พระกริ่งเขมรน้อย พิมพ์เล็ก สมเด็จพระสังฆราช(แพ) วัดสุทัศน์ฯ
เมื่อต้องเดินทางไกลจะบูชาพระกริ่งขนาดเล็กบูชาติดตัวไปด้วยเสมอ ตามความศรัทธาว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ภายในองค์ พระกริ่งจะบรรจุ เม็ดกริ่ง ซึ่งเป็นเม็ดโลหะกลมเล็กๆ ไว้ภายใน เวลาเขย่าจะเกิดเสียงดัง เชื่อกันว่า เป็นการปัดเป่าและขับไล่สิ่งที่อัปมงคลและภูตผี คุณไสย
โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]
วันนี้มาชมพระกริ่งเขมรน้อย พิมพ์เล็ก ของสมเด็จพระสังฆราชแพ ฯ วัดสุทัศน์ พระกริ่งเขมรน้อยเป็นพิมพ์พระกริ่งบาเก็งย่อส่วน ที่เรียกเช่นนี้เพราะสมเด็จฯโปรดให้ใช้แบบพิมพ์พระกริ่งบาเก็งจากกัมพูชามาย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลง จึงเรียกว่าพระกริ่งเขมรน้อย
พระกริ่งเขมรน้อยพิมพ์เล็กองค์นี้ ความกว้างส่วนฐาน 1.6 ซ.ม. ความสูงจากฐานถึงยอดเกศ 3.4 ซ.ม. เนื้อนวโลหะ ผิวกลับสำริดอมเขียวเหมือนเมฆสิทธิ์ หรือที่เรียกสีเนื้อนี้ว่าออกเมฆสิทธิ์ บัวที่ฐาน 7 กลีบด้านหลังปาดเรียบตามแบบสำนักวัดสุทัศน์
หลัการพิจารณาพระกริ่งสายวัดสุทัศน์ ในเบื้องต้นนั้น พระกริ่งสร้างจากโลหะผสมซึ่งมีจุดหลอมเหลวของโลหะแต่ละชนิดไม่เท่ากัน โลหะเมื่อมีจุดหลอมเหลวต่างกัน การนำพาความร้อนต่างกัน เมื่อผสมผสานและแข็งตัว การประสานของเนื้อแต่ละองค์ก็ต่างกัน ทำให้สีผิวของพระกริ่งแต่ละองค์ย่อมต่างกัน
จะเห็นได้ว่าบางองค์แก่ทอง เพราะอาจมีส่วนผสมของน้ำทองมากกว่าในการเทน้ำโลหะผสมที่เข้าไปหล่อในองค์นั้น บางองค์แก่เงิน ก็เกิดจากโลหะเงินพดด้วงที่นำมาหล่อมีส่วนจุดหลอมละลายเร็วกว่าทองคำ โลหะแต่ละชนิดจะมีจุดหลอมละลายต่างกัน ทองคำจะมีจุดหลอมละลายที่มากที่สุด
หากท่านที่เคยไปในงานหล่อพระ ถ้าสังเกตุจะพบว่าทองคำจะนอนก้นในเบ้าหลอมเสมอเพราะทองคำมีมวลที่หนาแน่นกว่า และจุดหลอมเหลวของทองคำ 100 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 1,060 องศาเซลเซียส จุดหลอมเหลวของเงินที่ 962 องศาเซลเซียส และการประสานตัวระหว่างโลหะก็เป็นปัจจัยหนึ่ง และพระกริ่งแต่ละองค์เมื่อเททองออกมาแล้ว สามารถเปลี่ยนสภาพสีผิวจากการตกแต่งและการใช้งานของแต่ละคน
บันทึกจากหนังสือมรดกล้ำค่า โดยอาจารย์บุญเหลือ ออประเสริฐ กล่าวว่า พระกริ่งเขมรน้อย พิมพ์เล็ก ของสมเด็จพระสังฆราชแพ ฯ วัดสุทัศน์ ท่านจัดสร้างขณะครองสมณะศักดิ์พระพรหมมุนี อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2455-2458 เนื้อนวโลหะภายในสีนากกลับขาวแล้วกลับดำสนิท หล่อแบบกริ่งในตัว
เนื้อนวโลหะที่นำมาสร้างพระกริ่ง ประกอบด้วยโลหะเก้าอย่าง คือ ประกอบด้วย เหล็ก, ปรอท, ทองแดง, เงิน และทองคำ ทั้ง 5 ตัวแรกจะเป็นหลัก ถ้าเติมอีก 4 ชนิด คือ เจ้าน้ำเงิน, สังกะสี, ชิน และ ทองแดง(บริสุทธิ์) รวมเรียกว่านวโลหะ
สูตรหล่อพระกริ่งของวัดสุทัศน์ คือ ชินน้ำหนัก 1 บาท จ้าวน้ำเงิน น้ำหนัก 2 บาท เหล็กละลายตัว น้ำหนัก 3 บาท บริสุทธิ์ (ทองแดงบริสุทธิ์) น้ำหนัก 4 บาท ปรอท น้ำหนัก 5 บาท สังกะสี น้ำหนัก 6 บาท ทองแดง น้ำหนัก 7 บาท เงิน น้ำหนัก 8 บาท ทองคำ น้ำหนัก 9 บาท นำมาหล่อหลอมให้กินกันดี แล้วนำมาตีเป็นแผ่นแล้วจารยันต์ 108 กับ นะ ปถมัง 14 นะ
ครั้งได้ฤกษ์ยามดีก็จะพิธีลงยันต์และอธิษฐานจิตในพระอุโบสถต่อไป จากนั้นก็กลับนำมาหล่อตามฤกษ์อีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีผ้ายันต์ 8 ทิศ เป็นยันต์ลงผ้าขาวทั้งหน้าและหลัง สำหรับแขวนประจำทิศ 8 ทิศในมณฑลพิธีอีกด้วย
พระกริ่ง หรือ พระไภษัชยคุรุ ในสมัยโบราณเชื่อกันว่า เป็นรูปเหมือนพระโพธิสัตว์ที่ทรงบำเพ็ญเพียรมาโปรดสัตว์โลก มีความหมายว่า เป็นครูในด้านเภสัช การรักษาพยาบาล ลงมาจุติเพื่อโปรดสัตว์ให้รอดพ้นจากเภทภัย และปัดเป่าสิ่งอัปมงคลรวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บ จึงเป็นที่นับถือกันมากของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน
เมื่อต้องเดินทางไกลจะบูชาพระกริ่งขนาดเล็กบูชาติดตัวไปด้วยเสมอ ตามความศรัทธาว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ภายในองค์ พระกริ่งจะบรรจุ เม็ดกริ่ง ซึ่งเป็นเม็ดโลหะกลมเล็กๆ ไว้ภายใน เวลาเขย่าจะเกิดเสียงดัง เชื่อกันว่า เป็นการปัดเป่าและขับไล่สิ่งที่อัปมงคลและภูตผี คุณไสยต่างๆให้พ้นไป
การสร้างพระกริ่งนับแต่โบราณนั้น มีประวัติมากจากในประเทศทิเบตและจีน เรามักจะได้ยินชื่อเรียกว่า พระกริ่งจีนใหญ่ พระกริ่งหนองแส พระกริ่งทิเบต ต่อมาได้แพร่หลายสู่เขมในยุคต้น มีชื่อว่า พระกริ่งปทุม เป็นต้น
บันทึกจากหนังสือมรดกล้ำค่า กล่าวว่า มูลเหตุที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงสร้าง พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ นั้นมีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ ทรงเล่าว่า เมื่อพระองค์ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีสมโพธิ ครั้งนั้นสมเด็จพระวันรัต (แดง) อาพาธเป็นอหิวาตกโรค สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งยังทรงเป็นกรมหมื่นเสด็จมาเยี่ยม เมื่อรับสั่งถามถึงอาการของโรคเป็นที่เข้าพระทัยแล้ว
รับสั่งว่า เคยเห็นกรมพระยาปวเรศฯเสด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ อาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วให้คนไข้เป็นอหิวาตกโรคกินหายเป็นปกติ พระองค์จึงรับสั่งให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จไปนำพระกริ่งที่วัดบวรนิเวศ แต่สมเด็จฯทูลว่า พระกริ่งที่กุฏิมี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า จึงรับสั่งให้นำมา แล้วอาราธนาพระกริ่งแช่ น้ำอธิษฐานขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์แล้ว โรคอหิวาต์ก็บรรเทาหายเป็นปกติ ส่วนจะเป็นพระกริ่งสมัยไหนพระองค์ท่านรับสั่งว่าจำไม่ได้
หลังจากที่ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ได้ทอดพระเนตรเห็นคุณวิเศษน่าอัศจรรย์ของพระกริ่งในขณะนั้นแล้ว จึงเกิดความสนพระทัย และทรงเริ่มศึกษาค้นคว้าตำราที่จะสร้างพระกริ่งเรื่อยมา จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสร้าง จนเจนจบ เมื่อจะมีการสร้างพระกริ่งขึ้นครั้งใด พระองค์จะถูกขอร้องให้เป็นผู้ชี้แจงการสร้าง และการหล่อ ในฐานะประธานการหล่อพระกริ่งเสมอมา
พระกริ่งที่สมเด็จพระสังฆราช(แพ)ทรงสร้าง เป็นที่ต้องการของนักสะสมทุกรุ่น แถมมีค่านิยมแพงมากและหาชมได้ยาก พระองค์ท่านจะเน้นสร้างตามวาระต่างๆในห้วงวันเพ็ญเดือน 12 วันที่พระจันทร์เต็มดวง เพราะเป็นวันประสูติของพระองค์ท่าน ส่วนจะตรงกับวันอะไรนั้นก็แล้วแต่ พระองค์หล่อพระกริ่งขึ้น โดยมีจำนวนสร้างตามกำลังวันในปีนั้นๆ จึงทำให้พระกริ่งที่ทรงสร้างมีจำนวนไม่เท่ากัน และมีจำนวนไม่มากในแต่ละรุ่น
พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงคาถาบูชาพระไภษัชยคุรุว่า “ดูก่อน มัญชุศรี ถ้ามีบุตรกุลธิดาใดอันพยาธิทุกข์เบียดเบียนแล้ว ถึงตั้งจิตให้เป็นสมาธิแล้วนำพระมหาธรณีบทนี้ ปลุกเสกอาหารหรือยาหรือน้ำดื่มครบ 108 หน แล้วดื่มกินเข้าไปเถิด จักสามารถดับสรรพปวงพยาธิได้
จากกันด้วยคาถาพระมหาธรณี ซึ่งใช้อาราธนาพระกริ่งหรือพระไภษัชยคุรุ "นโม ภควเต ไภษชฺยคุรุ ไวฑูรยปรฺภาราชาย ตถาคตยารฺทเต สมฺยกฺสมฺพุทฺธาย โอมฺ ไภเษชฺเย ไภเษชฺย สมุรฺคเตสฺวาหฺ"