ปัญหาภาวะซึมเศร้า เมื่อเครียด กดดัน และทางออก
การรับมือกับปัญหาไวรัสโควิด 19 เชิงองค์รวม : การตีทะลุผ่านภาวะกดดัน เครียด ซึมเศร้า
อาการของปัญหาภาวะซึมเศร้าและผลกระทบในยุคปัจจุบัน ปัญหาสังคม ไม่ว่าจะ Gen ไหน ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร Baby Boom, Gen X Y Z หรือ C หรือ Millennial ล้วนมีปัญหาเรื่อง ความซึมเศร้า ภายในหวั่นไหว ขาดความมั่นคง ภูมิต้านทานต่ำ พฤติกรรมที่แสดงออกมาจึงขาดความยับยั้งชั่งใจ การตัดสินใจที่ขาดการไตร่ตรองมีโลกส่วนตัวสูง แปลกแยก ไม่แคร์อะไร ขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเชิงสร้างสรรค์
ปัญหาเหล่านี้มีผลทำให้บุคคลไม่สามารถพัฒนาและดึงศักยภาพภายในออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้สังคมอ่อนแอลง ขาดความเข้มแข็ง ขาดความสามารถในการแข่งขัน อนาคตของชาติจึงน่าเป็นห่วง
ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล จากสถาบันอินทรานส์ Hipot-การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคง ยั่งยืน เผยว่า รากของปัญหาภาวะซึมเศร้าภาวะนี้เกิดที่ตนเอง โดยตนเอง โดยมีแรงกดดันจากสังคมภายนอก เปรียบเทียบแข่งขัน รวมทั้งบริบทของการดำเนินชีวิตทุกวันนี้ที่สังคมได้เปลี่ยนเป็นโลกโซเชียลที่ไม่อาจหวนกลับคืนได้แล้ว มันเป็นโลกของวัตถุที่ขาดความสมดุล เน้นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มากเกินพอดี และเพราะการสื่อสารที่ทันสมัยทำให้มนุษย์ห่างไกลจากตัวตนที่แท้จริง แต่กลับอยู่ในโลกเสมือนจริงที่หลอกตนเองให้ติดกับโลกของวัตถุ เปรียบเสมือนกับดักให้หลงทางและลุ่มหลงอยู่ในวังวนของมายาอย่างต่อเนื่อง
โลกที่ยึดเอาสิ่งภายนอกเป็นที่ยึดเหนี่ยว มันต้องเนี๊ยบทั้งเสื้อผ้าหน้าผม แฟชั่น เน็ตไอดอล การเลียนแบบดาราที่ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง โลกที่ฉาบฉวย จอมปลอม มนุษย์จึงพยายามทุกทางแม้ต้องเสียศักดิ์ศรีเพื่อแลกกับเงินทอง และการยอมรับทำให้เกิดการยึดติด หลงทาง สังคมเดินไปในทางเสื่อมลงยากที่จะสลัดออก เพราะมันเหมือนสิ่งเสพติดที่ร้ายยิ่งกว่ายาเสพติดใดๆ ที่เรารู้จักหลงไปว่ามันคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่าและความหมาย แต่ทั้งหมดนี้ที่แท้แล้วทำไปเพื่อมาเสริมคุณค่าตนเองให้ดูดี เพื่อต้องการให้คนยอมรับ ให้เท่าเทียมคนอื่น
แล้วทำไมถึงต้องการการยอมรับจากโลกภายนอก?
ก็เพราะโลกภายในตนเองมันขาด ข้างในมันพร่องไป แล้วอะไรพร่องไป ก็คุณค่าตนเองไงเมื่อภายในมันขาด ก็ต้องหามาเติม แต่เป็นการเติมจากโลกภายนอกเพื่อมาให้ค่าตนเองแต่ยิ่งเติม ยิ่งแสวงหาวัตถุภายนอกมาเพิ่ม ภายในตนเองก็ยิ่งขาดเมื่อยังขาด ก็ต้องหามาเพิ่มอีก ยิ่งหาก็ยิ่งขาด โลกภายในก็ยิ่งพร่องหนัก
มันเป็นภาวะหลงทางที่หาตัวเองไม่เจอ มันว่างเปล่า ข้างในมันกลวงมัน เป็นภาวะที่ไม่เห็นค่าตนเอง ไม่เคารพตนเอง แต่กลับเห็นตนเองมีความบกพร่อง ไม่เข้าใจตนเอง ยอมรับไม่ได้ แต่เพราะแรงกดดันทางสังคมและบริบทครอบครัว ทำให้อาการของปัญหายิ่งหนักมันก็เลยเป็นทุกข์ ซึมเศร้า โลกภายในหวั่นไหว ขาดความมั่นคง ก็เลยยิ่งแสวงหาคุณค่าจากโลกภายนอกมาเติมแล้วก็กลับมาวังวนเดิม หาทางออกไม่ได้ หาตัวตนไม่เจอ เลยยิ่งเศร้าหมอง
"ซึมเศร้า" ว่าไปแล้วมันคือการแพ้ตัวเอง ไม่สามารถนำตนเองได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าตนเองเป็น แต่หาทางออกไม่เจอไม่รู้ว่าภาวะนี้คืออะไร จัดการชีวิตตนเองไม่ได้ แก้ไม่เป็น มันแพ้ คิดว่าอยู่ไปก็ไร้ค่า
ทางออกของปัญหาภาวะซึมเศร้าเราคงต้องมองย้อนกลับไปว่า อะไรคือเหตุมันไม่ใช่โลกโซเชียล?
มันไม่ใช่ตัวเครื่องมือสื่อสาร มันมิใช่ตัวดารา หรือโลกของความบันเทิงแต่มันคือ ภาวะของการไม่เห็นคุณค่าตนเองที่สะท้อนออกมาด้วยการเสพสื่อเหล่านั้นอย่างขาดความเข้าใจต่างหาก
เมื่อการไม่เห็นคุณค่าตนเองเป็นประเด็นหลักการจัดการกับประเด็นนี้จึงต้องมุ่งไปที่ตัวตนของตนเอง แล้วตัวตนมาจากไหน ก็มาจากกรอบความคิดไง กรอบความคิดมีธรรมชาติคือภาพ แต่มันเป็นภาพตนเองเชิงลบ ณ จุดนี้เองคือรากของปัญหา มันคือกรอบความคิดที่ไม่เห็นคุณค่าตนเองเรียกอีกอย่างว่า "ปมด้อย"
ปมด้อยมาจากไหน ก็มาจากเรื่องราวในอดีตของตนเองที่ตนยังรู้สึกไม่พอใจในสิ่งที่ผ่านมา บางครั้งก็ทำเองกับมือ บางเรื่องก็ถูกกระทำจากใครบางคนมันเป็นภาพลบที่ฝังใจ มันจึงเกาะกัดกินใจถึงความรู้สึกผิด รบกวนจิตใจมาตลอด นึกถึงทีไรก็เจ็บปวด อยากลบ อยากลืม อยากย้อนเวลากลับไปแก้ตัวแต่มันทำไม่ได้ เคยพยายามแต่ก็ไม่สำเร็จ ยิ่งอยากลืม กลับจำ นำไปสู่ความซึมเศร้า
ทางออกจึงมิใช่ไปลบหรือไปลืมมัน เพราะนั่นขัดกับความเป็นจริง ที่ถูกแล้วต้องเรียกตัวเองในอดีตขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจกับมัน
ลองจินตนาการว่าถ้าตัวเองในอดีตพูดได้ คุณคิดว่าเขาจะพูดว่าอะไร คุณคิดว่าเขาอยากเล่าอะไรให้ฟัง และหากคุณฟังเขาอยากเข้าอกเข้าใจ คุณคิดว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร มันคือการชำระล้างภายใน การยอมรับตนเอง การให้อภัยตนเอง เข้าใจตนเองอย่างถึงที่สุด
ในทางกลับกัน ตัวคุณในปัจจุบันอยากให้อดีตคุณพูดถึงคุณว่ายังไงคุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากทั้งสองเข้าใจกัน ยอมรับซึ่งกันและกัน และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน
การทำความเข้าใจกับตนเองในอดีตเป็นการปรับมุมมองที่มีต่อตนเองเชิงบวก มันคือการปรับทัศนคติต่อตนเองอย่างเห็นคุณค่า ศรัทธาในตนเอง ภายในก็จะเข้มแข็ง เกิดความเชื่อมั่น มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เราเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง เกิดภูมิต้านทานภายใน ภายในมั่นค งเมื่อภายในมั่นคง อะไรเข้ามากระทบก็ไม่สะเทือน การชำระล้างภายในตนเองด้วยตนเองนี้เท่านั้นที่จะทลายภาวะซึมเศร้าลงได้