั้งชาวไทยทั้งที่จบการศึกษากฎหมายในประเทศและต่างประเทศ เนติบัณฑิตอังกฤษก็มี ชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ก็เป็น “หมอกฎหมายฝรั่งเศส”
และนอกจากที่ออกชื่อมาแล้วก็ยังมีนักกฎหมายญี่ปุ่นและชาติอื่นด้วย เมื่อกรรมการเป็นสหประชาชาติ จึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางครับ
การทำงานร่างกฎหมายในยุคนั้นจึงจัดเป็นงาน “อินเตอร์”อย่างแท้จริง ผู้ใดสนใจสามารถตรวจสอบต้นร่างของกฎหมายเก่า ๆ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ปัญหามันเกิดขึ้นตรงที่ร่างกันเป็นภาษาอังกฤษแล้วแปลเป็นไทยนี่แหละครับ เพราะคำในภาษาไทยกับคำในภาษาอังกฤษมันไม่ตรงกันเป๊ะ ๆ เช่นคำว่า “คณะกรรมการ”ในภาษาอังกฤษก็มีหลายแบบ
เป็นต้นว่า Committeeหรือ Commissionซึ่งแตกต่างกันโดย Committeeจะใช้หลัก “คุณน่ะทำ”คือเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ มาให้ความคิดความเห็น แล้วให้ฝ่ายเลขานุการหรือหน่วยงานรับไปดำเนินการต่อ ต่างจาก Commission ซึ่งใช้หลัก “ตูทำเอง”คือ Commissioner ตกลงปลงใจรับ (commit)ว่าจะทำภารกิจเฉพาะอะไรด้วยตนเอง
พอเราแปลออกมาเราใช้คณะกรรมการเหมือนกันหมด บางทีจึงเกิดความสับสนในการกำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการแต่ละแบบ
ส่วนคำที่กำลังดังอยู่ตอนนี้น่าจะเป็นคำว่า “เลิกสัญญา”ที่เป็นเหตุให้ภาครัฐต้องเสียเงินฟรีอยู่บ่อย ๆ ซึ่งในหลักกฎหมายต่างประเทศใช้อยู่ 2 คำหลัก ๆ คือ rescission กับ termination สองคำนี้มีนิตินัยสากลที่แตกต่างกันมาก เพราะเมื่อใดที่คู่สัญญาใช้สิทธิ rescission คู่กรณีก็จะกลับคืนสู่สถานะเดิม แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอก แต่ถ้าเป็นการใช้สิทธิ termination มันจะมีผลต่อไปข้างหน้าไม่ย้อนหลัง
เมื่อตรวจสอบจากต้นร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ผู้เขียนพบว่ามาตรา 391 วางหลักเรื่องการใช้สิทธิ rescission ไว้[1] ซึ่งเมื่อแปลเป็นไทยใช้คำว่า “สิทธิเลิกสัญญา”มาจนปัจจุบัน
แต่ในที่อื่น ๆ เช่น ความระงับแห่งสัญญาเช่า (Extinction of Contract of Hire)เมื่อไปดูต้นร่างภาษาอังกฤษของมาตรา 566 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์[2] ท่านผู้ร่างท่านใช้คำว่า “terminate the contract” แต่เมื่อแปลมาเป็นภาษาไทยใช้คำว่า “บอกเลิกสัญญา” เหมือนกันทั้งที่มันมีผลทางกฎหมายต่างกันดังว่า
ดังนั้น เมื่อใช้กฎหมายไทยบังคับแก่สัญญาใด ถ้ามีการ “บอกเลิกสัญญา” มันก็จะวนกลับไปที่หลัก rescission ตามมาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่ร่ำไป ทั้งที่จริง ๆ แล้วผู้แสดงเจตนาอาจต้องการให้สัญญาเป็นอันระงับสิ้นไป (extinction) นับแต่นั้นเป็นต้นไปตามหลัก termination of contract เท่านั้น
ผู้เขียนเองไม่ทราบข้อมูลอะไรต่าง ๆ มากนัก ที่แพ้อาจไม่ใช่เพราะปัญหานี้ก็ได้ แต่บังเอิญคาใจประเด็นนี้มานานเพราะเป็นหลักการสำคัญของระบบกฎหมาย ไม่แน่นะ ถ้าทำให้เกิดความชัดเจนในระบบกฎหมายระหว่าง rescission กับ termination บางทีเราอาจ terminate สัญญาโดยไม่ต้องเสียเงินฟรีเพื่อให้คู่สัญญากลับคืนสู่สถานะเดิมอยู่ร่ำไปอย่างที่เป็นอยู่นี้ก็ได้ (ถ้าไม่มีปัจจัยอื่นประกอบด้วยนะ)
ชวนคิดครับ!