สมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ 7 ชั้นนิยมพิมพ์ A
การแตกกรุของพระสมเด็จวัดเกศไชโย เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2430 เมื่อพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด กัลยาณมิตร) เป็นแม่งานในการบูรณะวัดไชโยใหม่
โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]
อกร่อง หูบายศรี มีขอบกระจก คือเอกลักษณ์พระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์ที่นิยมเล่นหาสะสมกันในวงการ 3 พิมพ์หลัก คือพิมพ์เจ็ดชั้นนิยม, พิมพ์หกชั้นอกตัน , และพิมพ์หกชั้นอกตลอด ส่วนที่เหลือรองลงมาก็เช่นพิมพ์เจ็ดชั้นหูบายศรี และอีก 10 กว่าพิมพ์ที่มีการบันทึกการค้นพบหลังจากกรุแตก
มาชมพระสมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ 7 ชั้นนิยมพิมพ์ A เป็นพระเนื้อแก่ปูนที่สวยมากที่สุดองค์หนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าไม่ผ่านการใช้งานมาเลย เหมาะสำหรับเป็นองค์ครูเพื่อการศึกษาได้เป็นอย่างดี
สำหรับพระที่ไม่ผ่านการใช้งานมาและมีจุดพิจารณามากแบบนี้ บางคราวก็ไม่อาจนำไปเทียบกับพระที่ผ่านการใช้งานมา เพราะจุดพิจารณาบางจุดอาจจะสึกหรอเพราะการใช้งานหรือการสัมผัสมา สิ่งสำคัญคือ พิมพ์ต้องถูก เนื้อหาต้องใช่
จุดพิจารณาที่สำคัญของพระสมเด็จวัดเกศไชโย 7 ชั้นนิยมพิมพ์เอ คือ
1. เกศ คล้ายปลีกล้วย หรือเปลวเพลิง ป่องตรงกลาง ระดับการตั้งของเกศจะกินมาทางซ้ายของศีรษะองค์พระ(ฝั่งขวามือเรา) ลักษณะการตั้งเอียงจะไปทางขวาองค์พระ(ซ้ายมือเรา)เล็กน้อย ถือเป็นจุดพิจารณาสำคัญ 2. หู เป็นหูบายศรี บางองค์หูข้างซ้ายจะสูงกว่าหูข้างขวา บางองค์หูข้างขวาจะสูงกว่าหูข้างซ้าย น่าจะขึ้นอยู่กับการกดพิมพ์ 3.ใบหน้า กลมเหมือนเม็ดพริกไทย(นูนกลมเล็ก)
4. คอ จะเห็นเป็นลำติดกับใบหน้า จุดสำคัญคือลำคอจะไม่ตั้งตรง จะเอียงไปทางขวาขององค์พระ(ซ้ายมือเรา) ลำคอส่วนบนจะใหญ่กว่าลำคอส่วนล่าง ในองค์ที่ติดชัดจะเห็น เส้นคอจะเห็นแยกเป็นสองเส้น 5. ช่วงโคนแขนและหัวไหล่จะมองเหมือนอินธนูวางบนบ่า(ในองค์พระที่ติดคมชัด ) 6. ข้อศอกขวาขององค์พระจะหักมุมมากกว่าข้อศอกซ้าย (มองเหมือนวางเป็น 3 ส่วน) และเนื้อช่วงศอกซ้ายองค์พระ(ขวามือเรา)จะหนากว่าช่วงศอกขวามือองค์พระ 7. หน้าอกฝั่งซ้ายมือองค์พระ(ขวามือเรา) จะมีรอยยุบ และ ส่วนที่เป็นรากฟันลงมาจะลาดลงต่ำก่อนแล้วสูงขึ้นลงมาบรรจบกับหน้าตักพอดี
8. มุมขวาบนของกรอบกระจกองค์พระ มองไปคล้ายชายธงและจะเป็นแอ่งเล็กๆ และกรอบกระจกส่วนนี้จะลาดเอียงลงมาทางซ้ายมือเรา 9.กรอบกระจกมุมบนซ้ายองค์พระมักจะมีรอยจิก 10.จะสังเกตเห็นเป็นติ่งปลายแหลมที่หัวเข่าขวาองค์พระ(ซ้ายมือเรา) ในองค์ที่สมบูรณ์ 11. ฐานชั้นแรกเป็นฐานสำเภา 12. ฐานชั้นที่สี่จะแอ่นขึ้น(จุดพิจารณาสำคัญ) 13.ฐานชั้นที่ห้าแอ่นลง(จุดพิจารณาสำคัญ) 14.ปลายฐานชั้นล่างสุดทั้งสองข้าง จะเห็นเหมือนสลักเดือยวิ่งเข้าชนเส้นครอบแก้ว
15.ปลายฐานชั้นล่างสุดด้านขวาองค์พระ(ซ้ายมือเรา)จะมีเนื้อเกินลาดลงมากับพื้น 16.ปลายฐานชั้นล่างสุดทางซ้ายขององค์พระจะแหลมคมกว่าทางด้านขวาเหมือนสลักเดือยแทงเข้าไปในเส้นซุ้ม 17.มีเนื้อเกินข้างกรอบกระจกระหว่างฐานชั้นที่สองและฐานชั้นที่สามฝั่งขวามือองค์พระ 18.ใต้กรอบกระจกล่างสุด หงายองค์พระขึ้น ใต้เส้นกรอบกระจกจะเห็นเส้นทิวบางๆ
19. ในองค์ที่แตกลายงาอย่างองค์นี้ จะเป็นเส้นที่ไม่ตรงต่อเนื่องกันทั้งองค์ 20. ขอบพระจะมีรอยขัดแต่ง 21. รูพรุนจะปรากฏทั่วทั้งหน้าและหลังอันเกิดจากอินทรีย์สารอันเป็นส่วนผสมสลายและหลุดไปตามกาลเวลา 22.ด้านหน้าและด้านหลังจะมีเม็ดมวลสารกระจายอยู่ทั่วขนาดไม่เท่ากันเป็นไปตามธรรมชาติและมีหลุมบ่ออันเกิดจากเม็ดมวลสารที่หลุดไป และ 23.ด้านหลังจะมีรอยนิ้วมือและรอยขัดแต่งจุดพิจารณาที่สำคัญอีกจุดคือ รอยเนื้อเน่าที่เป็นจ้ำๆต่างๆอันเกิดจากส่วนผสมน้ำมันตังอิ๊วตัวประสานที่ระเหิดไปกาลเวลาและทิ้งร่อยรอยไว้
เนื้อพระสมเด็จวัดเกศไชโย มีทั้งลักษณะเนื้อละเอียด (มา และละเอียดปานกลาง) และประเภทเนื้อหยาบ (มาก และปานกลาง) และพระเนื้อนุ่มหรือเนื้อจัด ซึ่งจะมีทั้งพระที่แตกลายงาและพระที่ไม่แตกลายงา ส่วนสีพระนั้นส่วนมากมีสีขาวขุ่นอมเหลืองอ่อน และสีขาวอมเหลืองแก่ หากองค์ไหนผ่านการใช้งานจัด สัมผัสเหงื่อมามากจะออกสีน้ำตาล ตาหากนำไปล้างน้ำอุ่นจะเกิดคราบแป้งออกมาให้เห็นนอกผิวพระ
ด้านขนาดองค์พระของพระสมเด็จวัดเกศไชโยนั้น มีทั้งแบบตัดปีกกว้าง และตัดชิดขอบกระจก ชนิดตัดปีกกว้างจะมีขนาด 2.5x3.5 ซม. ส่วนชนิดตัดชิดกรอบกระจกนั้น จะมีขนาด 2.3x3.4 ซม.และส่วนใหญ่ที่พบเห็นชนิดตัดปีกกว้างจะมีความหนามากกว่าชนิดตัดชิดกรอบกระจก
มีบันทึกว่าการสร้างพระสมเด็จวัดเกศไชโยนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ท่านได้เริ่มสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ.2404 เพื่อเตรียมบรรจุในพระพุทธรูปใหญ่ที่สร้างขึ้นในครั้งแรก แต่พระพุทธรูปใหญ่เกิดพังลงมาเสียก่อน จึงได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ขึ้นใหม่ครั้งที่สองจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2406-2407 จึงได้นำพระสมเด็จแบบยกขอบกระจกนี้มาบรรจุไว้ในพระพุทธรูปใหญ่
การแตกกรุของพระสมเด็จวัดเกศไชโย เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2430 เมื่อพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยารัตนบดินทร(บุญรอด กัลยาณมิตร) เป็นแม่งานในการบูรณะวัดไชโยใหม่ เมื่อมีการสร้างวิหารครอบองค์พระพุทธรูปใหญ่ จำเป็นต้องมีการกระทุ้งฐานราก พระพุทธรูปใหญ่ทนแรงสั่นสะเทือนไม่ไหวได้พังทลายลง เป็นเหตุให้พบพระเครื่องสมเด็จที่บรรจุกรุหล่นกระจายเกลื่อนทั่วไป
ถึงแม้นจะมีบันทึกของพระยาทิพโกษา( สอน โลหะนันท์ ) ที่บันทึกจากการบอกเล่าของ พระธรรมถาวร จันทโชติ สามเณรที่ช่วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตำผงเพื่อสร้างพระสมเด็จประมาณ ปี พ.ศ.2409 ที่วัดระฆังฯ ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) เป็นผู้สร้างสมเด็จวัดเกศไชโยขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับโยมมารดาที่ชื่อเกศก็ตาม
แต่ก็ยังมีความกังขาจากนักสะสมพระเครื่องในอดีตว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสี เป็นผู้สร้างพระสมเด็จวัดเกศไชโยหรือไม่ เพราะมีการพบพระพิมพ์เดียวกันที่กรุอื่นนอกเหนือจากที่แตกที่วัดเกศไชโย จนกระทั่งพระสมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ใหญ่นิยม 7 ชั้นพิมพ์เอ และพิมพ์หกชั้นอกตลอด ได้ถูกค้นพบคราวเปิดกรุพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เมื่อคราวเปิดกรุอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ.2500 ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญเชื่อโยงว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) เป็นผู้สร้างสมเด็จวัดเกศไชโยนั่นเอง