posttoday

ท้องเสีย ท้องร่วง อาการน่าเป็นห่วงช่วงอากาศร้อน

01 พฤษภาคม 2562

เมื่ออากาศร้อนส่งผลให้เชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี เราจึงควรเฝ้าระวังโรคที่อาจมาจากอาหารและน้ำเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาการท้องเสีย ท้องร่วง และอาหารเป็นพิษ

ภาพ : freepik.com

ในเดือนที่อุณหภูมิสูงที่สุดในรอบปี ความร้อนเช่นนี้ส่งผลให้เชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี เราจึงควรเฝ้าระวังโรคที่อาจมาจากอาหารและน้ำเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาการท้องเสีย ท้องร่วง และอาหารเป็นพิษ

สังเกตอาการอย่างใดอย่างหนึ่งของท้องเสีย ท้องร่วง เช่น ท้องเสียต่อเนื่องนานเกิน 3 วัน มีอาการปวดท้องและอาเจียนรุนแรง มีไข้สูง มีเลือดปนอุจจาระ เด็กมีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย ผิวหนังเย็น ชีพจรเต้นเร็ว และไม่สามารถรับประทานน้ำเกลือแร่ทดแทนได้

ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง

1.ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส โดยให้จิบทีละนิดแต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร แต่ควรกินอาหารที่รสอ่อนและย่อยง่าย เช่น  ข้าวต้ม แกงจืด

2.หากมีอาการผิดปกติควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เช่น ถ่ายหรืออาเจียนไม่หยุดมากกว่า 4 ครั้ง หิวน้ำตลอดเวลา หรือปัสสาวะไม่ออก (แสดงว่าขาดน้ำมาก) หน้ามืด ช็อกหรือหมดสติ มีไข้ ปวดท้องอย่างรุนแรง หรือเวลาถ่ายแล้ว ปวดเบ่งตลอดเวลา (อาการของบิด)

3.ขับถ่ายในสุขภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังการขับถ่าย

4.กำจัดอาเจียนของผู้ป่วย โดยเททิ้งลงในส้วม ราดน้ำให้สะอาด แล้วใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือน้ำยาซักผ้าขาวราดซ้ำ

5.รักษาความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย รวมทั้งซักเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัวของผู้ป่วยให้สะอาด และนำไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค

6.ผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยควรหมั่นล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันเชื้อปนเปื้อนจากมือสู่อาหารและเกิดการติดโรคได้

ท้องเสีย ท้องร่วง อาการน่าเป็นห่วงช่วงอากาศร้อน

ข้อห้ามเมื่อท้องร่วง ท้องเสีย

1.ห้ามรับประทานยาฆ่าเชื้อ เพราะบางทีท้องร่วงมีหลายสาเหตุ ไม่ได้เกิดจากเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย แต่อาจเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งยังไม่มียาฆ่าเชื้อ ดังนั้น การกินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียลงไปก็ไม่หาย สิ้นเปลืองเงินและอาจทำให้เชื้อดื้อยา

2.ห้ามรับประทานยาหยุดถ่าย การถ่ายเป็นกลไกของร่างกายในการขับเชื้อโรคและของเสียออกจากร่างกาย หากรับประทานยาหยุดถ่ายเข้าไปจะทำให้ลำไส้ทำงานน้อยลง จากเดิมที่ลำไส้เคยบิดตัวเพื่อไล่ของเสียออก ลำไส้ก็จะอยู่ นิ่งๆ ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโต เข้าสู่กระแสเลือดได้ดีขึ้น


การป้องกันท้องเสียหน้าร้อน

1.ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ ช่วยลดการแพร่เชื้อท้องเสียระหว่างคนต่อคนได้ ควรล้างด้วยสบู่เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร

2.ล้างผักผลไม้ให้สะอาด ต้องล้างผ่านน้ำหลายๆครั้ง หรือแช่ในน้ำเกลือ หรือน้ำผสมเบกกิ้งโซดา

3.แยกอาหารที่เป็นวัตถุดิบกับอาหารที่ปรุงสุกแล้ว เพราะบางครั้ง เนื้อสัตว์หลายชนิดจะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย จึงควรแยกออกจากกัน การเก็บในตู้เย็นก็ไม่ควรวางปนกัน อาหารที่ปรุงสุกแล้วควรใส่ภาชนะที่ปิดสนิท

4.รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ที่สำคัญ การปรุงควรถูกต้องตามเกณฑ์ เช่น ถ้าจำเป็นต้องเก็บมารับประทานใหม่ ควรทำให้ร้อนจึงจะปลอดภัย โดยมีวิธีสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าน้ำเดือดปุดๆ แสดงว่าอุณหภูมิถึง 100 องศาเซลเซียสแล้ว

5.การเลือกวัตถุดิบที่ถูกสุขลักษณะ ควรเลือกผักผลไม้ที่สดและสะอาด เสียเวลาในการเลือกนานขึ้น แต่สบายใจ เมื่อนำมารับประทาน

6.ล้างภาชนะให้สะอาดทุกครั้ง เช่น เขียงกับมีดต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้งาน และควรใช้ช้อนกลาง ขณะที่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

7.เก็บอาหารไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เพราะอุณหภูมิที่เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี คือ 5 -60 องศา เซลเซียส ถ้าต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส เชื้อโรคจะไม่เจริญเติบโตแต่ไม่ตาย เพราะฉะนั้นอาหารที่เราเก็บไว้ในตู้เย็น ควรอุ่นก่อนรับประทานทุกครั้ง

8.ไม่ควรรับประทานอาหารที่ปรุงทิ้งไว้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ต้องเดินทางนั่งรถนานๆ เพราะอาหารเหล่านั้นอาจบูดเน่าได้ง่าย

9.ควรต้มน้ำให้สุกทุกครั้งก่อนนำมาดื่ม โดยเฉพาะน้ำดื่มตามตู้กดน้ำ อาจไม่ได้มาตรฐานและมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้