posttoday

อาการปวดคอ สาเหตุที่พบบ่อยและวิธีป้องกัน

29 กรกฎาคม 2562

เช็กลิสต์หาต้นตอของการปวดคอ ด้วย 4 สาเหตุที่พบบ่อย พร้อมหาวิธีป้องกัน...รู้เท่าทันก่อนปวดเรื้อรังรักษาหายยาก

เช็กลิสต์หาต้นตอของการปวดคอ ด้วย 4 สาเหตุที่พบบ่อย พร้อมหาวิธีป้องกัน...รู้เท่าทันก่อนปวดเรื้อรังรักษาหายยาก

ช่วงนี้หันไปทางไหนก็เจอแต่คนบ่นให้ฟังว่า "ปวดคอ" พอถามสาเหตุ บ้างก็ไม่รู้ บ้างว่าบอกนอนตกหมอน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มีสาเหตุที่ร้ายแรงและสามารถทุเลาลงภายในไม่กี่วัน แต่อาการปวดต้นคอที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรง อย่างการได้รับบาดเจ็บหรือป่วยเป็นโรคที่ต้องรับการรักษาจากแพทย์ หากเกิดอาการปวดต้นคออยู่เรื่อยๆ ติดต่อกันนานมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ หรือเกิดอาการชา มือและแขนอ่อนแรง หรือเจ็บแปลบที่ไหล่หรือแขน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษา

อาการปวดคอ สาเหตุที่พบบ่อยและวิธีป้องกัน

สาเหตุของอาการปวดคอที่พบบ่อย

1.พฤติกรรมไม่เหมาะสมที่ทำซ้ำๆ

  • ติดโทรศัพท์มือถือ คนที่เล่นโทรศัพท์มือถือบ่อยๆ ล้วนเสี่ยงต่ออาการปวดหลัง เนื่องจากมักจะก้มหน้าตลอดเวลา การก้มหน้านานๆ ก่อให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อหลังส่วนบน ทำให้ปวดคอได้
  • นอนผิดท่า ท่านอนก็มีผลต่ออาการปวดคอเช่นกัน การนอนผิดท่า นอนตกหมอน หมอนไม่ตรงกับสรีระ หมอนสูงหรือต่ำเกินไป ล้วนก่อให้เกิดอาการปวดหลัง ดังนั้นจึงควรเลือกหนุนหมอนให้เหมาะกับตัวเอง หากปวดคอมากๆ อาจหันมาเลือกใช้หมอนโฟมหรือหมอนที่ผลิตมาเพื่อผู้ที่ประสบปัญหานี้โดยเฉพาะ น่าจะพอทำให้อาการปวดคอลดลง
  • ออกกำลังกายหนักเกินไป การออกกำลังกายหนักเกิน หรือฝืนขีดจำกัดของตัวเอง ทำให้เกิดอาการปวดคอได้ โดยเฉพาะการเล่นเวทเทรนนิ่ง และการยกน้ำหนัก การรู้ขีดจำกัดของตัวเอง ไม่ฝืนร่างกายจนเกินไป รวมไปถึงการวอร์มอัพก่อนออกกำลังกาย น่าจะช่วยลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้
  • สะพายกระเป๋าหนัก หลายๆ คน โดยเฉพาะผู้หญิง มักใส่ของทุกอย่างลงในกระเป๋าสะพายประหนึ่งว่าจะแบกบ้านไปด้วย ซึ่งการที่เราแบกกระเป๋าหนักๆ ทุกวันแบบนี้ มีส่วนทำให้สายสะพายของกระเป๋าไปกดไหล่ลง ทำให้ปวดคอและไหล่ ดังนั้นหากเกิดอาการปวดคอ ให้ลองเช็กน้ำหนักของกระเป๋าสะพายดูก่อน อาจจะทำให้อาการดีขึ้นได้

ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง เป็นอาการปวดต้นคอที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากกล้ามเนื้อแข็งเกร็งนั้นมาจากกิจกรรมหรือพฤติกรรมในการใช้งานกล้ามเนื้อคอที่ผิดท่าและนานเกินไป รวมทั้งการจัดวางระเบียบท่าทางไม่ถูกต้อง

2.การได้รับบาดเจ็บที่คอ 

คอถือเป็นอวัยวะเปราะบาง เสี่ยงได้รับบาดเจ็บได้ง่าย โดยอาการบาดเจ็บที่คอเกี่ยวเนื่องกับการที่ศีรษะถูกกระชากทันที มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับการกระทบกระเทือนโดยไม่ทันตั้งตัว เช่น รถชน เป็นต้น ภาวะดังกล่าวทำให้ข้อต่อหรือเอ็นของคอได้รับความเสียหาย นอกจากอาการปวดต้นคอและคอแข็งแล้ว การได้รับบาดเจ็บที่คอยังทำให้กล้ามเนื้อคอตึง เคลื่อนไหวคอได้น้อยลงและจะเจ็บเมื่อต้องหันคอ รวมทั้งปวดหัวด้วย

3.ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม

มักเป็นสาเหตุอาการปวดต้นคอในผู้สูงอายุ บางครั้งก็เรียกภาวะนี้ว่า โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) มักไม่ปรากฏอาการ หากกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมอยู่ใกล้เส้นประสาทจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บลามไปตั้งแต่แขน เป็นเหน็บ และชาที่มือและขา ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีส่วนใหญ่จะเกิดกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมโดยอาจไม่มีอาการปวดต้นคอ

4.เส้นประสาทถูกกด

อาการปวดต้นคอที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดนั้นมีสาเหตุมาจากโรครากประสาทคอ (Cervical Radiculopathy) โดยส่วนใดส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลังที่อยู่ระหว่างข้อกระดูกสันหลังนั้นแยกออกและมีเจลข้างในกระดูกนูนออกมาข้างนอกใกล้กับเส้นประสาท พบในผู้สูงอายุได้บ่อยกว่า เนื่องจากกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อมและสูญเสียมวลน้ำเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้กระดูกขาดความยืดหยุ่นและเสี่ยงต่อการกระดูกแยกได้ง่าย นอกจากปวดต้นคอแล้ว อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกชา เกิดอาการเหน็บชา แขนบางส่วนเจ็บและอ่อนแรง ผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ ทั้งนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยบางราย

การป้องกันอาการปวดคอ

ส่วนใหญ่แล้ว อาการปวดต้นคอมักมีสาเหตุมาจากการจัดวางท่าทางไม่ถูกต้อง รวมทั้งภาวะกระดูกเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น การตั้งศีรษะให้ตรง อยู่ตรงกลางตามแนวกระดูกสันหลังคือวิธีป้องกันอาการดังกล่าว ซึ่งมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้

  1. จัดท่าทางให้ถูกต้อง เมื่อยืนหรือนั่งควรให้ไหล่ตั้งตรงอยู่ในแนวเดียวกับสะโพก เช่นเดียวกับใบหูที่อยู่เหนือไหล่ในแนวเดียวกัน
  2. ควรเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ไม่ควรนั่งทำงานท่าเดิมนานเกินไป
  3. จัดโต๊ะทำงาน โดยให้หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตา ปรับเก้าอี้ให้นั่งแล้วหัวเข่าอยู่ต่ำกว่าสะโพกเล็กน้อย และใช้เก้าอี้ทำงานที่มีที่พักแขน
  4. ไม่ควรคุยโทรศัพท์โดยแนบไว้ระหว่างไหล่กับหู ควรเปิดลำโพงหรือใช้หูฟังในการคุยโทรศัพท์แทน
  5. หยุดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้เสี่ยงเกิดอาการปวดต้นคอได้สูง
  6. ไม่ควรแบกหรือสะพายกระเป๋าหนักๆ ไว้บนไหล่ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
  7. ควรนอนให้ศีรษะและคออยู่ในแนวเดียวกับร่างกาย โดยใช้หมอนเล็กๆ รองคอไว้ นอนราบให้หลังติดที่นอนและใช้หมอนรองต้นขาให้สูงขึ้น