posttoday

โรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศ

28 มกราคม 2564

"โรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี"พื้นที่โชว์นักท่องเที่ยวแบบ Story Telling เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ ชูเป็นพิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย

‘ตำนานปล่องไฟ สัญลักษณ์ของคนเมืองกาญจน์’ ในยุคก่อน การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อมองเห็นปล่องไฟของ โรงงานกระดาษตั้งสูงตระหง่านใจกลางเมือง จะเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าเดินทางมาถึงเมืองกาญจน์แล้ว

‘โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี’ ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางกำแพงเมือง บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กจ.194 ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มีเนื้อที่ จำนวน 69-2-34 ไร่ เป็นโรงงานกระดาษแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ใช้ผลิตกระดาษและธนบัตรในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 โดยใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบผลิตเยื่อกระดาษ เป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ต่อมาประสบภาวะขาดทุน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกเลิกกิจการ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2525 จากนั้นจึงได้ให้บริษัทเอกชนเช่าประกอบกิจการอุตสาหกรรมผลิตกระดาษจนครบสัญญาเช่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2561 ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนรวมถึงจังหวัดกาญจนบุรีจึงได้ยื่นข้อเสนอให้ทบทวนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ โดยเสนอให้พัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นเขตโบราณสถานเมืองเก่าที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของ จ.กาญจนบุรี พร้อมกับขอรับการสนับสุนนให้กรมธนารักษ์อนุญาตให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีใช้ประโยชน์เป็นสวนสาธารณะและแหล่งศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัด "ภูมิบ้าน ภูมิเมืองกาญจน์" โดยผ่านการบริหารจัดการของคณะกรรมการร่วม 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน

โรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงงานกระดาษ เหมือนแดนสนธยาที่คนเมืองกาญจน์ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าไป จนกระทั่งชาวกาญจนบุรี และ นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ช่วยกันผลักดันจนเราสามารถนำโรงงานกระดาษแห่งนี้คืนกลับมาให้คนกาญจนบุรี รวมทั้งพยายามผลักดันทุกวิถีทางที่จะทำให้โรงงานกระดาษแห่งนี้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดให้ได้

ที่ผ่านมาต้องเจอกับปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ทุกฝ่ายก็พยายามหาทางออก และขับเคลื่อนในทุกมิติ โดยเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2563 ที่ห้องประชุมแควใหญ่ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง แนวทางเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาโรงงานกระดาษกาญจนบุรี พร้อมคณะกรรมาธิการฯ และคณะอนุกรรมาธิการฯ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นของโรงงานกระดาษกาญจนบุรี พร้อมทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เข้าร่วม

ทั้งนี้เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและแนวทางร่วมกันในการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม กำหนดแนวทางรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่โรงงานกระดาษเก่าแบบไตรภาคี มีส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอ เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งภูมิบ้านภูมิเมืองกาญจน์บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย

โรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศ

โดยมีการปาฐกถาพิเศษ จากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี เรื่อง กาญจนบุรีเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และการอภิปราย เรื่อง แนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาโรงงานกระดาษให้เป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่ประวัติศาสตร์ของจังหวัดกาญจนบุรี จาก นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายวิกรม กรมดิษฐ์ มิสเตอร์ ฮาราลด์ ลิงค์ (MR.Harald Link) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสรรเพชญ ศลิษฏ์อรรถกร และมี รองศาสตราจารย์สุกรี เจริญสุข อนุกรรมาธิการ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ก่อนหน้านี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นชาวกาญจนบุรี ได้เสนอ 3 เส้นทางสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ บนฐานวัฒนธรรม ผสมผสานการท่องเที่ยว (Cultural Economics + Tourism) คือ 1.หยิบยกรากเหง้าทางด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ยังถูกใช้อย่างจำกัด มาพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่น 2.ส่งเสริมให้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของการพัฒนาพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน และ 3.คิดบนกรอบสากลเพื่อสร้างแรงตระหนักรู้ถึงความสำคัญของพื้นที่และเชื่อมโยงท้องถิ่นกับโลกภายนอกผ่านการพัฒนาพิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย

นายสนธิรัตน์ อธิบายให้ฟังว่า “สำหรับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม ผสมผสานการท่องเที่ยว (Cultural Economics + Tourism) แนวคิดนี้ผมได้นำเสนอในรายการโลกเปลี่ยนสีกับคุณสุทธิชัย หยุ่น ร่วมกับคุณวิกรม กรมดิษฐ์ และคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่เรามาคุยกันเรื่องเมืองกาญจน์ ซึ่งพวกเราต่างก็เป็นคนเมืองกาญจน์ด้วยกัน การคุยครั้งนี้ก็เพื่อร่วมกันแชร์ความคิดออกแบบการพัฒนาเมืองกาญจน์บ้านเกิดของเรากัน

เราเห็นพ้องต้องกันในหลายเรื่อง เกี่ยวกับจุดแข็งของจังหวัดกาญจนบุรีโดยเฉพาะประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนานของจังหวัดแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นจุดขายที่สำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาภายในจังหวัด

โดยประเด็นหนึ่งที่ผมเล็งเห็นว่าสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้เพื่อเป็นจุดขายสำคัญของจังหวัดกาญจนบุรีคือตัวโรงกระดาษที่มีอายุ 80 กว่าปี ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นมากกว่าพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ เพราะมันยังบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านทางด้านอุตสาหกรรมในประเทศไทยอีกด้วย

ที่สำคัญโรงกระดาษแห่งนี้ยังนำพานวัตกรรมสมัยใหม่ทั้งด้านการเริ่มต้นอุตสาหกรรมและการบริหารจัดการสมัยใหม่มายังเมืองกาญจน์อีกด้วย เช่น คลับเฮาส์ของโรงกระดาษแห่งนี้เป็นที่ตั้งของทีวีเครื่องแรกของจังหวัด มีระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลรูปแบบใหม่ให้พนักงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนการเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัยของประเทศไทยทั้งสิ้น

โรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศ

ก่อนอื่นก็ต้องขอบคุณอาจารย์เนาวรัตน์ที่ชวนผมเข้ามาร่วมโครงการนี้ ซึ่งจุดแข็งมากมายของสถานที่แห่งนี้ทำให้ผมเล็งเห็นศักยภาพว่าเราควรต้องต่อยอดโครงการนี้ให้เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ จึงได้เชิญชวนใครหลายคนเข้ามาร่วมกันพัฒนาโครงการนี้เพื่อให้เป็นรูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

ผมตั้งใจอยากให้โครงการนี้เป็นแม่แบบสำคัญในการสร้างต้นแบบที่เน้น Cultural Economy บวกกับ Tourism (การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม ผสมผสานการท่องเที่ยว) และมันยังสามารถลงไปในประเด็นของศิลปวัฒนธรรมได้อีกด้วย โดยตั้งใจว่าจะให้โครงการนี้ขึ้นมานำเสนอและบริหารจัดการในระดับสากล

แต่สำคัญที่สุด โครงการนี้จะไม่ใช่โครงการเพื่อผลประโยชน์ของใคร ความตั้งใจของทุกคนคือต้องการเห็นโครงการนี้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และเพื่อพิสูจน์ให้เห็นไปในตัวด้วยว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมก็เติบใหญ่ แข็งแรง และมั่นคงได้

ด้วยประสบการณ์ในอดีตที่ผมเคยเป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสังคมและวัฒนธรรม ผมเล็งเห็นมาตลอดว่าประเทศไทยเรามีรากเหง้าที่ดีงามและน่าสนใจ แต่เรายังหยิบสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ไม่มากพอ ครั้งนี้จึงจะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ โดยการเอาวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ศิลปะแบบดั้งเดิม บวกกับประวัติศาสตร์ บวกกับการนำเสนอในมิติใหม่

ซึ่งผมคาดว่าโครงการนี้อาจเป็นคล้ายๆ พิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผมและใครหลายคนพยายามทำร่วมกัน เพื่อให้เป็นโครงการของทุกคนอย่างแท้จริง”

และว่า “บ้านเรายังมีการพัฒนารูปแบบของการท่องเที่ยวน้อย เราเน้นไปในทางโปรโมทเยอะ เน้นในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เรามีอยู่เยอะ แต่เราขาดการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวให้กลายเป็นแหล่งที่มาทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมคาดหวังการพัฒนาโรงงานกระดาษเป็นโมเดลที่สำคัญของประเทศ” นายสนธิรัตน์ กล่าว

โรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศ

ขณะที่ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา และศิลปินแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า “เราไม่ได้คิดเพียงแค่การเอาตัวอาคารที่อยู่กลางใจเมืองกลับมาเป็นของชาวกาญจน์เท่านั้น แต่ตัวอาคารเราอยากทำให้นอกจากแสดงความเก่าศักดิ์สิทธิ์แล้ว เราอยากทำภายในให้เล่าเรื่องของเมืองกาญจน์ผ่านงานศิลปะ”

ด้าน นายวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร (CEO) บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน ให้ความเห็นว่า “ผมเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มาเมืองกาญจน์แล้วก็ตกใจตั้ง 9 ล้านคนต่อปี ผมเลยคิดว่าเมืองกาญจน์ก็อยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ เรากำลังโปรโมทเรื่องการท่องเที่ยว เราน่าจะต่อยอดเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศไทยในเชิงประวัติศาสตร์ได้”

โรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศ

ในขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าจังหวัดกาญจนบุรีมีความโดดเด่น ‘เสมือนเป็นเพชรเม็ดงามดินแดนตะวันตก’ เลยทีเดียว และบางคนก็ได้แสดงความเห็นว่า “การที่จะนำมาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนย่อมเป็นผลดีกับชุมชน? แต่ต้องอย่าให้การท่องเที่ยวไปทำลายวัฒนธรรมเก่าๆ จนไม่เหลือความเป็นรากเง้าของวัฒนธรรมนั้นๆ? ต้องมีการศึกษาให้รอบด้านก่อนไม่เช่นนั้นอาจเป็นผลลบมากกว่าบวก? ขณะเดียวกันชุมชนนั้นๆ ต้องเข้มแข็งพอที่นำสิ่งสมัยใหม่เข้าไปแล้วพวกเขาจะรู้เท่าทันสิ่งนั้นๆ”

..อีกไม่นานโรงงานกระดาษก็จะเป็นสถานที่ที่ใครมากาญจนบุรีต้องแวะเข้ามา กาญจนบุรีจะมีพื้นที่โชว์นักท่องเที่ยวแบบ Story Telling เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ ความสำคัญของกาญจนบุรีกับสยามประเทศ เริ่มจากโรงงานกระดาษแห่งแรกของประเทศไทย.