ขอพรเซียนแปะโรงสีผู้เรืองเวทย์
ภายในวัดศาลเจ้ามีปูชนียสถานที่สำคัญ เช่น อุโบสถซึ่งเจ้าน้อยมหาพรหมสร้างถวายในสมัยพระอาจารย์รุ ได้ทำการบูรณะใหม่ในเวลาต่อมา นับว่าเป็นอุโบสถที่สวยงามมาก เจดีย์แบบรามัญ
โดย พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา
วัดศาลเจ้า เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งขอจ.ปทุมธานี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ในพื้นที่ ต.บ้านกลาง อ.เมือง ปทุมธานี อาณาเขตติดต่อกับวัดมะขาม ติดแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองเชียงราก ประวัติความเป็นมาของวัดศาลเจ้าแห่งนี้ มีคำบอกเล่าแตกต่างกันออกไป บ้างกล่าวว่า วัดนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยชาวรามัญที่อพยพหลบหนีภัยสงครามจากพม่า เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
ในครั้งนั้นชาวรามัญเข้ามากันเป็นจำนวนมาก โดยแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานทั้งในพื้นที่เมืองสามโคก หรือเมืองปทุมธานีในปัจจุบัน เมืองพระปะแดง ปากเกร็ด ปากลัด เป็นต้น ชาวมอญ หรือชาวรามัญเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อตั้งหลักปักฐานมั่นคง ก็มีการสร้างวัดขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ รวมทั้งปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ และวัดแห่งนี้ก็เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
แต่อีกตำนานเล่าขานกันต่อมาว่า วัดศาลเจ้า สร้างเมื่อปลายกรุงศรีอยุธยา โดยเจ้าน้อยมหาพรหม บุตรเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ เป็นผู้มีวิชาไสยศาสตร์แก่กล้า ได้ล่องแพมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา จนมาถึงวัดมะขามในและได้พบกับพระภิกษุเชื้อสายรามัญ นาม “พระอาจารย์รุ” ผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน ทั้งสองได้ทดสอบวิชากัน เจ้าน้อยมหาพรหมเกิดความเคารพเลื่อมใสในวิทยาคมของพระอาจารย์รุ จึงขอสร้างวัดและศาลขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจ แล้วตั้งชื่อว่าวัดศาลเจ้า คาดว่ามาจาก “ศาล” ที่สร้างขึ้นโดย เจ้าน้อยมหาพรม
และวัดแห่งนี้เป็นที่พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำหรับแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดศาลเจ้า เชื่อว่า เป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าที่มีเจ้าพ่อนักรบถือทวนประดิษฐานอยู่ เชื่อเพราะว่า เมื่อก่อนนี้หน้าวัดศาลเจ้าในลำน้ำเจ้าพระยามีจระเข้ชุกชุมมาก และทำร้ายผู้คนที่ผ่านไปมาเป็นประจำ
เมื่อ "เจ้าน้อยมหาพรหม" เป็นบุตรเจ้าเมืองทางฝ่ายเหนือ เป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ทางไสยศาสตร์ มีวิชาในการปราบจระเข้ เจ้าน้อยจึงใช้สมาธิร่ายเวทมนต์จนจระเข้เชื่อง และเป็นสถานที่ประลองวิชาระหว่างเจ้าน้อยกับพระอาจารย์รุ ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ที่วัดมะขามใน หรือวัดมะขามน้อยใกล้ ๆ วัดศาลเจ้า ซึ่งพระอาจารย์รุมีวิชาไสยศาสตร์เหนือกว่าเจ้าน้อยทำให้เจ้าน้อยมหาพรหมเกิดความเคารพนับถือเลื่อมใสในตัวพระอาจารย์รุเป็นอย่างยิ่ง จึงรื้อแพที่ล่องมาสร้างกุฏิ และศาลาการเปรียญให้กับวัดดังกล่าว
ภายในวัดศาลเจ้ามีปูชนียสถานที่สำคัญ เช่น อุโบสถซึ่งเจ้าน้อยมหาพรหมสร้างถวายในสมัยพระอาจารย์รุ ได้ทำการบูรณะใหม่ในเวลาต่อมา นับว่าเป็นอุโบสถที่สวยงามมาก เจดีย์แบบรามัญ ซึ่งงดงามตามแบบเจดีย์รามัญ และหาชมได้ยาก พระพุทธรูปที่เจ้าน้อยมหาพรหมสร้างไว้ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาการเปรียญ
อีกอย่างหนึ่งที่คนนิยมมากราบไหว้คื เซียนแปะ (โรงสี) ฆราวาสชาวจีนผู้เรืองเวทย์ ประวัติของ “เซียนแปะ” มีบันทึกไว้ว่า “ท่านเกิดที่ประเทศจีน ย้ายเข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อโตขึ้นท่านได้ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและค้าข้าวเปลือก ต่อมาธุรกิจค้าข้าวเปลือกดีขึ้น ท่านได้ร่วมหุ้มกับโรงสีข้าวเปลือกที่ปากคลองบางโพธิ์ล่าง (ต.บางเดื่อ) และเมื่อสมรสจึงย้ายมาประกอบกิจการโรงสีไฟของตัวเอง ที่ปากคลองเชียงราก เยื้องกับ วัดศาลเจ้า ในนามของ “โรงสีไฟทองศิริ” โอนสัญชาติมาเป็นสัญชาติไทย เปลี่ยนชื่อเป็น นายนที ทองศิริ
อุปนิสัยของท่านเป็นคนโอบอ้อมอารี ชอบชี้แนะช่วยเหลือผู้อื่น ท่านเป็นกำลังหลักสำคัญในการบูรณะศาลเจ้าพ่อวัดศาลเจ้า แม้การคมนาคมขนส่งสมัยยังลำบากมาก แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อร่วมแรงร่วมใจกับผู้มีจิตศรัทธาบูรณะศาลจนแล้วเสร็จ ด้วยความดีของ “เถ้าแก่กิมเคย” หรือ “แปะกิมเคย” ท่านจึงเป็นที่ รักเคารพและศรัทธาของชาวบ้านในละแวกนั้นเป็นอย่างมาก
การมากราบขอพร “เซียนแปะ โรงสี” , “เซียนแปะกิมเคย” หรือ “เซียนแปะโง้วกิมโคย” ฆราวาสชาวจีนผู้เรืองเวทย์ ส่วนใหญ่นิยมมาขอพรเรื่องการเงินการงาน การทำธุรกิจการค้าให้เจริญรุ่งเรือง เมื่อได้สมปรารถนาแล้วก็จะนำผลไม้ของไหวมงคลต่างๆ รวมถึงหุ่นจระเข้มาถวายเพื่อความเป็นสิริมงคลนอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้กำหนดวันในการจัดงานประจำปีศาลเจ้าพ่อวัดศาลเจ้า คือ วันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 1 จนถึงขึ้น 8 ค่ำ เดือน 1 4 วัน 4 คืน ซึ่งชาวจีนเรียกช่วงนี้ว่า “เจียง่วย ชิวโหงว ถึง เจียง่วย ชิวโป๊ย” และถือเป็นประเพณีตลอดมา
เซียนแปะกิมเคยมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ส่วนใหญ่จะขอให้ท่านช่วยชี้แนะเกี่ยวกับ ฮวงจุ้ย ทำเลที่ตั้งบ้าน ห้างร้าน บริษัท ท่านก็ช่วยชี้แนะทุกรายไปโดยไม่หวังผลตอบแทน ผู้ที่ท่านช่วยชี้แนะจะประสบความสำเร็จเจริญรุ่งเรือง เป็นที่รู้จักในวงการค้า เมื่อเวลาผ่านไปถึงวัยชราร่างกายผ่ายผอมหลังโค้งงอ แต่เซียนแปะกิมเคยก็ยังคงช่วยเหลือชี้แนะบรรดาลูกศิษย์อย่างที่เคยเป็นมา จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
หลังเสร็จสิ้นพิธีศพของท่าน ครอบครัวและคณะศิษย์ได้จัดสร้าง รูปเหมือนขนาดเท่าตัวจริง ตั้งเป็นที่สักการบูชา ณ ศาลานที ทองศิริ วัดศาลเจ้า วัตถุมงคลของเซียนแปะกิมเคย ที่ได้รับความนิยม คือ เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก สร้างปี พ.ศ. 2519 , เหรียญรูปเหมือนทรงหยดน้ำ, ล็อคเก็ต รูปเหมือน และ ผ้ายันต์ เป็นต้น
ยันต์ฟ้าประทาน นับเป็นเครื่องรางประจำตัวของเซียนแปะ ที่ลูกศิษย์หรือคนในวงการเซียนพระ เครื่องราง เห็นแล้วต่างก็ต้องรู้ทันทีถึงความศักดิ์สิทธิ์ หรือเรื่องราวปาฏิหาริย์ที่มีกับผู้คนหลากหลายประสบการณ์
ความเชื่อเรื่องจำนวนยันต์ที่อยู่ในผืนผ้า (เรียกว่า กา) นั้นมีดังนี้
1 กา ใช้พกติดตัว ช่วยในการเริ่มสร้างฐานชีวิต สร้างเนื้อสร้างตัว
2 กา ใช้สำหรับร้านเสริมสวย
3 กา ใช้สำหรับที่ที่มีอาถรรพ์ ปรับเจ้าที่เจ้าทาง
4 กา ใช้สำหรับสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม
5 กา ใช้สำหรับสถาบัน โรงเรียน ร้านหนังสือ หรือร้านสังฆภัณฑ์ เป็นต้น
6 กา ใช้สำหรับแหล่งเริงรมย์ ร้านขายของสวยงาม
7 กา ใช้สำหรับร้านก่อสร้าง ร้านการแพทย์ หรือกิจการหนักๆ
8 กา ใช้สำหรับกิจการที่ต้องมีบริวาร คุมลูกน้อง
9 กา ใช้สำหรับร้านเครื่องไฟฟ้า หรือขายสิ่งของธรรมะ
(การไหว้)
1.ส้ม 5 ลูก
2.น้ำชา 5 ถ้วย
3.ขนมแต้เหลียว 1 จาน
4.กิมฮวย 1 คู่
5.ธูป 5 ดอก
6.พวงมาลัย 1 คู่
7.ไหว้วันชิวโหงว วันที่ห้า ของวันตรุษจีน วันที่เจ้ากลับลงมาจากสวรรค์
แค่ระลึกถึงอาแปะก็เฮงแล้ว อาแปะนั้นท่านจะช่วยคนดีมีศึลธรรมที่นับถือท่านนั้นพลิกดวงชะตาให้ดีขึ้นขอบารมีจากท่านให้คุ้มครองรักษาเรา อยากได้อะไรก็บอกท่านเหมือนเราขอพรจากผู้ใหญ่ ห้ามบนและจะเด่นด้านการเสริมดวงในการทำมาหากินให้ดีขึ้น และโชคลาภ ตามบัญชาของเทพบนสวรรค์ที่ได้ให้อาแปะมาช่วยเหลือมนุษย์
มาไหว้สิ่งศักดิสิทธิ์ที่ผู้คนเคารพนับถือแล้ว อย่าลืมแวะตลาดริมวัดศาลเจ้าซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน ตลาดแห่งนี้มีบรรยากาศเรียบง่าย ไม่แออัด ร้านค้าส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ มีทั้งร้านขายอาหารไทยโบราณที่หาชิมได้ยาก อาทิ ข้าวแช่ ห่อหมกปลาช่อนเนื้อแน่นเจ้าดัง ,ปลาตะเพียนต้มเค็ม,ปลาช่อน ปลาสลิดแดดเดียว ทอดร้อนๆ,แกงส้มมะรุมเครื่องแกงเข้มข้น,ปลาดุกย่าง สะเดา น้ำปลาหวาน,เต้าเจี้ยวหลน ปูหลน น้ำพริก ผักแกล้ม อีกทั้งเมนูของหวาน กล้วยปิ้งร้อนๆ,ขนมข้าวแต๋นน้ำแตงโม,ขนมครกกะทิหวานมัน,ขนมบ้าบิ่น,ขนมครกใบเตย,ขนมเบื้องโบราณ และ ผักผลไม้สดจากสวน แต่ที่ห้ามพลาดเลยก็คือ “กุ่ยช่ายเจ๊มล” มีให้เลือกหลากหลายไส้ ทั้งเผือก หน่อไม้ มันแกว มีทั้งแบบทอดและนึ่ง
การเดินทาง จากแยกแครายวิ่งเส้นถนนสายติวานนท์ มุ่งหน้าปากเกร็ดปทุมธานี ผ่านแยกปากเกร็ดก็ขับตรงไป ผ่านแยก (สะพานนวลฉวี) ขับตรงไปทางบางพูน ก่อนถึงคอสะพานข้ามแยกบางพูนจะมองเห็นซุ้มประตูวัดมะขามอยู่ทางซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปวิ่ง ตรงไปเรื่อยประมาณ 1.5 กิโลเมตร ผ่านอนามัย ผ่านแล้วให้เลี้ยวซ้าย จะเจอวัดมะขามอยู่ทางขวา สถานที่จอดรถสามารถจอดได้ทั้งที่วัดมะขาม และ วัดศาลเจ้า วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ การจราจรภายในวัดค่อนข้างหนาแน่น