หนุมานหน้ากระบี่ หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
ก่อนอาราธนาขึ้นคอ ต้องสวดท่องคาถาบูชาหนุมานดังนี้ ให้ตั้ง นะโม 3 จบ พร้อมว่าคาถากำกับหนุมาน
โดยอาจารย์ชวินทร์ [email protected]
ขุนกระบี่วานร ฤทธิเกริกไกร หนึ่งในสยาม คือสมญานามของ หนุมาน หลวงพ่อสุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในเบญจภาคีของขลังในปัจจุบัน วันนี้มาชม หนุมานหน้ากระบี่ สภาพสวย ดูง่ายมีความเป็นธรรมชาติทั้งองค์ ที่สำคัญหายากมากครับ
มาดูหนุมานรากไม้รักซ้อนองค์นี้กันครับ พลิกดูรอบๆพิจารณาดูจากความแห้งของเนื้อไม้ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีร่องรอยความเก่าชัดเจน เริ่มจากดูรอยเซาะเป็นเส้นตรงที่หัวลงมา การแกะลูกตา เซาะที่อกเป็นสันเหลี่ยมงดงามสมส่วน รอยเซาะที่มือในร่องปรากฏความเก่าจากคราบฝุ่นที่ซุกอยู่ในซอก อีกทั้งคราบไคลจากที่ผ่านการใช้งานมา ดูเป็นธรรมชาติทุกสัดส่วน
พลิกมาดูด้านหลังและด้านข้าง เห็นชัดเจนคือรอยเซาะเป็นร่องที่รอบหัวด้านหลังและรอยปริแตกยาวลงมาเป็นธรรมชาติของรากไม้ที่เก่า แถมน้ำหนักเบามากเหมือนไม่มีน้ำหนักเลย เพราะความแห้งจัดของรากไม้จากอายุการสร้าง
หลวงพ่อสุ่นท่านเริ่มสร้างหนุมานจากไม้รากรักซ้อนตั้งแต่ปีพ.ศ.2468 นี่ก็เกือบร้อยปีแล้ว ไล่ลงมาดูด้านหลังจากบนลงล่าง ก็จะเห็นคราบไคลและในซอกก็มีฝุ่นซุกอยู่เช่นกัน ซึ่งก็ดูเป็นธรรมชาติทั้งหมด และพลิกมาใต้ฐานซึ่งกลมและแห้งเก่ามาก แค่นี้ก็เห็นซึ้งว่า ดูง่ายและแท้แน่นอน
ในวงการนักสะสมเครื่องรางของขลัง มีคำกล่าวว่า เสือหลวงพ่อปานหนุมานหลวงพ่อสุ่น ซึ่งแสดงถึงความเก่งของพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องราง และซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าถ้าเป็นเรื่องหนุมาน แล้วก็คงไม่มีใครเกิน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี
หลวงพ่อสุ่น มีนามเดิมว่า สุ่น นามสกุล ปานกล่ำ ท่านเป็นชาวนนทบุรี มีฉายาว่า "จันทโชติก" หนุมานของท่านมีพุทธคุณเด่นทางด้านเมตตามหานิยมและแคล้วคลาด หนุมานของท่านแกะจากรากไม้ต้นรักซ้อน และรากไม้ต้นพุฒซ้อน ที่ท่านปลูกเองตั้งแต่ยังเป็นพระลูกวัด
ท่านได้ทำน้ำมนต์รดต้นไม้ทั้งสองอยู่ทุกวัน กระทั่งท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลากุน และต้นไม้ทั้งสองก็โตได้ที่ เมื่อฤกษ์งามยามดี ท่านจึงลงมือขุด โดยทำพิธีพลีก่อนขุด เมื่อขุดขึ้นมาทำความสะอาดแล้ว ท่านก็นำไปตากให้แห้งสนิท
และให้ช่างฝีมือแกะสลักหนุมานขึ้นมา 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าโขน ซึ่งแกะรายละเอียดครบถ้วน มีความสวยงามมาก ส่วนพิมพ์หน้ากระบี่จะไม่มีรายละเอียดมากนัก เป็นพิมพ์ที่มีความเรียบง่าย และที่แกะจากงาช้างนั้นจะมีหลายพิมพ์แต่จำนวนน้อยมาก
มีเรื่องเล่าว่า ก่อนที่ท่านจะลงมือทำการปลุกเสกหนุมาน ในตอนเช้าท่านจะให้ลูกศิษย์ไปตัดต้นไม้ที่มีหนามมาเช่น ต้นมะขามเทศ ต้นพุทธามาเตรียมไว้ และในช่วงค่ำท่านก็จะทำวัตรกับพระลูกวัดตามปกติ
หลังจากที่ท่านทำวัตรเสร็จเเล้ว ท่านก็จะเข้าไปในกุฎิประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้นท่านก็จะอุ้มบาตรออกมา และเรียกลูกศิษย์ให้อุ้มบาตรตามเข้าไปในโบสถ์และกำชับลูกศิษย์ว่าห้ามเปิดบาตรเด็ดขาด จากนั้นท่านก็จะกลับมานั่งวิปัสสนาอีกครั้ง
หลังจากท่านนั่งวิปัสสนาเสร็จ ท่านจะนั่งหันหลังให้พระประธาน และนำบาตรมาตั้งไว้ตรงหน้า ให้ลูกศิษย์นำกิ่งไม้หนามที่เตรียมไว้มาล้อมที่ตัวท่านให้แน่นรอบตัว และให้ลูกศิษย์ออกจากโบสถ์ไปรอภายนอก พร้อมกับกำชับว่าห้ามผู้ใดเข้าออก
ว่ากันว่าระหว่างที่ท่านกำลังปลุกเสกหนุมานจะกระโดดอยู่ภายในบาตร และเมื่อปลุกเสกเสร็จแล้ว ท่านจะเรียกลูกศิษย์ให้เข้าไปในโบสถ์ เพื่อเก็บหนุมานที่ท่านปลุกเสกเสร็จแล้วและโดดออกมาติดอยู่กับกิ่งไม้หนามที่ล้อมตัวท่าน
ตัวไหนที่หล่นอยู่กับพื้นให้เเยกไว้ต่างหาก ท่านว่ายังใช้การไม่ได้เพราะปลุกไม่ขึ้น ทุกคนประหลาดใจที่หนุมานขึ้นไปติดกับกิ่งไม้หนามได้อย่างไร ที่สำคัญท่านออกมาจากกองกิ่งไม้หนามที่ล้อมตัวท่านจนแน่นได้อย่างไร
ก่อนอาราธนาขึ้นคอ ต้องสวดท่องคาถาบูชาหนุมานดังนี้ ให้ตั้ง นะโม 3 จบ พร้อมว่าคาถากำกับหนุมาน "นะมัง เพลิง โมมัง ปากกระบอก ยะ มิให้ออก อุดธังโธอุด ธังอัด อะสังวิสุ โรปุสะพูพะ มะอะอุ โอมยะพุทธา ทะโยสตรี สตรี นิสังโห" เพื่อให้สัมฤทธิผลในทุกสิ่งที่เราต้องการ