สมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ 6 ชั้นอกตัน และจุดพิจารณาสำคัญ
การพิสูจน์พระสมเด็จแท้หรือเก๊ง่ายนิดเดียว โดยสะกิดเนื้อพระหรือพระมีรอยแยกย่นขอบข้างหรือด้านหลังองค์พระ และละลายผงขิ้นในน้ำ และหยดลงไปนิดหนึ่ง ถ้าเนื้อพระไม่เปลี่ยนสีก็คือแท้
โดย อ.อาชวินทร์ [email protected]
สมเด็จวัดเกศไชโยอันมีเอกลักษณ์คือ กรอบกระจก อกร่อง หูบายศรี มี 3 พิมพ์ที่เป็นที่ต้องการของนักสะสมพระเครื่องคือ พิมพ์ 7 ชั้น นิยมเอ พิมพ์ 6 ชั้นอกตัน และพิมพ์ 6 ชั้นอกตลอด
ครั้งที่แล้วได้ชมพิมพ์ 7 ชั้น นิยมเอ พร้อมกับจุดพิจารณาที่สำคัญมาแล้ว วันนี้มาชม พิมพ์สำคัญอีกพิมพ์หนึ่ง และเป็นที่นิยมอย่างมากเช่นกัน คือ พิมพ์ 6 ชั้นอกตันครับ
ที่นำมาให้ชมเป็นพิมพ์ 6 ชั้นอกตัน ซึ่งเป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมรองลงมาจาก พิมพ์ 7 ชั้นนิยมของวัดเกศไชโย โดยนำมาเปรียบเทียบให้เห็นทั้งสภาพสวยคมและสภาพใช้งาน ซึ่งมีจุดพิจารณาสำคัญให้เห็นเด่นชัด เพื่อเป็นแนวทางศึกษาครับ
รูปเปรียบเทียบสำหรับพระที่ไม่ผ่านการใช้งานมา และมีจุดพิจารณามากแบบนี้ บางคราวก็ไม่อาจนำไปเทียบกับพระที่ผ่านการใช้งานมา เพราะจุดพิจารณาบางจุดอาจจะสึกหรอ เพราะการใช้งานหรือการสัมผัสมา สิ่งสำคัญคือ พิมพ์ต้องถูก เนื้อหามวลสารต้องใช่
นอกจากเนื้อหามวลสารแล้ว มาดูจุดพิจารณาของพิมพ์ 6 ชั้นอกตัน คือ
1.เส้นกรอบกระจก ด้านขวาขององค์พระจะสูงกว่าด้านซ้ายเล็กน้อย
2.เส้นซุ้ม ด้านบนตรงกลางจะมีเนื้อหนากว่าทั้ง 2 ข้าง และมีลักษณะโค้งได้รูปสวยงามเหมือนพิมพ์ 7 ชั้น
3.พระเกศ มีลักษณะเป็นรูปทรงกรวยเรียวเล็กจรดเส้นซุ้ม
4.พระพักตร์(ใบหน้า) ลักษณะเป็นรูปไข่
5.พระกรรณ(หู) ลักษณะเหมือนพระจันทร์เสี้ยว
6.เส้นลำองค์พระจะเหมือนรากฟันยาวลงมาจรดมือ
7.บริเวณลำคอจะมีเส้นขีดเล็กในองค์ที่ติดชัด
8.แขนขวาเป็นวงโค้งกว่า และเนื้อหนากว่าแขนซ้าย
9.ช่องว่างของแขนด้านขวาองค์พระ จะกว้างกว่าด้านซ้ายอย่างเห็นได้ชัด
10.การหักศอกของแขนทั้งสองฝั่งจะไม่เท่ากัน ที่สำคัญต้องส่องเห็นความลึกในพิมพ์เป็นมิติ
11.หน้าตักลักษณะคล้ายรูปเรือและเข่าด้านซ้ายองค์พระจะสูงกว่าด้านขวาเล็กน้อย
12.นอกเส้นซุ้มฝั่งซ้ายมือองค์พระช่วงล่างตั้งแต่ฐานชั้นที่ 1 ลงมาสังเกตที่นอกเส้นซุ้มจะมีร่องเป็นทางยาว
13.ฝั่งขวามือองค์พระมีร่องยาวระหว่างเส้นซุ้มด้านนอกและกรอบกระจก
14.เส้นฐานทั้งหมด 6 ชั้น และแต่ละชั้นค่อนข้างอวบ ส่วนปลายแหลมเรียวทั้งสองข้าง ช่องว่างระหว่างฐานมีความลึกเป็นมิติ
15.ใต้เส้นซุ้มฝั่งขวาองค์พระล่างสุด ในองค์ที่ติดชัดเอียงขึ้นมาจะเห็นเส้นแตกเรียวเล็กอ่อนพลิ้ว 1 เส้น
16. ขอบพระจะมีรอยขัดแต่งอย่างชัดเจนทุกด้าน และมีมองเห็นเป็นลักษณะ 2 ชั้น
17. รูพรุนจะปรากฏทั่วทั้งหน้าและหลัง อันเกิดจากอินทรีย์สารเช่นกล้วย ข้าว เกสรดอกไม้ต่างๆ ที่สมเด็จโต ท่านนำมาเป็นส่วนผสม ย่อยสลายและหลุดไปตามกาลเวลาของอายุพระเครื่อง 150 กว่าปี
18.ด้านหน้าและด้านหลังจะมีเม็ดมวลสารกระจายอยู่ทั่วขนาดไม่เท่ากัน เป็นไปตามธรรมชาติและมีหลุมบ่ออันเกิดจากเม็ดมวลสารที่หลุด หรือย่อยสลายไปตามธรรมชาติ
19.ด้านหลังจะมีรอยนิ้วมือและรอยขัดแต่งจุดพิจารณา ที่สำคัญอีกจุดคือรอยเนื้อเน่าที่เป็นจ้ำๆต่างๆ อันเกิดจากส่วนผสมน้ำมันตังอิ๊ว ตัวประสานที่ระเหิดไปกาลเวลาและทิ้งร่องรอยไว้
วรรณะเนื้อพระทั้งสององค์จะเห็นความแตกต่าง แต่โทนสีขาวอมเหลืองก็เป็นตามแบบของวัดเกศไชโย จะเห็นได้ว่า พระองค์ที่ผ่าน การสัมผัสมา โดนเหงื่อมา จนกระทั่งเหงื่อเข้าถึงเนื้อพระ ส่วนที่โดนสัมผัสก็จะพบการสึกหรอ เปิดผิว ส่วนที่ไม่โดนสัมผัสแต่โดนเหงื่อ สีของพระก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ
เนื้อพระสมเด็จวัดเกศไชโย มีทั้งลักษณะเนื้อละเอียดและประเภทเนื้อหยาบจะสังเกตเห็นมวลสารทั้งเม็ดสีขาว จุดแดง จุดดำ ขนาดความกว้าง 2.3 ซม.สูง 3.4 ซม.
ส่วนสีพระนั้นส่วนมากมีสีขาวขุ่นอมเหลืองอ่อน และสีขาวอมเหลืองแก่ หากองค์ไหนผ่านการใช้งานจัด สัมผัสเหงื่อมามากจะออกสีน้ำตาล หากนำไปล้างน้ำอุ่นจะเกิดคราบแป้งออกมาให้เห็นนอกผิวพระ
นอกจากการสังเกตและศึกษาจากพิมพ์และเนื้อหามวลสารโดยการเปรียบเทียบแต่ละองค์จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้แล้ว ยังมีเคล็ดลับการตรวจเช็คจากคำพังเพยโบราณคือ ขมิ้นกับปูน ย่อมเข้ากันไม่ได้ (ถ้าเป็นปูนใหม่จะมีปฏิกิริยาทางเคมีออกมา)
กูรูรุ่นใหญ่ขออนุญาตเอ่ยนามคือ กำนันชูชาติ มากสัมพันธ์ ได้ให้ข้อแนะนำว่า การพิสูจน์พระสมเด็จแท้หรือเก๊ง่ายนิดเดียว โดยสะกิดเนื้อพระหรือพระมีรอยแยกย่นขอบข้างหรือด้านหลังองค์พระ และละลายผงขิ้นในน้ำ และหยดลงไปนิดหนึ่ง ถ้าเนื้อพระไม่เปลี่ยนสีก็คือแท้ (เพราะปูน 100 กว่าปี ผลทางเคมีหมดไปแล้ว) ถ้าเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีหมากสุก ก็แปลว่าพระเก๊ไม่ทันสมเด็จโตฯ ท่านแน่นอน