posttoday

จากความเชื่อสู่แฟชั่น “ตานีแบรนด์” เมื่อต้นกล้วยผี(ตานี)สร้างเงินแสน

13 มกราคม 2564

ต้นกล้วยเป็นคนสร้างสรรค์ ตานีเป็นผู้เขียนลวดลาย เราเป็นแค่ผู้เรียบเรียง “ธนกร สดใส” ปราชญ์กล้วยรุ่นเยาว์ผู้เปลี่ยนกาบกล้วยเหลือทิ้งให้เป็นกระเป๋าแฮนด์เมดดีไซน์เก๋ทำเงินสูงหลักแสนบาท

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล

ภาพ : อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์,ปัณณธร แจ้งประโคน

จากอดีตที่มักถูกโค่นทิ้งและไร้การสนใจ ‘กล้วยตานี’ หรือ ‘กล้วยผี’ กล้วยที่ไร้ค่ามีราคาต่ำหลักหน่วยได้กลายมาเป็นกระเป๋าถือสุดเก๋ที่มีมูลค่าถึงหลักแสนบาท

เพียงแค่เพิ่มเติมไอเดียลงในภูมิปัญญาและผสมกับใส่แนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์ “ตานีแบรนด์” ได้ลบความเชื่อพืชไม่มงคลสู่การเป็นงานหัตถกรรมของดีขึ้นห้างสรรพสินค้า เป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นประเทศ OTTOP KBO CONTEST 2019 เป็นของขวัญที่ระลึกขององค์กรชั้นนำและในการต้อนรับอาคันตุกะผู้นำต่างประเทศ ASEAN Summit ครั้งที่ 35

“ต้นกล้วยเป็นคนสร้างสรรค์ ตานีเป็นผู้เขียนลวดลาย เราเป็นแค่ผู้เรียบเรียง” อดีตนักเคมีสิ่งทอวัย 32 “กอล์ฟ-ธนกร สดใส” กล่าวเริ่มต้นบทสัมภาษณ์ของการเปลี่ยนผ่านจากความเชื่อสู่แฟชั่นงานแฮนด์เมดกระเป๋าที่สร้างมูลค่าให้ภูมิปัญญาและผู้คนในชุมชน

จากความเชื่อสู่แฟชั่น “ตานีแบรนด์” เมื่อต้นกล้วยผี(ตานี)สร้างเงินแสน

กล้วย(ตานี)ราชินีที่ถูกมองข้าม

กล้วยกับคนไทยถูกเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอยู่คู่คนไทยมาช้านานอย่างปฏิเสธไม่ได้ ตั้งแต่เราเกิดจนกระทั่งจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตด้วยประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรมทางศาสนา ในอดีตจึงนิยมปลูกกล้วยนานาชนิดติดบ้านกันไว้ทุกครัวเรือน ยกเว้น “กล้วยตานี” ที่ห้ามปลูกในบ้านเพราะมีความเชื่อว่ากันว่าเป็น ‘กล้วยผี’ เป็นพืชพันธุ์ไม้ที่เป็นไม่มงคล แม้ว่าแท้จริงแล้วนั้นกล้วยตานีมีคุณค่าเป็นดั่งราชินีของกล้วยทุกชนิดก็ตามที

“อดีตตานีเป็นดั่งราชินีกล้วย เพราะนิยมที่เอามาทำเกี่ยวกับงานประดิษฐ์หรืองานวิจิตรศิลป์ต่างๆ ทีนี้คนสมัยก่อนแทบทุกบ้านจะปลูกกล้วยที่กินได้ในบ้าน พวกกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม พอนำกล้วยตานีมาปลูกร่วมกัน ต้นกล้วยทุกต้นจะมีเม็ด เกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมา เขาก็เลยห้ามปลูกกล้วยตานีในบ้านจนเป็นกุศโลบายที่ว่าเป็นกล้วยผี”

ปราชญ์กล้วยรุ่นเยาว์บอกด้วยเหตุนี้เองจึงที่ทำให้สายพันธุ์กล้วยตานีได้ค่อยๆ เลือนหายจากสังคมไทย โดยที่เราหารู้ไม่ว่า ‘กล้วยตานี’ สามารถสร้างมูลค่าและรายได้มหาศาล เพราะไม่เพียงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ต้นจรดปลายแบบเดียวกับกล้วยชนิดอื่นๆ กล้วยตานียังมีความพิเศษในเรื่องของความทนทาน ความเหนียว และความสวยงามของลวดลายของกาบกล้วย ฯลฯ

จากความเชื่อสู่แฟชั่น “ตานีแบรนด์” เมื่อต้นกล้วยผี(ตานี)สร้างเงินแสน

“จากต้นกล้วยที่จะต้องตัดทิ้ง ตอนนี้กล้วยตานีกลายเป็นต้นกล้วยพันธุ์หายาก มีมูลค่าซื้อขายในท้องตลาดกลุ่มคนเล่นต้นไม้ตั้งแต่ร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่น ขณะที่หากเราอยู่กับเขาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เราเอามาประยุกต์ทำเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋าต่างๆ สามารถขายได้สูงถึง 45,000 บาทในหนึ่งใบที่เราเคยทำออกมา

“ทีนี้หากเรานำประโยชน์ทั้งหมดของกล้วยตานีเอามาใช้ อย่างที่เราตานีแบรนด์นำมาทำเป็นบายศรี ทำเป็นบรรจุภัณฑ์ ทำเป็นนวัตกรรมเรื่องของสีย้อมสีเพ้นท์วาด ทำงานจักรสานหัตถกรรม ก่อนหน้าที่จะเกิดการขับเคลื่อนกระเป๋าตานีแบรนด์รวมๆ แล้วที่เราสามารถสร้างเงินจากกล้วยตานีหนึ่งต้นพันธุ์หาไม่ยากมากสามารถทำเงินให้ได้สูงถึง 100,000 บาท”  

จากความเชื่อสู่แฟชั่น “ตานีแบรนด์” เมื่อต้นกล้วยผี(ตานี)สร้างเงินแสน

‘ความเชื่อ+แฟชั่น’ กำเนิดตานีแบรนด์

“ไม่มีอะไรที่ไร้ค่า ทุกๆ อย่างมีคุณค่าในตัวของเขาเองอยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นหรือไม่เท่านั้น” ธนกรกล่าวย้ำหลังไล่เรื่องของความเชื่อและการมองข้ามคุณประโยชน์ที่เราไม่ได้ไตร่ตรองแม้กระทั่งตัวของเขาเองที่ก็เพิ่งจะรับรู้ได้เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นพื้นเพครอบครัวเกิดมากับกล้วย มีอาชีพทำงานพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญตั้งแต่รุ่นทวด

“ผมสืบเชื้อสายชาติพันธุ์ไทย-เขมร นับรุ่นผมก็รุ่นที่ 4 ที่สืบทอดทำงานพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญ เด็กก็เห็นกล้วยอยู่กับกล้วยก็ทำให้เราสนใจทางด้านนี้ ตอนเรียนปริญญาตรีเลยเลือกเรียนทางด้านเรียนเทคนิคสิ่งทอเคมีเพื่อจะเอามาขับเคลื่อนวัฒนธรรมและขนบประเพณีรากเหง้าของเรา”

ธนกรบอกว่าแต่พอจบมาทำงานถึงรู้ว่ามันไม่ตรงกับใจที่ตั้ง เพราะความรู้ที่เรียนไม่ได้ใช้ในการทำงาน แถมสุขภาพอยู่กับโซดาไฟ เคมีสารตั้งต้นทางวิทยาศาสตร์ จึงย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นออกเดินทางศึกษาเพิ่มเติมต่อยอดได้ความรู้มากกว่าเรื่องเหตุผลการเกิดขึ้นของบายศรีสู่ขวัญหรือขึ้นตอนการทำในสมัยเด็กๆ เขาได้ทั้งงานหัตถกรรม งานช่างสิบหมู่ จากปราชญ์ที่มีองค์ความรู้หลายท่านจนตกตะกอน จนเกิดเป็นกระเป๋ากาบกล้วยตานีแบรนด์

จากความเชื่อสู่แฟชั่น “ตานีแบรนด์” เมื่อต้นกล้วยผี(ตานี)สร้างเงินแสน

จากความเชื่อสู่แฟชั่น “ตานีแบรนด์” เมื่อต้นกล้วยผี(ตานี)สร้างเงินแสน

“เอาสิ่งที่ธรรมชาติให้เรามาเอามาสร้างสรร เข้าใจธรรมชาติก็คือตัวคนเรา เรามีบายศรีที่ตัดทำมาจากต้นกล้วย ทีนี้ต้นกล้วยส่วนอื่นๆ เหลือจะปล่อยต้นกล้วยตานีให้เน่าสลายในร่องสวนเป็นการเปล่าประโยชน์ ใช้ใบแล้ว ใช้ต้นเอามาทำเชือกกล้วย ทำงานสาน เอาความรู้เคมีสิ่งทอมาทำสีย้อมจากน้ำยางกล้วยเสร็จคิดต่ออีกว่าจะทำอะไรได้อีกดีกับกาบกล้วย

“ก็ไปหาความรู้ผสมความรู้ที่เรียนออกมาเป็นหมวก กล่องใส่เอกสาร สมุดโน้ต ก่อนที่ได้กรรมวิธีหนังเทียมเสมือนหนังที่เป็นงานธรรมชาติ ทำให้ทนต่อรา กันน้ำได้ ก็เริ่มต้นผลิตกระเป๋าจากกาบกล้วย ช่วงปี 2559 แรกๆ ใครเห็นก็ว่าบ้า ตอนนั้นยอมรับทุกทิศทางไม่มีใครเข้าใจ”

หลังเอาสิ่งที่ธรรมชาติให้เรามาเอามาสร้างสรร เอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาผสมผสานภูมิปัญญาที่มีคลอดออกมาเป็นคอลเลคชั่นแรกของกระเป๋ากาบกล้วยตานีแบรนด์ออกสู่สายตา ทุกๆ คนก็เข้าใจและเปลี่ยนความคิด ด้วยไม่เพียงตอบโจทย์เทรนด์โลก ณ ปัจจุบันตอนนี้ที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากแต่วัตถุดิบทุกอย่างที่ทำยังสามารถสร้างมูลค่าในทุกส่วน การสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดด้วยนวัตกรรมที่ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นยังทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นผลิตภัณฑ์อีกด้วย

จากความเชื่อสู่แฟชั่น “ตานีแบรนด์” เมื่อต้นกล้วยผี(ตานี)สร้างเงินแสน

“ผลิตภัณฑ์กระเป๋ากาบกล้วยของแบรนด์ตานีเรา 1 ลายจะมีเพียง 1 ใบในโลกเท่านั้น เนื่องจาก 1 ต้นกล้วยตานีสามารถนำเอากาบกล้วยมาพัฒนาทำเป็นกระเป๋าเพียง 1 ใบ กล้วยตานีเขาจะมีสีแตกต่างในแต่ละต้น มีลวดลายธรรมชาติแต่ละต้นของเขานั้นไม่เหมือนกันกับการที่เราไปซื้อหนังมาเย็บขึ้นโมเดลทำกระเป๋า

“ก็ขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ช่วยกันสนับสนุนที่ทำให้ได้รับรางวัลหลักๆ ของทางเราได้นำเสนอคุณค่าของ ‘กล้วยตานี’ และได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ OTTOP KBO CONTEST 2019 จากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้เป็นของขวัญต้อนรับผู้นำจากต่างประเทศในงานการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35”

จากความเชื่อสู่แฟชั่น “ตานีแบรนด์” เมื่อต้นกล้วยผี(ตานี)สร้างเงินแสน

จากความเชื่อสู่แฟชั่น “ตานีแบรนด์” เมื่อต้นกล้วยผี(ตานี)สร้างเงินแสน

วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี

หลังจากลัดเลาะแนวคิดและเส้นทางของการเปลี่ยนผ่านจากความเชื่อ (ผี) สู่งานแฟชั่นกระเป๋ากาบกล้วยที่สร้างมูลค่าและรายได้สูงถึงหลักเรือนแสนที่น่าชื่นชม ธนกรยังเป็นต้นแบบแนวทางความคิดที่เจ๋งที่น่าเอาแบบอย่างตามแบบฉบับของคนชอบทำและทำมันจนเกิดเป็นความรักเมื่อสำเร็จก็ต้องการที่จะเผยแพร่ความรู้ตามแบบฉบับของคนชอบทำและทำมันจนเกิดเป็นความรักเมื่อสำเร็จก็ต้องการที่จะเบิกเนตร วันที่ 1 เมษายน 2561 จึงได้ก่อตั้งศูนย์ “วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี” ขึ้นเพื่อส่งต่อและแบ่งปัน

“ช่วงก่อนก่อตั้งตานีสมัยเด็กครอบครัวล้มละลาย เราได้วัดสนามชัย ที่อนุเคราะห์ให้พื้นที่ตั้งตัวสร้างบ้านและทำมาหากินในครอบครัว ทีนี้พอเรายืนขึ้นมาได้หลังทำตานีช่วงปี 2561 มันก็ทำให้เราลงลึกทางความคิดอีกขั้นที่ว่า ยิ่งเอายิ่งอด ยิ่งสละหมดยิ่งได้ คำยึดมั่นของศูนย์เรียนรู้ของเรา ช่วยเหลือคนอื่นในสาขาและความถนัด สิ่งที่ช่วยได้ช่วย

จากความเชื่อสู่แฟชั่น “ตานีแบรนด์” เมื่อต้นกล้วยผี(ตานี)สร้างเงินแสน

“ก็ตอบแทนทางวัด ตอบแทนสังคม เอาพื้นที่บ้านมาสร้าง ‘วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี’ เพราะสิ่งสำคัญคืออนาคตลูกหลานที่คนนรุ่นเราทิ้งอะไรให้เขา ไม่ใช่ว่าเอาแต่สะดวกตัวเองในวันนี้และทำลายในวันข้างหน้า เราก็อยากให้ทุกคนหันกลับมา เพราะคนเราสูงสุดแล้วตอนนี้ อยากให้กลับมาสู่สามัญ”

ธนกรบอกว่า ณ ตอนนี้ปัจจุบันสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี มีด้วยกันทั้งหมดกว่า 50 คน และไม่ใช่แค่คนจังหวัดราชบุรีเท่านั้นที่ให้ความสนใจ คนนอกพื้นก็ติดต่อมาขอเรียนรู้ ชาวต่างชาติประเทศนอกก็เดินทางมาดูงาน นอกจากนี้นักเรียนแลกเปลี่ยนหรือหน่วยงานราชการเองก็มาศึกษาและขยายสิ่งที่ตานีแบรนด์ทำและสร้างให้เป็นรูปธรรมกับพวกเขาที่มากยิ่งขึ้น

“ตอนนี้แบรนด์ตานีก็มีคอลเลคชั่นออกเรื่อยๆ ในช่วงปีใหม่นี้ ก็ฝากทั้งในเรื่องของกระเป๋ากาบกล้วยแบรนด์ตานีที่พวกเราตั้งใจทำสืบสานไว้กับพี่น้องคนไทย ส่วนใครที่สนใจสามารถโทรมาสอบถาม 099 – 1499746 หรือเฟซบุ๊ก ‘TaneeThailand’ หรือเข้ามาศึกษาและเรียนรู้นำไปปรับใช้กับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของตนเองที่ 85 หมู่ 6 ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี เรายินดีต้อนรับครับ”