เพราะแพ้ไม่เป็น เลยต้องแพ้ตลอด
โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน
ท่านเคยสังเกตไหมว่า ทำไมบางคนชอบเปรียบเทียบ บางคนชอบโอ้อวด บางคนชอบคุยข่ม ทับถมคนอื่น บางคนบ้าอำนาจ ชอบแสดงว่าตนเหนือกว่า บางคนชอบออกตัว เบี่ยงประเด็น หรือโยนความผิดให้ผู้อื่น บางคนชอบแสดงว่าตนรู้อะไรไปเสียหมด ตอบได้ทุกอย่าง ไม่เคยจน
บุคคลลักษณะแบบนี้ชอบเพ่งโทษผู้อื่น มองคนอื่นว่าผิดหมด ตนไม่เคยทำอะไรผิด คนอื่นๆ นั้นล้วนผิดแผกแปลกประหลาดจากปกติ ชอบหยิบยกเรื่องไม่เป็นเรื่องมาขบคิด แม้ความพลาดพลั้งเล็กน้อยของคนอื่นก็เป็นเรื่องใหญ่ ทีเรื่องผิดพลาดของตนเองกลับมองไม่เห็น บุคคลลักษณะนี้ชอบเอาชนะ แพ้ไม่เป็น จึงมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง
หากเกิดขึ้นในองค์กร ก็ยากที่จะเหนี่ยวนำให้ทีมงานงัดศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ การทำงานก็แยกส่วน ไม่เป็นทีม ไม่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน การบรรลุเป้าหมายก็ยาก ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งหมดนี้กลับมาสร้างแรงกดดันให้กับตนเอง คนรอบข้างก็ไม่ยอมรับ ตนก็อยู่ยาก บางคนขาดโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงานอย่างน่าเสียดาย หลายคนจึงแพ้ชีวิต
และนอกจากที่ทำงานจะมีปัญหาแล้ว แน่นอนว่าที่บ้านก็ไม่ต่าง ชอบหาเรื่องไปทั่ว บางคนติดความสมบูรณ์แบบ จับผิด ไม่ว่าใครทำอะไรก็ดูจะไม่เข้าท่าไปหมด สร้างความอึดอัดให้กับคนรอบข้าง เขาจะรู้สึกว่าทำอะไรก็ผิดไปหมด และสูญเสียความมั่นใจ ที่สำคัญ นี่เป็นการทำลายคนรอบข้างอันเป็นที่รัก โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างตั้งใจ เพราะนี่คือธรรมชาติเดียวกัน
ท่านคิดว่าอะไรคือสาเหตุเราลองมาวิเคราะห์กันทีละฉาก อะไรทำให้คนๆ นึงมีลักษณะอย่างนี้ มันเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากว่าในขณะนั้นเอง เขากำลังเรียกร้องความสนใจ นั่นคือเขาต้องการเป็นคนสำคัญ เขาต้องการให้บุคคลรอบข้างยอมรับ เขาต้องการให้คนอื่นๆ เห็นว่าเขาสำคัญ บางคนต้องการความเหนือกว่า
แล้วทำไมต้องการเหนือกว่า ทำไมถึงต้องเรียกร้องการยอมรับ เรียกร้องให้คนอื่นเห็นตนมีค่า เมื่อพิจารณาลึกๆ แล้ว เราพบว่า นั่นเป็นเพราะเพื่อมาชดแชยกับภาวะที่พร่องไปภายในตนเอง แล้วอะไรที่ขาดไป นั่นก็คือ การขาดการเห็นคุณค่าตนเอง ขาดความภาคภูมิใจในตนอง ไม่เห็นคุณค่าตนเอง เห็นตนเองมีแต่ความบกพร่อง ดูถูกตนเอง คิดว่าตนเองไม่เอาไหน ซึ่งมันล้วนเป็นเรื่องที่ตนคิดไปเองทั้งสิ้น มันเป็นภาวะที่ตนรู้อยู่เต็มอกว่าตนมีข้อบกพร่อง แต่กลัวคนอื่นจะรู้ เลยต้องแสดงออกในลักษณะข่มคนอื่นไว้ก่อน เพื่อกลบเกลื่อนหรือชดเชยกับความรู้สึกบกพร่องหรือข้อเสียของตนเอง ดังนั้น รากของปัญหาที่แท้จริงจึงมาจากภาพความคิดติดลบที่ตนมีต่อตนเอง นั่นเอง
ภาวะนี้ โดยทั่วไป เราเรียกว่า “ปมด้อย หรือ Negative Self-image หรือ Self-inferior”ปมดังกล่าวคือภาพลบที่มีต่อตนเอง มันสะท้อนถึงตัวตนที่ด้อยค่า มันเป็นภาวะความรู้สึกเสียใจที่สั่งสมเกาะกัดกินใจมานาน ปมดังกล่าวตนสร้างขึ้นมาเอง นำติดตัวมาตลอด มันคือภาวะคุณค่าตนเองที่พร่องไป เมื่อมันขาดหายไป ตนจึงพยายามแสวงหาคุณค่ามาเติมให้เต็ม แต่เป็นการหาคุณค่าในรูปของการเอาชนะคนอื่น หรือกล่าวโทษผู้อื่น หรือกดข่มผู้อื่น หรือแสดงตนเหนือกว่า
แต่ยิ่งพยายามเอาชนะ ภายในตนเองยิ่งสูญเสีย เพราะยิ่งเอาชนะ มันจะสะท้อนถึงภายในตนเองยิ่งพร่องหนัก คุณค่าตนเองก็ยิ่งลดลง ก็เลยยิ่งต้องการเอาชนะมากขึ้น แต่ยิ่งเอาชนะ ก็ยิ่งแพ้ เมื่อคิดว่าแพ้ไม่ได้ ก็เลยยิ่งต้องการเอาชนะมากขึ้น แต่นั่นไม่เคยสำเร็จหรอก กลับจะยิ่งรู้สึกว่าภายในยิ่งขาด เมื่อยิ่งขาด ก็ยิ่งต้องการเอาชนะ มันก็ยิ่งพร่องมากขึ้นอีก ยิ่งกดดัน ชีวิตเลยหมุนวนหาทางออกไม่เจอ จมดิ่งลงไปกับการพยายามจะเอาชนะคนอื่น เพราะรู้สึกว่ามันแพ้ไม่ได้ ถ้ารับ ก็แสดงว่าตนแพ้จริงๆ นะซิ แสดงว่าตนด้อยค่าจริงๆ คิดว่าถ้าแพ้อีก คุณค่าตนจะยิ่งลดต่ำลง ภาวะนี้มันรับไม่ได้ ยิ่งแพ้หนัก บางคนซึมเศร้า ความรู้สึกทั้งหมดนี้มาทำร้ายตนเอง ตนเองยิ่งถดถอย สร้างปัญหาในทุกความสัมพันธ์ การทำงานก็ไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ทีมงานก็ไม่สามารถระเบิดศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ องค์กรไม่บรรลุเป้าหมาย ส่วนรวมก็เสียหาย
หลายคนรู้ว่าเหตุเกิดจากอะไร แต่แก้ไม่เป็น ลบไม่ออก มันเหมือนเส้นผมบังภูเขา เพราะไอ้คุณค่าที่ต้องการนั้น มันอยู่ในตัวเอง มันคือความรู้สึกของตนเอง แต่มันไม่เข้าใจ มองไม่ออก หาไม่เจอ เพราะตัวมันบังตัวมันเอง แต่กลับเข้าใจผิด คิดว่าคุณค่านั้นสามารถหาได้จากโลกภายนอก ด้วยการเอาชนะคนอื่น แต่หารู้ไม่ว่าตนเท่านั้นที่สามารถผ่านภาวะนั้นไปได้ ด้วยการยอมรับว่าตนเองมีข้อผิดพลาด
การยอมรับว่าตนเองมีข้อบกพร่อง มองผิวเผินคล้ายว่าตนแพ้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่กลับเป็นการ “ชนะเป็น” มันเป็นความเข้มแข็งภายในอย่างเป็นที่สุด เพราะต้องเห็นคุณค่าตนเองเท่านั้นที่จะผ่านภาวะเลวร้ายนี้ไปได้ แต่มันยากนัก เพราะว่าในขณะนั้นเองที่ตนอ่อนแอที่สุด ไม่มีกำลังจะมาคิดบวก ไม่เข้มแข็งพอที่จะมามองเห็นคุณค่าตนเอง บุคคลเช่นนี้จึงหาจุดวกกลับไม่เจอ เพราะจุกวกกลับนั้นมันเป็นจุดที่ตนอ่อนไหว มันเป็นจุดที่เปราะบางที่สุด ตนจึงขาดกำลังที่จะพลิกชีวิตตนเอง
การจะก้าวข้ามภาวะนี้ไปได้ ต้องสร้างความเข้มแข็งภายใน มันไม่มีทางอื่น นอกจากว่าต้องเห็นคุณค่าตนเองเท่านั้น กุญแจสำคัญจึงต้องสร้างการยอมรับตนเองขึ้นมาก่อนว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ แล้วให้อภัยตนเอง เข้าใจตนเอง เรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่ผ่านมาในอดีต ณ จุดนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้มแข็งภายใน ค่อยเป็นค่อยไป แล้ววันนึงจะปลุกยักษ์ภายในขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่ง มั่นคง
แต่คนส่วนใหญ่รับไม่ได้ว่าแพ้ ว่าไปแล้วปัญหาในทุกความสัมพันธ์ มันคือแพ้ตนเอง แต่เพราะแพ้ไม่เป็น เลยต้องแพ้ตลอด