posttoday

กรองข่าวมาเล่าวันนี้ ถ่ายทอดการเมืองรุ่นใหม่ผ่านเรื่อง "อดีตไล่ล่าอนาคต"

13 มิถุนายน 2562

เรื่องราวกำลังถูกย้อนรอยเมื่อนักการเมืองหลายคนเคยโพสต์อะไรไว้ในหลายปีอาจกลับมาทำลายตัวเองได้ เกิดสภาพ “อดีตไล่ล่าอนาคต” 

เรื่องราวกำลังถูกย้อนรอยเมื่อนักการเมืองหลายคนเคยโพสต์อะไรไว้ในหลายปีอาจกลับมาทำลายตัวเองได้ เกิดสภาพ “อดีตไล่ล่าอนาคต” 

oooooooooooooo

โดย ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

สัปดาห์ผ่านมาอบอวลไปด้วยบรรยากาศของการตอบโต้ต่อต้านคนและกลุ่มคนที่จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ไม่ใช่เพียงแต่พูดถึงเหตุการณ์และพฤติกรรมในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังขุดคุ้ยย้อนหลังไปถึงสิ่งที่คนพวกนี้ทำมาในอดี

เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้า ความสะดวกสบายก็มีมากขึ้น จากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ กลายเป็นโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันเราสามารถสื่อสารและเป็นผู้สื่อข่าวได้ด้วยตนเองผ่านสื่อดิจิตัล เพียงแต่คิดก็สามารถเขียนได้ทันที สิ่งที่เชียนไปจะถูกไปอย่างไม่มีเขตจำกัด ทุกคนเข้าถึงได้ ถ้าเขียนเรื่องดีก็ดีไป ถ้าเขียนเรื่องร้ายหรือเรื่องที่ไม่ดีก็อาจเป็นหลักฐานมัดคอตัวเองดิ้นไม่หลุด ความใจร์ว ใจร้อน ความห้าวฆ่าคนตายทั้งเป็นมาหลายรายแล้ว และจะมีเหยื่อเกิดขึ้นอีก

มีการกล่าวว่า นักการเมืองที่ฉลาดไม่ควรแตะต้องสถาบันสูงสุดของประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยเคารพและศรัทธา และเป็น “รูปแบบการปกครอง” ของไทยที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ปี 2475 จนถึงฉบับล่าสุดปี 2560 ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพทุกอย่างตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างรูปแบบของรํฐและรูปแบบการปกครองไม่ได้

จากประสบการณ์เกี่ยวกับขบวนการล้มเจ้าย้อนหลังไปในอดีต ไม่ว่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) ” อดีตนักศึกษาที่เป็นผลผลิตของเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 แทบท้งสิ้น กลุ่มนิติราษฎร์ นักวิชาการที่เรียกร้องให้ ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลุ่มล้มเจ้าปี 2553-2556 ที่หลบหนีคดีทางกฎหมายไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาบ้าง ยุโรปบ้าง แต่ส่วนใหญ่อยู่ในลาวและกัมพูชา และใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมโฆษณาชวนเชื่อโจมตีสถาบันอย่างรุนแรงตลอดมา

สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเทียบไม่ได้กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่คนหนุ่มสาวที่มีการศึกษา โดยมีการเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาไปพร้อมกัน มีการสร้างและสืบทอดวาทกรรมต่าง ๆ อาทิ “สถาบันกษัตริย์เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย” “ สร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน” ฯลฯ มีการพูดถึงรูปแบบการปฏิวัติฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ อุดมการณ์ “ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ” การสืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎร เป็นต้น

การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างลุ่มลึก แตกต่างจากกลุ่มต่อต้านสถาบันกษัตริย์ทุกกลุ่มที่เคยมีมา มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ใช้สื่อดิจิตัลในการเผยแพร่แนวคิด มีการกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างเป็นระบบ สามารถโน้มน้าวใจคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาได้อย่างน่าสนใจ กลุ่มนี้มีการวางแผนระยะยาวและเป็นขั้นตอน และพร้อมที่จะรอคอยผลสำเร็จนั้นแม้ต้องใช้เวลาสามสี่ปี

ที่สำคัญคือ เขาไม่ได้หวังการเปลี่ยนแปลงโดยรวดเร็ว ถ้าเปลี่ยนเร็วได้ก็ดี แต่สิ่งที่มีการวางแผนไว้จะเป็นตามขั้นตอนและพร้อมรอแม้จะเป็นเวลาหลายปีก็ตามแต่คงไม่นานเกินไป ในช่วงนี้ก็สร้างความเชื่อของคนยอมรับการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมในปัจจุบันตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงวัฒนธรรมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สร้างความเชื่อเรื่องการต่อสู้ระหว่างระบบสังคมใหม่กับสังคมอนุรักษ์นิยม คนกลุ่มนี้ได้วางแผนและเตรียมการมานาน และใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิตัลอย่างเต็มที่ จนประสบความสำเร็จอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง

การประกาศที่จะเปลี่ยน “ระบบสังคมปัจจุบัน” เพื่อสร้าง “ความเท่าเทียมกันสังคม” และการยกเลิกวัฒนธรรม ประเพณีที่ “ล้าหลัง” ฯลฯ นั้น ทำได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่อง แต่อย่างน้อยก็เป็นแนวคิดของคนกลุ่มนี้ ล่าสุด ได้พบว่า คนรุ่นหนุ่มสาวบางคนได้แสดงออกทางสื่อออนไลน์เรียกพ่อแม่ของตนเองว่า “สลิ่ม” ไปแล้ว

อย่างไรก็ดี มีคำกล่าวอย่างหนึ่งคือ ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยตัวเองเสมอ เมื่อมีการปลุกกระแสต่อต้านสถาบันกษัตริย์ หรือ “ปฏิกษัตริย์นิยม” สร้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเว้นที่จะกล่าวต่อว่าโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ต้องระวังการเกิดกระแสเหตุการณ์ก่อนปี 2519 เมื่อกระแสซ้ายขึ้นแรง ก็จะเกิดกระแสขวาออกมาต่อต้านโดยธรรมชาติ เหมือนกับลูกตุ้มที่ยิ่งเหวี่ยงแรงเท่าไร มันก็จะตีกลับแรงเท่ากัน

ปฏิกิริยาที่เห็นได้ชัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อเกิดกระแสต่อต้านและโจมตี “คุณช่อ” อย่างรุนแรง กว้างขวาง ทั้งในสื่อดิจิตัลและสื่ออื่น ๆ อย่างที่คุณช่อและเพื่อนคาดไม่ถึง ซ้ำเพื่อนที่ปรากฏในภาพยังเป็น ส.ส.คนหนึ่งในพรรคอนาคตใหม่เสียอีก นี่เป็นปฏิกิริยาโต้กลับในสังคมต่อสิ่งที่คนพวกนี้แสดงออกทางกาย การอ้างอิงคำว่า “พรี โฮจิมินห์” เพื่อสื่อสิ่งที่ตนคิด เป็นต้น จึงเกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงแต่นุ่มนวลจากคนที่มีชื่อเสียงในสังคมทั้งครูบาอาจารย์และคอลัมนิสต์ นักวิจารณ์ข่าว ที่คุณอาจเรียกเขาว่าเป็น “พวกอนุรักษ์นิยม” หรือ “กษัตริย์นิยม” หรือ “พวกปฏิกิริยา” ก็ได้ ที่ยังรักและเทิดทูน “พ่อหลวงของฉัน” ที่ดาหน้ากันออกมาสั่งสอนแบบผู้ดี ปฏฺกิริยาตอบโต้ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์คงจะทำความตระหนกให้กับพวกปฏิกษัตริย์นิยมและคนกลุ่มนี้มากพอสมควร

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราจะเห็น “การตรวจสอบ” จากสังคมต่อกลุ่มปฏิกษัตริย์นิยมเป็นระยะ เพราะสังคมสงสัยในพฤติกรรมของแกนนำเนื่องจากผู้นำทั้งสามลำดับแรกล้วนแต่เจอประวัติทางลบในอดีตมาแล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะข้อมูลที่รัดคอแทบไม่หลุดคือ คำพูดและการกระทำทั้งในอดีตและปัจจุบันที่กระทบต่อสถาบันสูงสุดทั้งทางตรงและทางอ้อม บางครั้งการใช้สื่อดิจิตัลซึ่งเป็นสื่อในการเผยแพร่แนวคิดและการโฆษณาชวนเชื่ออย่างดีแต่ก็อาจ “ตีกลับ” มายังผู้ใช้อย่างคาดไม่ถึง สิ่งที่ให้ “คุณ” มากก็มี “อันตราย”มากเช่นกัน

ในช่วงที่เราอยู่ในวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นวัยกำลังห้าว อารมณ์ร้อน นึกอยากทำอะไรก็ทำโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง หลายคน “ติดกับ” คำพูดและการกระทำของตนเองจนอนาคตดับวูบ อย่าไปคิดว่าคนที่เรียนสูงแล้วความห้าวจะลดลง บางครั้งอาจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำเพราะฮึกเหิมคิดว่าตัวเองเรียนสูง รู้มาก คนหนุ่มสาวต้องระวังอย่าให้อนาคตถูกอดีตไล่ล่าจนเสียผู้เสียคน เพราะการเมืองมีอะไรหลายอย่างมากกว่าคนหนุ่มสาวคิด ส่วนที่ทำไว้แล้วในอดีตไม่อาจลบออกได้ ก็ต้องยอมรับ

สื่อดิจิตัลที่มีพลังอำนาจ บ่อยครั้งที่พลังนั้นย้อนกลับมาทำลายตัวเอง แกนนำต้องยอมรับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากสังคมดิจิตัล สิ่งที่นักการเมืองหลายคนเคยโพสต์ไว้ในหลายปีอาจกลับมาทำลายตัวเองได้ เกิดสภาพ “อดีตไล่ล่าอนาคต” ใช้วาทกรรม “การไล่ล่าแม่มด” เหมือนอย่างที่พวกนี้พยายามทำให้คนเชื่อ นอกจากเจอการต่อต้านจากสังคมแล้ว คดีจำพวกนี้มีอายุความ 20 ปี ดังนั้น สิ่งที่เคยทำมาในอดีตหากยังไม่เกิน 20 ปีก็มีสิทธิเจอกับกฎหมาย ที่คนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษเท่าเทียมกัน

นโยบายของพรรคที่สนับสนุน “การปกครองระบอบประชาธิปไตย” แล้วจบลงดื้อ ๆ นั้น โดยตัดคำว่า “ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ออกไป ไม่ว่าจะพยายามอธิบายอย่างไร แต่คนทั่วก็รู้ว่าแกนนำพรรคนี้คิดอะไรอยู่ การมุ่งกัดกร่อนทำลายสถาบันทหารที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์ตลอดมา ( ที่ต้องชมเพราะพอจะยั้งคิดได้คือยังไม่บุ่มบ่ามขอแก้ไขมาตรา 112 ตามที่กองเชียร์หลายคนต้องการ ) หากมองให้ลึกลงไป ความพยายามสร้างภาพตนเองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดใหม่ เพื่อหาเสียงในกลุ่มคนหนุ่มสาวนั้น ความจริงก็คือ “กลุ่มทุนใหม่” ที่สืบภารกิจต่อเนื่องจากกลุ่มทุนที่สูญเสียอำนาจเท่านั้นเอง ที่ประกาศชัดเจนว่าจะเอาทักษิณกลับบ้าน ฯลฯ จนกระทั่งคอลัมนิสต์ฝรั่งเขียนไว้ชัดเจนว่า เวลานี้อเมริกาได้ตัวแทนคนใหม่มาแทนทักษิณแล้ว

นี่คืออีกยกหนึ่งของการต่อสู้ระหว่าง “กลุ่มปฏิกษัตริย์นิยม” กับ “กลุ่มกษัตริย์นิยม” ต่อไป การตรวจสอบนักการเมืองที่อยู่ในกลุ่มปฏิกษัตริย์นิยมจะเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งสองฝ่ายจะต้องควบคุมกันเอง เพราะยังมี่ “อีแอบ” ที่พร้อมจะยุเด็กให้ลงถนนแบบ “ฮ่องกงโมเดล” คนหนุ่มสาวเหล่านี้ต้อง “รู้เท่าทัน” และ “ไม่แตกเป็นหุ่นเชิด” ของนักการเมืองกลุ่มสูญเสียอำนาจ ขณะเดียวกัน คนหนุ่มสาวก็ต้องไม่ตกเป็นเหยื่อความคิดของผู้นำตัวเองด้วย

บนเส้นทางการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย จะพบกับ “การทดสอบ” เสมอจากกลุ่มนักการเมืองที่เปลี่ยนหน้ากันเข้ามา