หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตของคนปวดหลัง
นั่งทำงานหน้าจอนานต่อเนื่องเกิน 2 ชั่วโมง อาจทำให้เกิดอาการตึงหลัง ปวดหลัง ขาชา ซึ่งหลายคนมักจะเลือกทนจนอาการรุนแรงและนำไปสู่โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
นายแพทย์ภัทร โฆสานันท์ ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ โรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี ให้ความรู้ว่าโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทสาเหตุหลักเกิดจากการใช้งานกระดูกสันหลังหนักและต่อเนื่อง เช่น การยกของหนัก การขับรถนาน การทำกิจกรรมก้มๆ เงยๆ เป็นประจำ นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระดูกสันหลังด้วย ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้ Annulus Fibrosus หรือเส้นเอ็นที่ก่อตัวเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเกิดความเสื่อมจนมีสารน้ำปลิ้นออกมาทับเส้นประสาทไขสันหลัง
“คนที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะมีอาการปวดหลังลงไปที่ขาอาจเพียงข้างเดียว หรือสองข้าง ซึ่งส่วนมากพบในกลุ่มคนที่ชอบทำกิจกรรม ออกกำลังกายหนักๆ ซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือแม้แต่คนที่ชอบนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานเกินไป โดยเฉพาะหนุ่มสาวออฟฟิศที่ต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้มากเช่นกัน เพราะหมอนรองกระดูกจะต้องรับน้ำหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทยังสามารถพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป รวมไปถึงคนที่อยู่ในภาวะน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน เนื่องจากหมอนรองกระดูกต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่มากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดความเสื่อมและจนกลายเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในที่สุด” นายแพทย์ภัทร กล่าว
ปัจจุบันโรคดังกล่าวสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ด้วยเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำและปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นกล้อง MICROSCOPE หรือ ENDOSCOPE ที่ทำให้แผลผ่าตัดเล็กลงกว่าเดิม ผู้ป่วยจึงเสียเลือดน้อยและการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อลดลง ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิม นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัดนั่นคือ Intraoperative Neuromonitoring ที่จะช่วยตรวจสอบการทำงานของเส้นประสาทแบบ Real Time ทำให้การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทของผู้ป่วยขณะผ่าตัดน้อยลง จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้