posttoday

"โรคสะเก็ดเงิน" โรคไม่ติดต่อ กับหลากหลายวิธีรักษา

05 ตุลาคม 2563

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์ผิวหนัง เผยทุกเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ "โรคสะเก็ดเงิน" พร้อมแนะหลากวิธีการรักษา ทั้งกิน ทา ยาฉีด และการฉายแสง

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ความชุกของการเกิดโรคนี้มีรายงานตั้งแต่ 0.1-11.8% ขึ้นกับเชื้อชาติของประชากร พบได้ทั้งในเพศชายและหญิง ผู้ใหญ่และเด็ก

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมากระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติและกระตุ้นผิวหนังชั้นกำพร้าของผู้ป่วยให้มีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ จึงเกิดเป็นผื่นสีแดงที่มีสะเก็ดสีขาวคล้ายเงินปกคลุมอยู่ มีชื่อเรียกว่า “สะเก็ดเงิน”

\"โรคสะเก็ดเงิน\" โรคไม่ติดต่อ กับหลากหลายวิธีรักษา

ข้อมูลโดย พญ.ชญาดา  ชัยบุตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ระบุว่า อาการทางผื่นผิวหนังของสะเก็ดเงินมีได้หลายรูปแบบ แต่แบบที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ชนิดผื่นหนา (Plaque type psoriasis หรือ psoriasis vulgaris) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ลักษณะรอยโรคเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัด ขุยหนา พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว ก้นและแขนขา บริเวณข้อศอก ข้อเข่า ทั้งสองข้าง นอกจากนี้อาจพบมีรอยโรคในตำแหน่งอื่นๆ ได้ทั่วร่างกาย เช่น หน้า มือ เท้า

\"โรคสะเก็ดเงิน\" โรคไม่ติดต่อ กับหลากหลายวิธีรักษา

\"โรคสะเก็ดเงิน\" โรคไม่ติดต่อ กับหลากหลายวิธีรักษา

สะเก็ดเงินส่วนใหญ่จะสามารถวินิจฉัยได้จากผื่นผิวหนังโดยที่ไม่ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการใดเพิ่มเติม ยกเว้นในบางกรณีที่ผื่นผิวหนังไม่ชัดเจนอาจจำเป็นต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาเพื่อช่วยยืนยันในการวินิจฉัย ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าอาหารเกี่ยวข้องกับสาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน ดังนั้นการตรวจภูมิแพ้อาหารจึงไม่มีความจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยสะเก็ดเงิน

นอกจากนั้น โรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะทางผิวหนัง แต่อาจพบมีสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ ได้แก่ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินและกลุ่มอาการ metabolic syndrome ได้แก่ โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน เป็นต้น ดังนั้น ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจึงควรได้รับการคัดกรองโรคร่วมอื่นๆ กับโรคสะเก็ดเงินเป็นระยะอีกด้วย

สำหรับแนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงิน ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ดังนี้     

- สะเก็ดเงินความรุนแรงน้อย หมายถึง ผื่นน้อยกว่า10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย (ผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือเท่ากับพื้นที่ประมาณ1%) ให้การรักษาโดยใช้ยาทาเป็นอันดับแรก

- สะเก็ดเงินความรุนแรงมาก หมายถึง ผื่นมากกว่า10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย พิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยารับประทาน การฉายแสงอาทิตย์เทียม ยาฉีดชีวภาพ หรืออาจใช้ร่วมกันหลายวิธีก็ได้

\"โรคสะเก็ดเงิน\" โรคไม่ติดต่อ กับหลากหลายวิธีรักษา

ยาทาภายนอกสำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงินมีหลายชนิด ที่ใช้บ่อย ได้แก่

1.ยาทาคอติโคสเตียรอยด์ (topical corticosteroids) ส่วนใหญ่นิยมใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน เนื่องจากผื่นสะเก็ดเงินจะตอบสนองต่อยาทากลุ่มนี้ได้ดี และราคาไม่แพง แต่หากใช้ยาที่แรงเกินไปร่วมกับทาเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดผิวหนังบางและเกิดรอยแตกของผิวหนังได้ รวมถึงอาจเกิดการดื้อยาและอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้

2. น้ำมันดิน (tar) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลผิวหนังที่ผิดปกติ ประสิทธิภาพดี แต่น้ำมันดินมีสีน้ำตาล กลิ่นเหม็น เวลาทาอาจทำให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า อาจพบผลข้างเคียงคือเกิดรูขุมขนอักเสบ หรือระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ทายาได้

3. อนุพันธ์วิตามินดี (calcipotriol) มีฤทธิ์ทำให้การแบ่งตัวของเซลผิวหนังกลับสู่ปกติ มีประสิทธิภาพดี ข้อเสียของยานี้คือ อาจมีการระคายเคืองได้หากทาบริเวณผิวหนังที่บาง และยามีราคาค่อนข้างแพง

4. ยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor เป็นยาลดการอักเสบของผิวหนังที่สามาถนำมาใช้ในการรักษาผื่นโรคสะเก็ดเงินบริเวณที่ผื่นบาง เช่น ที่ใบหน้าหรือตามซอกพับเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาทาคอติโคสเตียรอยด์ เช่น ผิวหนังบาง แต่ยังไม่ได้ใช้แพร่หลายเนื่องจากยามีราคาแพง

ยารับประทานรักษาโรคสะเก็ดเงิน พิจารณาให้ในกรณีที่สะเก็ดเงินมีความรุนแรงปานกลางถึงมาก ที่ใช้บ่อยในประเทศไทยมี 3 ชนิด

1. เมทโทเทรกเสท (methotrexate) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลผิวหนังที่ผิดปกติ รวมถึงมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผลข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน หากรับประทานยาติดต่อกันนานหลายปีจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งได้ แพทย์จึงต้องทำการตรวจเลือดผู้ป่วยเพื่อดูการทำงานของเม็ดเลือด และค่าตับเป็นระยะ

2. อาซิเทรติน (acitretin) เป็นยารับประทานในกลุ่ม vitamin A ได้ผลดีมากสำหรับสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง ผลข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ ปากแห้งลอก ผิวแห้ง มือเท้าตึงลอก ระดับไขมันในเลือดสูง และอาจทำให้เกิดตับอักเสบได้  ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยานี้คือ ห้ามตั้งครรภ์เนื่องจากทารกในครรภ์อาจพิการได้ โดยต้องคุมกำเนิดขณะรับประทานและต้องคุมกำเนิดต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปีหลังหยุดยา

3.ไซโคลสปอริน (cyclosporin) มีฤทธิ์ลดการอักเสบและยับยั้งภูมิคุ้มกันของร่างกาย ประสิทธิภาพในการรักษาดี ใช้กรณีสะเก็ดเงินรุนแรงปานกลางถึงมาก ผลข้างเคียงที่ต้องระวัง ได้แก่ ผลข้างเคียงต่อไต และความดันโลหิตสูง ดังนั้นระหว่างรับประทานยานี้ แพทย์จึงต้องเจาะเลือดติดตามการทำงานของไตและวัดความดันโลหิตเป็นระยะ

การฉายแสงอาทิตย์เทียม (Phototherapy) รูปที่ 5 เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีในการรักษาสะเก็ดเงินและปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันแสงที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ แสงอัลตราไวโอเลต A และแสงอัลตราไวโอเลต B ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาที่ รพ. 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน โดยจะให้ผลดีประมาณ 70 - 80% ขึ้นไป พบผลข้างเคียงน้อย  ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันและแดงบริเวณผิวหนังที่ฉายแสงหลังทำการรักษา

ยาฉีดกลุ่มชีวภาพ (Biological agents) เป็นยาใหม่ที่มีผลเปลี่ยนแปลงต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อยู่ในรูปยาฉีดเข้าเส้นหรือเข้าใต้ชั้นไขมัน ถือเป็นการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพดีมาก แต่ต้องมีการฉีดยาต่อเนื่องตลอด ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และเนื่องจากยาในกลุ่มนี้เป็นยาใหม่ จึงยังต้องติดตามผลข้างเคียงระยะยาวต่อไป

นอกจากการรักษาข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติเรื่องการดูแลและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องก็มีความสำคัญเช่นกัน การเข้าใจว่าสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อ ผู้ป่วยจะไม่ถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง ญาติ และคนใกล้ชิด ควรเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วย และเนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยควรดูแลตนเองและหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้โรคแย่ลง ได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนน้อยและการดื่มสุรา