posttoday

โปรไบโอติก (Probiotic) ของดีที่ไม่ได้มีแต่ในโยเกิร์ต

13 เมษายน 2563

ประโยชน์ของโปรไบโอติก (Probiotic) นอกจากช่วยเสริมการทำงานของแบคทีเรียชนิดที่ดีภายในร่างกายแล้ว ยังดีต่อสุขภาพช่องปากและฟันอีกด้วย

โปรไบโอติก (Probiotic) ของดีที่ไม่ได้มีแต่ในโยเกิร์ต

โปรไบโอติก (Probiotic) เป็นเชื้อจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียและยีสต์ชนิดดีที่พบได้ในร่างกายของมนุษย์ โดยเชื่อกันว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน มีคุณสมบัติในการป้องกันและรักษาโรคหลายชนิด แต่รู้หรือไม่ว่า โปรไบโอติกอาจมีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพช่องปากและฟันที่ดีได้อีกด้วย

โดยทั่วไปแล้วการทำงานของโปรไบโอติกจะช่วยเสริมการทำงานของแบคทีเรียชนิดที่ดีภายในร่างกาย เพื่อให้กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ดำเนินไปอย่างปกติ โดยโปรไบโอติกจะช่วยปกป้องผนังทางเดินอาหาร ยับยั้งเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดไม่ดีที่เป็นต้นเหตุหนึ่งของการติดเชื้อและการอักเสบต่างๆ และช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียชนิดดีในร่างกายหากแบคทีเรียที่ดีเหล่านั้นมีจำนวนลดน้อยลงจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือสาเหตุอื่น 

โปรไบโอติก (Probiotic) ของดีที่ไม่ได้มีแต่ในโยเกิร์ต

อาหารที่มีโปรไบโอติกสูง

เราต่างก็รู้กันว่าในโยเกิร์ต และนมเปรี้ยว มีโปรไบโอติกหรือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าสิ่งนี้ยังพบได้ในอาหารบางชนิด เช่น กิมจิ ซุปมิโสะ คอมบุชาหรือชาหมัก แตงกวาดอง ในชีสบางชนิด อย่างเชดด้าชีส หรือมอสซาเรลลาชีส เป็นต้น

การบริโภคอย่างปลอดภัย

สำหรับผู้ที่แพ้อาหารหรือไม่ชื่นชอบอาหารดังกล่าวก็สามารถรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโปรไบโอติกทดแทนได้ โดยมีบรรจุในหลายรูปแบบทั้งแบบเม็ด แคปซูล ผง และในรูปแบบอื่นๆ ทำให้ง่ายต่อการรับประทาน อีกทั้งยังสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป

โปรไบโอติกจากอาหารหรืออาหารเสริมที่มีคุณภาพและผ่านมาตรฐานนั้นมีความปลอดภัยต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ แต่ในบางคนก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องอืด หรือเรอในช่วง 2-3 วันแรกได้ 

ก่อนการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโปรไบโอติกควรศึกษาข้อมูลและปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลาก และเนื่องจากโปรไบโอติกยังถือเป็นอาหารเสริมสุขภาพ ไม่ใช่ยารักษาโรค ผู้ที่ต้องการรับประทานเพื่อรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ถึงความปลอดภัย ความเสี่ยง รวมถึงปริมาณที่เหมาะสมต่อตนเองก่อนเสมอ โดยเฉพาะเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

โปรไบโอติก (Probiotic) ของดีที่ไม่ได้มีแต่ในโยเกิร์ต

ประโยชน์ของโปรไบโอติกกับช่องปาก

เมื่อพูดถึงโปรไบโอติก หลายคนอาจนึกถึงประโยชน์ต่อสุขภาพของลำไส้เป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันมีการศึกษาค้นคว้าประสิทธิภาพของโปรไบโอติกต่อสุขภาพช่องปากและฟันกันเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลไกการทำงานของโปรไบโอติกในช่องปากและลำไส้อาจมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าโปรไบโอติกมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในช่องปากอันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดฟันผุ จึงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพช่องปาก ดังนี้  

ป้องกันฟันผุ

โรคฟันผุนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟันที่ไม่สะอาด การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือขนมขบเคี้ยว รวมถึงแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุภายในช่องปากของเราเองด้วย ซึ่งงานวิจัยบางส่วนชี้ให้เห็นว่าการรับประทานโปรไบโอติกอาจช่วยลดปัญหานี้ได้ 

โดยมีงานวิจัยที่ทดลองให้เด็กดื่มนมผสมโปรไบโอติกแลคโตบาซิลลัส พาราเคซีไอ สายพันธุ์เอสดีวัน (Lactobacillus paracasei SD1) ในปริมาณ 5 กรัมทุกวัน หลังใช้เวลาในการทดลอง 6 เดือน ผลปรากฏว่า เด็กที่ดื่มนมผสมโปรไบโอติกเป็นประจำมีจำนวนแบคทีเรียชนิดที่ทำให้เกิดฟันผุในน้ำลายลดน้อยลงและมีจำนวนแลคโตบาซิลลัสเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อีกทั้งยังช่วยให้เด็กที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุสูงมีรอยฟันผุใหม่น้อยลงเมื่อเทียบกับเด็กอีกกลุ่มที่ดื่มนมทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอื่นพบว่าโปรไบโอติกอาจมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคปริทันต์และโรคฟันผุด้วยการปรับสมดุลของแบคทีเรียภายในช่องปากอีกด้วย 

ลดกลิ่นปากอันไม่พึงประสงค์

กลิ่นปากเป็นเรื่องน่ากังวลใจของใครหลายคน ซึ่งอาจเกิดจากหลากหลายสาเหตุ นอกจากจะใช้วิธีแปรงฟันให้สะอาด หมั่นทำความสะอาดลิ้น หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด หรือดื่มน้ำให้มากๆ แล้ว การรับประทานโปรไบโอติกก็อาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ช่วยให้กลิ่นปากลดลง

จากการศึกษาในผู้ป่วยโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง โดยให้รับประทานโปรไบโอติกชนิดแลคโตบาซิลลัสเป็นระยะเวลา 90 วัน ผลการทดลองเผยว่าผู้ป่วยมีกลิ่นปากลดน้อยลงอย่างชัดเจน เช่นเดียวกันกับงานค้นคว้าอีกจำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าโปรไบโอติกอาจมีส่วนช่วยลดกลิ่นปากได้  

นอกจากโปรไบโอติกจะช่วยป้องกันฟันผุและลดกลิ่นปากแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพช่องปากและฟันอีกหลายอย่าง เช่น ขจัดคราบพลัคหรือคราบแบคทีเรียบนฟัน บรรเทาอาการเหงือกอักเสบ หรือโรคเหงือกอื่นๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโปรไบโอติกและสุขภาพช่องปากและฟันยังจำเป็นต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติมในคนกลุ่มใหญ่และทำการศึกษาในระยะยาวมากขึ้น เพื่อยืนยันประสิทธิภาพและเพิ่มความมั่นใจในผลลัพธ์ของการรับประทานโปรไบโอติกในระยะยาวให้มากยิ่งขึ้น

ภาพ Freepik