posttoday

พระชัยวัฒน์ไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ.2495(2496)

19 เมษายน 2563

โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

**********************************

แค่คำว่า “ไพรีพินาศ” สำหรับผู้ที่เป็นคู่แข่งหรือศัตรูได้ยินแล้ว ก็คงจะหาวิธีหลีกเลี่ยงหรือหลบหลีกการเป็นศัตรู ไพรีพินาศเป็นพระนามของพระพุทธรูปที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามไว้ และได้มาจัดสร้างเป็นพระเครื่องครั้งแรกในปีพ.ศ.2495(2496)

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยังทรงผนวชในปี พ.ศ.2391 มีผู้นำพระพุทธรูป ศิลปะแบบศรีวิชัย มาถวาย และในห้วงเวลานั้นได้มีผู้ที่คิดประสงค์ร้ายกับพระองค์ท่าน และผู้ที่คิดประสงค์ร้ายกับพระองค์ท่านต่างก็มีอันเป็นไปทั้งสิ้น

ภายหลังที่ได้พระองค์ท่านเสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานนามพระบูชาองค์นี้ว่า “พระไพรีพินาศ” พระไพรีพินาศองค์นี้ได้ประดิษฐานอยู่ภายในเก๋งบริเวณของพระเจดีย์ทอง วัดบวรนิเวศฯ และเป็นที่กล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์โดยตลอดสำหรับผู้ที่ศรัทธาและมาอธิษฐานขอบารมีล้วนสำเร็จตามประสงค์ทั้งสิ้น

พระชัยวัฒน์ไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ.2495(2496)

วันนี้มาชมพระชัยวัฒน์ไพรีพินาศ ซึ่งมีดำริการสร้างเมื่อปี พ.ศ.2495 ในคราวฉลองพระชนม์มายุครบ 80 พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 13 แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร และมาเสร็จสมบูรณ์ในปีพ.ศ.2496

ในพิธีนี้ได้มีการจัดสร้าง พระกริ่งไพรีพินาศ และ พระชัยวัฒน์ไพรีพินาศ โดยใช้ทองชนวนเบ้าเดียวกัน วรรณะเนื้อหาจะมีลักษณะเดียวกันคือ เหลืองปนขาวเล็กน้อยไม่กลับดำ รูปแบบของพระชัยวัฒน์นี้จะคล้ายกับพระกริ่งไพรีพินาศบัวเหลี่ยม แต่ขนาดเล็กกว่า

จุดพิจารณาของพระชัยวัฒน์ไพรีพินาศนี้ เมื่อส่องดูจะเห็นลักษณะของพระหล่อโบราณอย่างชัดเจน ตามผิวเป็นหลุมเป็นบ่อ บัวแถวบนแหลมเล็กหงายขึ้นมี 8 กลีบ บัวแถวล่างจะเป็นบัวเหลี่ยม ปรากฎคราบเบ้าเกาะอยู่ทั่วไปทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ความเก่าของเนื้อโละทองเหลืองผสมแห้งสนิท ด้านข้างเห็นรอยประกบและแต่งด้วยตะไบ

พระชัยวัฒน์ไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ.2495(2496)

พระชัยวัฒน์ไพรีพินาศ บางองค์มีการเจาะบรรจุเม็ดกริ่งใต้ฐานเดิม จะมีค่านิยมเช่าบูชาสูงกว่าในองค์ที่ไม่มีการบรรจุเม็ดกริ่ง ด้านพุทธคุณของพระไพรีพินาศนี้ นอกจากพ้นภัยจากศัตรูที่คิดร้ายต่อเราแล้ว ยังให้โชคลาภแก่ผู้บูชาอีกด้วย

สำหรับวัตถุมงคลพระไพรีพินาศที่ได้จัดสร้างในคราวนั้น ประกอบด้วย พระกริ่งไพรีพินาศพิมพ์บัวเหลี่ยม,พระกริ่งไพรีพินาศพิมพ์บัวแหลม, พระชัยวัฒน์ไพรีพินาศ,นอกจากนั้นแล้วยังมีเหรียญพระไพรีพินาศเนื้อทองคำ เนื้อทองคำลงยา เนื้อเงินลงยา และเนื้อทองแดง ตลอดจนครอบน้ำมนต์วัดบวรนิเวศวิหาร และพระไพรีพินาศบูชาขนาด 3 นิ้ว

การจัดสร้างพระไพรีพินาศนี้ มีบันทึกจากหนังสือ “ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร” ในวโรกาสที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 13 แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ได้มีพระชนม์มายุครบ 80 พรรษา ทางรัฐบาลและประชาชนได้ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองงานมหามงคลว่า

พระชัยวัฒน์ไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ.2495(2496)

“อนึ่งเมื่องานฉลองพระชนม์มายุครบ 80 พรรษา บริบูรณ์ ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ผ่านไปแล้ว ได้มีการประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธปฏิมาเพื่อเป็นฑีฆายุมหามงคล แต่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเป็นพระพุทธปฏิมา หน้าพระเพลา 3 คือ หรือ 100 เซนติเมตร สูงตั้งแต่พระที่นั่งถึงพระจุฬา 117 เซนติเมตร พระรัศมี 22 เซนติเมตร ประกอบพิธีเททองหล่อ เมื่อวันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2496 และในพิธีเดียวกันได้จัดสร้างวัตถุมงคลพระไพรีพินาศ”  ซึ่งในพิธีดังกล่าว ตรงกับวันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2496 แรม 5 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเส็ง เวลา 13.52 ณ หน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศฯ

สำหรับคำบูชาพระไพรีพินาศ(โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงนิพนธ์คำบูชานี้)

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ สุจิรัง ปะรินิพพุโต

คุเณหิ ธะระมาโนทานิ ปาระมีหิ จะ ทิสสะติ

ยาวะชีวัง อะหัง พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระณัง คะโต

ปูเชมิ ระตะนัตตะยัง ธัมมัง จะรามิ โสตถินา ฯ

คำแปล โดย พระมหานายก (ฉลอง ชลิตกิจโจ)

“สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงเสด็จดับขันธปรินิพพานมาช้านานแล้ว

แต่ก็ยังทรงปรากฏดำรงอยู่ในบัดนี้ โดยพระคุณและพระบารมีทั้งหลาย

ข้าพพุทธเจ้า ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

บูชาอยู่ซึ่งพระรัตนตรัย ขอประพฤติธรรม โดยสวัสดี เทอญ ฯ”

พระชัยวัฒน์ไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ.2495(2496)