'ชา' หรือ 'กาแฟ' เช้านี้เลือกอะไรดี?
ส่องความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง “ชา” กับ “กาแฟ” เครื่องดื่มแบบไหนจะดีต่อสุขภาพและชวนให้ดื่มมากกว่ากัน
หากพูดถึงเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ มักจะทำให้หลายคนนึกถึงชาหรือกาแฟอย่างแน่นอนเรียกได้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่คนบริโภคทั่วโลกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกันเลยทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นชาวอิตาลีที่ชื่นชอบการดื่มเอสเพรสโซร้อนแบบช็อตที่หน้าบาร์กาแฟ ในขณะที่ฝั่งเอเชียก็มีพิธีชงชาที่สะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะวัฒนธรรมในประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศจีน แม้กระทั่งในประเทศไทยก็มีวัฒนธรรมในการดื่มกาแฟและชาที่แตกต่าง อาทิ การคิดค้นเมนูแสนอร่อยอย่างชาไทย กาแฟโบราณ หรือบรรยากาศของสภากาแฟในยามเช้า เรียกได้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่สะท้อนเอกลักษณ์ของแต่ละชาติได้เป็นอย่างดี
อิทธิพลของการดื่มชาและกาแฟที่ไม่เหมือนกัน อาจจะทำให้บางคนเกิดความสงสัยว่า ระหว่าง “ชา” กับ “กาแฟ” เครื่องดื่มแบบไหนที่จะดีต่อสุขภาพ และชวนให้ดื่มมากกว่ากัน วันนี้เราเตรียมเรื่องราวที่น่าสนใจของชาและกาแฟมาฝาก ตามไปดื่มด่ำอรรถรสของเครื่องดื่มนี้กันได้เลย
ความเหมือนที่แตกต่างกัน
แน่นอนว่าทุกท่านทราบกันดีว่าในชาและกาแฟมีกาเฟอีนเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปนั่นก็คือ กาเฟอีนในกาแฟที่ส่วนใหญ่มักจะมีปริมาณมากกว่าชา แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะในเมล็ดกาแฟและใบชาบางสายพันธุ์ก็มีสารกาเฟอีนที่ไม่เท่ากัน
สำหรับกาเฟอีน (Caffeine) นั้นเป็นสารแซนทีนอัลคาลอยด์ที่สามารถพบได้ในพืชธรรมชาติหลายชนิด เช่น เมล็ดกาแฟ ใบชา โกโก้ ซึ่งกาเฟอีนมีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายตื่นตัว ไม่ง่วงซึม ผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยทำงานจึงมักจะดื่มชาหรือกาแฟเพื่อช่วยให้กระตุ้นประสาท ทำให้กระปรี้กระเปร่าและหายง่วงในระหว่างวัน บางคนถึงขั้นมีอาการติดกาเฟอีน ถ้าวันไหนไม่ได้ดื่มก็จะทำให้เกิดอาการปวดหัว กระสับกระส่าย หรือซึมเศร้าได้
คอกาแฟ : ความเข้มข้นที่ช่วยปลุกพลัง
บางคนอาจจะรู้สึกว่ากาแฟนั้นไม่มีประโยชน์และอาจจะทำให้เสพติดได้แต่อันที่จริงหากดื่มในปริมาณที่เหมาะสมและเป็นกาแฟดำโดยที่ไม่ได้ปรุงแต่งจากน้ำตาลนมไซรัปวิปครีมซึ่งเป็นตัวการทำให้อ้วนขึ้นก็จะทำให้การดื่มกาแฟมีข้อดีหลายอย่างเลยทีเดียว
- ช่วยกระตุ้นความทรงจำได้ดี ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน GCSF ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญ สามารถช่วยให้น้ำหนักลดได้ หากดื่มกาแฟควบคู่กับการออกกำลังกาย
- ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเกาต์ เพราะกาเฟอีนมีส่วนช่วยบรรเทาอาการอักเสบของข้อ เนื่องจากกรดยูริกที่เกินขนาดได้
- ช่วยปลุกความตื่นตัวให้กับร่างกายที่อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ให้กระฉับกระเฉง
- กาแฟมีส่วนผสมของโปรตีนและแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูก
แต่ข้อควรระวังคือ กาแฟนั้นมีปริมาณกาเฟอีนที่ค่อนข้างสูงมากกว่าชา ถ้าหากดื่มเกินวันละ 400 มิลลิกรัม ก็อาจจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ และทำให้เกิดอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ นอกจากนั้นยังการดื่มกาแฟในปริมาณมากๆ มักจะทำให้ฟันเหลืองอีกด้วย และจากงานวิจัยของเดนมาร์กพบว่า หากดื่มกาแฟเกินวันละ 8 แก้ว จะทำให้มีโอกาสเกิดการแท้งบุตรได้ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จึงต้องระวังให้ดี
คอชา : ความละมุนกรุ่นกลิ่นเอกษลักษณ์
ส่วนใครที่ชื่นชอบอรรถรสของการดื่มชา แน่นอนว่ามีประโยชน์หลากหลายไม่แพ้กับกาแฟเลยทีเดียว เพราะชาเป็นเครื่องดื่มที่มีสารหรือธาตุอยู่มากมาย ช่วยบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดีได้เช่นกัน
- ชามีสารฟลูออไรด์ ดีต่อสุขภาพช่องปาก ป้องกันฟันผุ ดื่มแล้วฟันไม่เหลืองเหมือนกับกาแฟ
- การดื่มชาจะช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียดได้ ทำให้แจ่มใส และสดชื่น ช่วยกระจายความร้อนส่วนเกินในร่างกาย
- ชามีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็งและช่วยบำรุงผิวพรรณ ทำให้ไม่แก่ง่าย
- ชาสามารถช่วยกระตุ้นระบบประสาท ช่วยหมุนเวียนโลหิตได้ ทำให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ ป้องกันไขมันส่วนเกินสะสมในร่างกาย
- การดื่มชาจะช่วยป้องกันและลดอาการของโรคอัลไซเมอร์ได้ อีกทั้งยังเพิ่มฤทธิ์ในการรักษาโรคไมเกรนได้ด้วยเช่นกัน
ส่วนข้อควรระวังคือ การดื่มชาที่มีกาเฟอีนมากเกินไปในระยะยาวนั้น มีผลต่อการลดระดับความหนาแน่นของกระดูกลง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้
เรื่องต้องรู้ของกาเฟอีน
สถาบันวิจัยหลายแห่งพบว่า ประโยชน์ของชาและกาแฟมีเท่าๆ กัน คือการช่วยปรับให้ระดับอินซูลินคงที่ และลดอัตราการเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคพาร์กินสัน และมะเร็งที่ลำไส้ได้ ในสารกาเฟอีนมีประสิทธิภาพทําให้เส้นเลือดที่ขยายออกหดตัวกลับสู่ภาวะปกติ บรรดายาแก้ปวดทั้งหลายจึงมีส่วนผสมของกาเฟอีนเพื่อช่วยลดอาการปวดไมเกรนหรือปวดศีรษะทั่วไป ขณะเดียวกันก็ทําให้เสพติด แม้จะไม่หนักหนาเหมือนยาเสพติดชนิดอื่นๆ แต่เมื่อไรที่รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หรือปวดหัว คนจะหันไปพึ่งกาเฟอีนเสมอ และมักจะพึ่งพาในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ ผลข้างเคียงที่ตามมาคือ ใจสั่น สมาธิสั้น คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อตึงและปวด และอาจทําให้ปวดไมเกรนได้
กาเฟอีน เป็นยากระตุ้นประสาทชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเสพติดได้ ซึ่งมีผลทําให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น ทําให้กระเพาะอาหารผลิตกรดออกมามากกว่าปกติ และทําลายโครโมโซมในหนูที่ใช้ทดลอง ทําให้ลูกหนูที่คลอดออกมาพิการไม่สมประกอบ โดยในปี ค.ศ.1980 สํานักงานอาหารและยา (F.D.A.) ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศเตือนให้สตรีที่ตั้งครรภ์ลดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้ แต่ในขณะเดียวกันแพทย์ได้ใช้กาเฟอีนกับเด็กทารกที่คลอดก่อนกําหนดและหยุดหายใจแล้วกว่า 20 วินาที เพื่อช่วยกระตุ้นให้ฟื้น แต่ได้ผลไม่แน่นอน และมีการใช้ในห้องทดลองเกี่ยวกับการกระตุ้นระบบประสาท รวมถึงใช้ผสมกับยาเออร์กอท (Ergot) ในการรักษาไมเกรนด้วย