posttoday

กินอาหารเป็นยา : ไข่เค็ม ประโยชน์เยอะ เก็บไว้ได้นาน เนรมิตได้หลายเมนู

29 มีนาคม 2563

ช่วงนี้ไข่ขึ้นราคาแถมหาซื้อยาก ใครตุนไข่ไว้ลองมาทำเป็น "ไข่เค็ม" หนึ่งในวิธีการถนอมอาหารให้เก็บไว้กินได้นานๆ แถมยังคงคุณค่าสารอาหาร และรังสรรค์เป็นเมนูอาหารได้หลากหลาย

กินอาหารเป็นยา : ไข่เค็ม ประโยชน์เยอะ เก็บไว้ได้นาน เนรมิตได้หลายเมนู

"ไข่" เป็นอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพดี และมีคุณค่าทางโภชนาการ ที่เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย จะมีกรดอะมีโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน ยังเป็นแหล่งของแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย แต่ต้องบริโภคให้ถูกต้องและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ดังนี้

  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ก็ให้เริ่มที่ไข่แดงต้มสุกบด วันละครึ่งฟอง หรือ 1 ฟอง
  • เด็กอายุ 7 เดือนขึ้นไป ก็สามารถกินไข่ต้มสุกวันละครึ่งถึง 1 ฟอง
  • ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป ถึงวัยสูงอายุกินไข่ต้มสุกได้วันละ 1 ฟอง

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง ต้องระวังจะกินไข่ได้ 3 ฟองต่อสัปดาห์ หรือจะบริโภคไข่ขาวได้ทุกวัน ตามคำแนะนำของแพทย์ แต่ควรเลี่ยงกินไข่ดิบ เพราะไข่ที่ไม่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ที่จะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมไบโอติน จะทำให้การย่อยยากจึงได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ และควรบริโภคในรูปแบบไข่ต้ม ไข่ตุ๋นฯ ที่มีปริมาณไขมันน้อยกว่า ไข่เจียว ไข่ดาว ฯ สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟัน ที่ไม่สามารถทานอาหารโปรตีนอื่นได้ ขอแนะนำให้กินไข่เป็นแหล่งโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ และผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเส้นเลือดสูง ในบางมื้ออาจหลีกเลี่ยงการกินไข่แดง

กินอาหารเป็นยา : ไข่เค็ม ประโยชน์เยอะ เก็บไว้ได้นาน เนรมิตได้หลายเมนู

คุณค่าทางโภชนาการ

ไข่ไก่ เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เต็มไปด้วยสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ในไข่ไก่ 1 ฟอง น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 50 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 75-80 แคลอรี มีโปรตีนสูงถึง 7 กรัม

ข้อมูลโดย อ.วชิระ จิระรัตนรังษี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ไข่ขาว มีน้ำหนักประมาณ 2 ใน 3 ของไข่ทั้งฟอง ประกอบไปด้วยโปรตีนคุณภาพสูง ประมาณร้อยละ 12 มีสารสำคัญที่เป็นองค์ประกอบของโปรตีนที่อุดมไปด้วยกรดอะมิโน 8 ชนิด ที่จำเป็นต่อร่างกาย

ส่วนไข่แดง มีน้ำหนักประมาณ 1 ใน 3 ของน้ำหนักไข่ ประกอบไปด้วยโปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุที่สำคัญ สำหรับไขมันที่มีอยู่ค่อนข้างมากในไข่แดงนั้น เป็นไขมันประเภทอิ่มตัว รวมถึงโอเมก้า 3 ที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งมีคุณค่าเหมือนไขมันในปลาแซลมอน และปลาทะเล

ด้วยความเข้าใจที่ว่าในไข่ไก่นั้นมีคอเลสเตอรอลค่อนข้างสูง โดยในไข่ 1 ฟอง มีปริมาณคอเลสเตอรอลประมาณ 213 มิลลิกรัม ซึ่งอาจมีผลต่อการเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดได้ แต่การวิจัยเกี่ยวกับเรื่องไขมันและคอเลสเตอรอลในไข่ไก่ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สามารถพูดได้อย่างแน่ชัดแล้วว่า ไขมันและคอเลสเตอรอลในไข่ไก่ มีผลเสียต่อผู้บริโภคน้อยมากเมื่อเทียบกับไขมันจากแหล่งอื่นๆ

นอกจากนี้ โปรตีนที่มีปริมาณสูงในไข่ไก่ สารอาหารจำพวกไขมัน และคอเลสเตอรอล ไม่ได้เป็นสาเหตุและความเชื่อมโยงใดๆ ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ที่สำคัญไข่ไก่ 1 ฟอง ยังมีวิตามินและแร่ธาตุหลากหลาย อาทิ วิตามินเอ วิตามินบี1 บี2 บี6 วิตามินดี โคลีน อิโนซิทอล แคลเซียม ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม เป็นต้น

โดยในส่วนของโคลีนที่พบในไข่นั้น เป็นส่วนประกอบในสารทีเรียกว่า “เลซิติน” โดยปัจจุบันพบว่าสารเลซิตินนี้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ที่มักรับประทานในรูปอาหารเสริมสุขภาพ ช่วยบำรุงสมอง และป้องกันภาวะความผิดปกติของระบบประสาท

กินอาหารเป็นยา : ไข่เค็ม ประโยชน์เยอะ เก็บไว้ได้นาน เนรมิตได้หลายเมนู

การทำไข่เค็ม

  1. ล้างไข่เป็ดให้สะอาด สะเด็ดน้ำจนแห้งสนิท ใส่ลงในโหลแก้ว เตรียมไว้
  2. ทำน้ำเกลือสำหรับดองไข่ โดยใส่เกลือกับน้ำลงในหม้อ นำขึ้นตั้งไฟจนเดือด และคนให้เกลือละลายจนหมด ยกลงจากเตา พักทิ้งไว้จนเย็นสนิท
  3. เทน้ำเกลือที่เย็นแล้วลงในโหลไข่จนท่วมไข่ จากนั้นใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำวางทับลงไปให้ไข่เป็ดจมอยู่ใต้น้ำตลอดเวลา
  4. ปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ในที่ร่ม สำหรับทำไข่ดาวเก็บไว้นานประมาณ 2 อาทิตย์ สำหรับทำไข่ต้มเก็บไว้นานประมาณ 3 อาทิตย์

กินอาหารเป็นยา : ไข่เค็ม ประโยชน์เยอะ เก็บไว้ได้นาน เนรมิตได้หลายเมนู

เมนูไข่เค็มยอดฮิต

  • ไข่ดาวเค็ม
  • ยำไข่เค็ม
  • ตำไทยไข่เค็ม
  • ปลาหมึกผัดไข่เค็ม
  • น้ำพริกลงเรือ
  • หนังปลาทอดคลุกผงไข่เค็ม
  • คาโนาร่าซอสไข่เค็ม

ข้อควรระวังในการบริโภคไข่เค็ม

ในไข่เค็ม 1 ฟอง จะมีโซเดียม 300-500 มิลลิกรัม สำหรับโซเดียม คือแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายและความดันโลหิต โดยทั่วไปร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัม/วัน แต่ในชีวิตประจำวันของเราอาจจะบริโภคโซเดียมมากกว่านั้น โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตราย คือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา และหากได้รับปริมาณโซเดียมเกินความจำเป็นจะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น