คอเลสเตอรอลกับหัวใจ สองสิ่งที่ไปกันไม่ได้
แพทย์เผยคอเลสเตอรอลสะสมปมโรคหัวใจ ชี้พบมากในวัยกลางคนขึ้นไป ไล่สเต็ปเกาะสะสม-อักเสบ-หลอดเลือดแดงแข็ง-ตีบตัน-ปริแตก-ลิ่มเลือดอุดตัน-หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน-เสียชีวิต พร้อมแนะ 5 วิธีป้องกันและลดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอับดับต้นๆ ของประเทศไทย ส่วนมากมักจะเกิดกับผู้ที่มีช่วงอายุวัยกลางคนขึ้นไป และเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจคือ "คอเลสเตอรอล" ซึ่งส่วนมากจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง ไม่ค่อยออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่จัด ส่วนปัญหาสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูง เช่น ปัญหาโรคเบาหวาน
ทางด้านนายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เพิ่มเติมว่า คอเลสเตอรอลเป็นไขมันที่พบได้ในเลือด ซึ่งมีแหล่งที่มาจาก 2 ที่คือ
- ภายในร่างกาย โดยสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้ที่ตับ
- ภายนอกร่างกายคือ จากการรับประทานอาหารในแต่ละวัน
หากมีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจะไปเกาะสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้อักเสบ เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เมื่อมีการสะสมของไขมันเพิ่มมากขึ้นจะทำให้หลอดเลือดตีบตัน เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ นอกจากนี้ ในบางรายอาจมีการปริแตกของผนังด้านในของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้มีลิ่มเลือดมาอุดตันส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายทำให้เสียชีวิตได้
การป้องกันและลดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารและขนมที่มี เนย ชีส ครีม รวมถึงเค้ก เบเกอรี่ เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยให้มากขึ้น เช่น ข้าวซ้อมมือ ผัก ผลไม้น้ำตาลน้อย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย ครั้งละ 30 นาที 3-5 ครั้ง/สัปดาห์
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- งดดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและงดสูบบุหรี่