เฮลท์ตี้ทั้งบ้านด้วยจานอาหารสูตร 2:1:1
ยุคนี้ใครๆ ก็ไม่อยากตกเทรนด์ฮิต "พิชิตพุง" หันมาออกกำลังกายควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของคนอยากลดอ้วน ลดพุง ลดโรค ก็คือการยอมรับความจริงข้อแรกที่ว่า ไม่มียาวิเศษชนิดใดช่วยท่านได้
ยุคนี้ใครๆ ก็ไม่อยากตกเทรนด์ฮิต "พิชิตพุง" หันมาออกกำลังกายควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของคนอยากลดอ้วน ลดพุง ลดโรค ก็คือการยอมรับความจริงข้อแรกที่ว่า ไม่มียาวิเศษชนิดใดช่วยท่านได้ ไม่มีหนทางใดลดไขมันเฉพาะส่วน และไม่มีวันเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จในชั่วข้ามคืน
สำหรับที่มาของ “2:1:1” รหัสเด็ดจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลดพุง ลดโรค คือการแบ่งจานอาหารให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม ทำให้เราสามารถควบคุมไม่ให้เกิดไขมันส่วนเกินเพิ่มเข้าไปในร่างกาย และเป็นสูตรที่ช่วยให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม โดยสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายๆ ทำให้มีผลในเชิงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างยั่งยืนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การแบ่งจานอาหารทุกมื้อของเราให้เป็น 4 ส่วน คือ
2 ส่วนแรก ( 2 ใน 4 ส่วน) นั่นคือ ครึ่งหนึ่งของจาน ขอให้เป็นผัก จะกินเป็นผักสดหรือผักสุกก็ได้ แต่ต้องกินผักให้หลากหลาย และเลือกผักที่ปลอดภัยล้างให้สะอาด
1 ส่วนต่อมา (1 ใน 4 ส่วน) เป็นแป้ง ได้แก่ ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ขนมปัง เผือก มัน ถั่วธัญพืช (ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว) ข้าวโพด หรือลูกเดือย รวมทั้งพวกฟักทอง ปริมาณไม่เกิน 2 ทัพพี แนะนำให้กินแบบไม่ขัดสี เพราะจะได้ใยอาหารเพิ่มมากขึ้น และคงคุณค่าสารอาหารไว้มากกว่า ถ้าเป็นข้าว ขอเป็นข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวซ้อมมือ ขนมปังก็เลือกประเภทโฮลวีท เป็นต้น
1 ส่วนสุดท้าย (1 ใน 4 ส่วน) เป็นเนื้อสัตว์ เลือกที่ไขมันแทรกน้อย หรือไขมันต่ำ ถ้าเป็นปลาก็จะดีมาก เพราะปลาเป็นโปรตีนที่ดีมีคุณภาพ ที่สำคัญมีไขมันต่ำและเป็นไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งดีต่อสุขภาพ เนื้อไก่ไม่เอาหนัง เนื้อหมูเลือกไม่ติดมัน เลี่ยงพวกแปรรูปต่างๆ เช่น กุนเชียง, ไส้กรอก แหนม แฮม เบคอน หรือจะเป็นโปรตีนจากไข่ ถั่วเหลือง เต้าหู้ โปรตีนเกษตร และสำคัญตรงที่ต้องเลี่ยงของทอด อาจใช้วิธีต้มหรือนึ่งให้สุกโดยปรุงรสน้อยที่สุดแทน
ส่วนใครยังคิดไม่ออกว่าจะสร้างสรรค์เมนูอย่างไร ขอให้ยึดหลักต่อไปนี้เอาไว้
- ใช้หลัก “ลดหวานมันเค็ม” ทุกครั้งที่เลือกเมนูขึ้นโต๊ะอาหาร ต้องเป็นเมนูที่ถูกปรุงแต่งรสชาติให้น้อยที่สุด สำหรับน้ำตาลหรือเครื่องปรุงรสเค็มควรใช้แต่น้อย และหลีกเลี่ยงอาหารที่มันๆ
- อย่าลืม “เติมเต็มด้วยผัก” คือให้มีผักสด ผักต้ม ผักนึ่ง หลากหลายตามชอบ เป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งหรือ 2 ใน 4 ส่วนของเมนูอาหารทุกมื้อ การกินแบบ 2-1-1 ช่วยให้กินผักได้ประมาณวันละ 400 กรัมขึ้นไป ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ได้ ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก
- “ใช้โปรตีนจากปลาและถั่ว” สำหรับเมนูเนื้อสัตว์ 1 ส่วน ควรเลือกสัตว์ประเภทที่ให้ไขมันน้อย เนื้อไก่ไม่ติดหนัง ปลา หรือถั่ว ไข่ เต้าหู้ โปรตีนเกษตร
- อีก 1 ส่วนที่เหลือ “กินแป้งได้แต่ให้เลือกแป้งที่ดี” ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้อง ข้าวไม่ขัดสี เส้นก๋วยเตี๋ยว หรือแม้แต่ขนมปังโฮลวีต ลูกเดือย และธัญพืชชนิดต่างๆ
- ลองหาเมนูอร่อยๆที่ “ใช้วิธี ต้ม ตุ๋น ยำ อบ นึ่ง แทนการทอด” ถ้าต้องผัดหรือทอด ก็เน้นว่าให้ใช้น้ำมันน้อย หรือจะใช้กะทะเทฟลอน รวมทั้งตัวช่วยสมัยใหม่อย่างหม้ออบลมร้อน ซึ่งทำให้เราไม่ต้องง้อน้ำมันกันเลยทีเดียว
- หลังมื้ออาหาร หรือถ้าหิวนอกมื้อ “ขอแถมได้ไม่เกินหนึ่งกำมือ” ด้วยผลไม้หวานน้อย เช่น ฝรั่ง ชมพู่ ฯลฯ โดยกินครั้งละปริมาณไม่เกิน 1 กำมือ เช่น ฝรั่งครึ่งลูก แอปเปิ้ล 1 ลูก สับปะรดหรือมะละกอหั่น 6 ชิ้นเล็ก ชมพู่ 2 ลูก
ที่มา สสส.