คัมภีร์พระพุทธศาสนาอายุ 2,000 ปี จากนอร์เวย์สู่ประเทศไทย
...สมาน สุดโต
พระราชปฏิภาณมุนี (บุญมา อาคมปุญโญ ป.ธ.8) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส ประธานองค์การเผยแผ่วัดประยุรวงศาวาส รองหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 1 ประธานโครงการเผยแผ่ธรรมในโรงแรม 5 ดาว หนึ่งในพระราชาคณะ 3 รูปที่เดินทางไปอัญเชิญพระคัมภีร์พระพุทธศาสนาโบราณจากประเทศนอร์เวย์มาสู่ประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ศึกษาและบูชา มาถึงประเทศไทยเมื่อเช้าวันที่ 8 พ.ย. 2553 พร้อมคณะที่มีพระธรรมสิทธินายก (ธงชัย) วัดสระเกศ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายสงฆ์ และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายฆราวาส ได้ติดตามพิธีต้อนรับพระคัมภีร์อันยิ่งใหญ่ที่รัฐบาลจัดขึ้นทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและที่พุทธมณฑล นครปฐม ด้วยความปีติตลอดเวลา โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลียจากการบินกว่า 9 ชั่วโมงจากยุโรปมาประเทศไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้อาจเป็นปีติที่ได้มีส่วนร่วมอัญเชิญพระคัมภีร์พุทธศาสนาที่ศักดิ์สิทธิ์ อายุนับพันปี อยู่รอดปลอดภัยจากมารผู้มุ่งทำลายล้างมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนักก็เป็นได้
ท่านเห็นความอัศจรรย์พระคัมภีร์ในหลายๆ เรื่อง เช่น การรวมตัวกันของนักภาษาศาสตร์นานาชาติเพื่อแปลพระคัมภีร์ การให้ความสำคัญต่อพระคัมภีร์ และการรักษาความปลอดภัย เก็บรักษาพระคัมภีร์ด้วยมาตรฐานที่สูงมาก
ส่วนการนำข้อความในพระคัมภีร์ออกเผยแผ่นั้น นักวิชาการทางอักษรศาสตร์จากประเทศใหญ่ๆ 12 ประเทศ ไม่ว่า จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และอัฟกานิสถาน อาสามาทำงานนี้กันถ้วนหน้า ถามว่าทำไมเขาทุ่มเทให้มาก คำตอบคือคัมภีร์นี้จารึกพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งรอดพ้นจากการทำลายมาได้ แสดงว่าของนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์และยังมีประโยชน์มหาศาลต่อชาวโลก เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้ามุ่งให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีความรักและสามัคคี จารึกครบทั้งพระสุตันตปิฎก พระวินัยปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก
จากความพยายามของนักวิชาการทางอักษรศาสตร์ สามารถแปลออกเป็นภาษาปัจจุบัน (ของนอร์เวย์) และพิมพ์ออกมาแล้ว 12 เล่ม จากจำนวน 5,000 ชิ้น ที่เขานำมาปะติดปะต่อเรียงข้อความให้อ่านได้ ยังเหลืออีกประมาณ 8,000 ชิ้น
ส่วนที่เหลือนั้นทราบมาว่ามีนักอักษรวิทยานานาชาติอาสาสมัครมาช่วยปะติดปะต่อและแปลออกมาเพิ่มเติมอีก
ถามว่าในฐานะชาวพุทธรู้สึกตื่นเต้นไหม ท่านบอกว่า อย่าว่าแต่ชาวพุทธเลย ชาวนอร์เวย์ที่ไปร่วมพิธีเต็มห้องประชุมมหาวิทยาลัยออสโลในวันส่งมอบพระคัมภีร์ ต่างพากันเงียบกริบเมื่อได้ยินพระสงฆ์ทั้งมหายานและหินยานสวดชัยมงคลคาถาขณะที่ทำพิธีรับมอบพระคัมภีร์นั้น
อธิการบดีมหาวิทยาลัยออสโลเป็นผู้ส่งมอบพระคัมภีร์ต่อผู้แทนรัฐบาลไทย นำโดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ และฝ่ายสงฆ์นำโดยพระธรรมสิทธินายก
เมื่อถึงประเทศไทย รัฐบาลไทยจัดพิธีต้อนรับพระคัมภีร์พุทธศาสนาโบราณเก่าแก่ที่สุดในโลก อายุกว่า 2,000 ปี อย่างยิ่งใหญ่ ทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและที่พุทธมณฑล
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พระคัมภีร์พุทธศาสนาโบราณเก่าแก่นี้เก็บรักษาที่สถาบันสเคอร์เยน ประเทศนอร์เวย์ รัฐบาลไทยได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นระยะเวลานาน 90 วัน ระหว่างวันที่ 9 พ.ย. จนถึงวันที่ 5 ก.พ. 2554 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา และเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยได้สักการบูชาและศึกษา
การอัญเชิญพระคัมภีร์โบราณเป็นความร่วมมือระหว่างมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รัฐบาลไทยและรัฐบาลนอร์เวย์ เพราะประเทศไทยและประเทศนอร์เวย์มีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเวลานาน ตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์แห่งทวีปเอเชียพระองค์แรกที่เสด็จฯ ไปยังแหลมเหนือ นอร์ดเคปป์ โดยชาวนอร์เวย์ได้รู้จักรัชกาลที่ 5 ว่า “King Chulalongkorn of Siam”
นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ได้แบ่งนิทรรศการออกเป็น 8 หมวด คือ หมวดที่ 1 แคว้นคันธาระ หมวดที่ 2 การค้นพบคัมภีร์โบราณ หมวดที่ 3 โครงการชำระแปลคัมภีร์โบราณ หมวดที่ 4 คัมภีร์โบราณว่าด้วยพระสูตร หมวดที่ 5 คัมภีร์โบราณว่าด้วยพระวินัย หมวดที่ 6 คัมภีร์โบราณว่าด้วยพระอภิธรรม หมวดที่ 7 คัมภีร์โบราณว่าด้วยประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา หมวดที่ 8 ตุ่ม ภาชนะบรรจุคัมภีร์โบราณ
พระคัมภีร์นี้จัดว่าเป็นธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของพุทธเจดีย์ ได้แก่ ธาตุเจดีย์ คือพระบรมสารีริกธาตุ บริโภคเจดีย์ ได้แก่ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล อันได้แก่ ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ธรรมเจดีย์ ได้แก่ จารึกข้อพระธรรมที่เป็นหัวใจพระศาสนาเอาไว้บูชา อุเทสิกเจดีย์ ได้แก่ สิ่งที่ระลึก เช่น พระพุทธรูป
สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เปิดให้ชาวไทยได้เยี่ยมชมศึกษาข้อมูลและสักการบูชาทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.0018.00 น. และมีหนังสือคู่มือรายละเอียดของธรรมเจดีย์แจกให้ด้วย
คัมภีร์โบราณที่เก่าแก่ถูกเก็บไว้ในถ้ำเทือกเขาบามิยัน ห่างจากคาบูล เมืองหลวงอัฟกานิสถาน ประมาณ 205 ไมล์ สันนิษฐานว่าเป็นผลงานของพระอรหันต์ ในฝ่ายมหายาน ที่ได้รับการบันทึกขึ้นอายุประมาณ 1,3001,900 ปี ที่ค้นพบเป็นความบังเอิญของชาวอัฟกานิสถานที่หนีภัยสงครามที่รุกรานโดยกลุ่มตาลีบันเข้าไปหลบอยู่ในถ้ำ เทือกเขา จึงพบเข้า
เทือกเขาบามิยันถือว่าเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา มีพระพุทธรูปสูงใหญ่ที่สุดในโลกที่สลักจากศิลา ใน พ.ศ. 1050 จำนวน 2 องค์ สูง 38 เมตร และ 55 เมตร แต่ถูกกลุ่มตาลีบันใช้ปืนใหญ่ยิงทำลายลงเมื่อเดือน มี.ค. 2544
หุบเขาบามิยันนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหม ระหว่าง จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป มีการค้นพบศาสนสถานทางศาสนาพุทธและฮินดูเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 แห่ง เป็นหนึ่งในจุดศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาในบริเวณนั้นมาก่อนที่ศาสนาอิสลามเข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13
คัมภีร์พุทธเก่าแก่ในถ้ำอัฟกานิสถาน!
เดือน ธ.ค. 2539 เจนส์ บราร์วิก ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีแห่งศูนย์การศึกษาก้าวหน้า นอร์เวย์ ได้ไปร่วมประชุมวิชาการที่เมืองไลเดน ผู้ร่วมประชุมคนหนึ่งได้เล่าให้เขาฟังว่า แซม ฟ็อกก์ พ่อค้าของเก่าแห่งนครลอนดอน ได้ขายชิ้นส่วนเอกสารโบราณของพุทธศาสนาจำนวน 108 ชิ้น แก่นักสะสมชาวนอร์เวย์ชื่อ มาร์ติน สเคอร์เยน (Martin Schoyen) ผู้เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์เอกสารโบราณที่ใหญ่ที่สุดของโลก พอได้ยินดังนั้น บราร์วิกเกิดความสนใจอย่างแรงกล้า จึงได้ไปพบกับสเคอร์เยนเพื่อขอศึกษาเอกสารดังกล่าว ซึ่งสเคอร์เยนก็ยินดีให้ความร่วมมือ และยังบอกเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าที่ฟ็อกก์จะขายเอกสารให้เขานั้น ฟ็อกก์ได้ติดต่อนักโบราณคดีชื่อ ลอเร แซนเดอร์ ให้ช่วยเขียนอธิบายความเป็นมาของเอกสารนี้ ซึ่งเมื่อแซนเดอร์นำไปวิเคราะห์ก็พบว่าคัมภีร์ถูกจารึกเป็นภาษาสันสกฤต ในช่วงราว พ.ศ. 540940 เป็นคัมภีร์ในพุทธศาสนาที่ว่าถึงพระสูตร พระวินัย ตลอดจนจารึกเหตุการณ์ต่างๆ หลากหลาย บางเรื่องก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่เอกสารอีกหลายชิ้นมีเรื่องราวที่ไม่เคยปรากฏให้โลกรู้มาก่อน และเรียกได้ว่าเป็นเอกสารสำคัญที่เก่าแก่ที่สุดของพุทธศาสนา (ที่มีหลักฐานเหลืออยู่)
พระคัมภีร์พุทธศาสนาเหล่านี้จารึกอยู่บนแผ่นวัสดุต่างๆ ได้แก่ ใบลาน เปลือกไม้ (เปลือกต้นเบิช (Birsh) เป็นไม้เนื้อสีขาว ทนทานอยู่ทางภาคเหนือของอินเดีย เปลือกแกะจากต้นง่าย สามารถนำมาติดเป็นม้วนยาวได้) และหนังแกะ เจาะรูแล้วร้อยด้ายรวมไว้เป็นเล่ม บางเล่มอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แต่ที่เป็นเศษเล็กเศษน้อยนั้นมีจำนวนมาก และเมื่อสืบหาข้อมูลต่อไป บราร์วิกก็พบว่าแหล่งที่มาของเอกสารสำคัญลํ้าค่านี้มิใช่อื่นไกล แต่เป็นถํ้าต่างๆ แห่งเขาบามิยันในอัฟกานิสถานนั่นเอง
หลังจากได้รู้ถึงแหล่งที่มาของพระคัมภีร์พุทธแล้ว จึงพยายาม “ขนย้าย” พระคัมภีร์ที่ยังเหลือตกค้างอยู่ในอัฟกานิสถานออกมาเก็บรักษาเอาไว้โดยใช้วิธีการทุกรูปแบบ เอกสารพระคัมภีร์ที่ทยอยนำมานั้น เมื่อรวมกันตั้งแต่ต้นแล้ว ปัจจุบันมีอยู่ราวๆ 5,000 ชิ้น ที่ยังเป็นรูปเป็นร่าง กล่าวคือเป็นชิ้นส่วนของแผ่นจารึก ใบลาน เปลือกไม้และหนังแกะ ที่มีขนาดตั้งแต่ 2 ตารางเซนติเมตร ไปจนเป็นแผ่นที่สมบูรณ์ นอกนั้นเป็นเศษเล็กๆ อีกราว 8,000 ชิ้น เมื่อได้รับชิ้นส่วนพระคัมภีร์มาแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์จะทำความสะอาดจัดเตรียมเก็บ ทำก๊อบปี้ และลงหมายเลขกำกับแต่ละชิ้นไว้ เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป
ในการ “ชำระ” คัมภีร์ที่ได้มา เป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยผู้รู้จำนวนมาก จึงดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 โดยการสัมมนาครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2540 และท้ายสุดครั้งที่ 4 เมื่อเดือน พ.ค. 2542 ที่เมืองเกียวโต ญี่ปุ่น โดยมีการเชิญนักโบราณคดีนานาชาติมาร่วมงาน มีการจัดพิมพ์เผยแพร่บางเรื่องที่ได้แปลและเรียบเรียงเสร็จแล้ว เช่น เรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอชาตศัตรู และมหาปรินิพพานสูตร เป็นต้น
ชาวไทยไม่ควรพลาดในการไปศึกษาและบูชาคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด อายุ 2,000 ปี ที่พุทธมณฑล ซึ่งรัฐบาลจัดให้ถึงวันที่ 5 ก.พ. 2554 ท่านจะได้ทั้งบุญ ปัญญา และความภาคภูมิใจในความเป็นพุทธศาสนิกชน