เส้นใยอารมณ์กับความยั่งยืน
โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน
เมื่อพิจารณาบุคคลที่ประสบความสำเร็จ เราพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้เขาเหล่านั้นถึงฝั่ง เช่น ความสามารถในการปรับตัวอย่างยืดหยุ่น การปรับทัศนคติเชิงบวก ความสามารถในการนำตนเองเพื่อเล่นเชิงรุก หรือการคิดเชิงระบบเพื่อการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ หรือมีภาวะผู้นำที่เข้าใจถึงคุณค่าของความเป็นตัวตนของทีมงาน แต่ทุกความสำเร็จเหล่านี้ล้วนมีปัจจัยเบื้องหลังที่สำคัญนั่นคือ ความเข้มแข็งของเส้นใยอารมณ์
เส้นใยอารมณ์คืออะไร มันสำคัญอย่างไร แล้วเราจะสร้างให้มันเข้มแข็งได้อย่างไร?
เส้นใยอารมณ์คือ ภาวะของความมั่นคงภายใน ความเข้มแข็ง หนักแน่น มีภูมิต้านทาน อดทน ความทนทานต่อแรงกระทบ ความสามารถดังกล่าวนี้เองที่ส่งผลให้คนประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน เพราะคนเราจะประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง มันไม่ใช่แค่พูดเป็น หรือทำเป็นเท่านั้น แต่มันขึ้นอยู่กับว่า เราจะสามารถยืนหยัดและทำอย่างต่อเนื่องได้นานแค่ไหน จะสามารถควบคุมตนเอง จัดการตนเอง นำตนเองได้หรือไม่ จะสามารถเลือกตอบสนองอย่างไรให้เหมาะสมในสถานการ์ณนั้นๆ และจะสามารถพลิกฟื้นให้กลับมานำตนเองได้ เพื่อเล่นเชิงรุกแม้ในภาวะยากลำบากได้ดีเพียงไร
เพราะทุกๆ วัน มันมีปัญหา ความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และมันไม่ได้มาเดี่ยวๆ แต่ถาโถมเข้ามาอย่างสลับซับซ้อน สร้างแรงกดดัน และเพื่อความอยู่รอด บุคคลจึงต้องยกระดับความเข้มแข็งภายในตนเอง สร้างเส้นใยอารมณ์ให้แข็งแกร่ง มีความทนทาน มิให้ขาดผึงกระเด็น แล้วระเบิดออกมาเป็นประเด็นทางอารมณ์ ไม่ว่าจะได้รับแรงกดดันเพียงใดก็ตาม ว่าแต่ว่าแล้วเราจะพัฒนาคุณสมบัตินี้ขึ้นมาได้อย่างไร ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักก่อนว่า เส้นใหญ่อารมณ์มีที่มาที่ไปอย่างไร จากนั้นจึงมาดูว่าจะสร้างมันให้แข็งแกร่งได้อย่างไร ที่สำคัญจะรักษามันให้คงอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร เส้นใยอารมณ์มีคุณสมบัติของภาวะความเข้มแข็งภายในที่สะท้อนมาจากความเป็นตัวตนของบุคคลคนนั้นเอง และตัวตนก็คือกรอบความคิดหรือภาพที่ตนมีต่อตนเอง แล้วภาพแบบไหนที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งมั่นคงภายใน มันไม่มีทางอื่น นอกจากการเห็นตนเองเชิงบวก
แล้วการเห็นตนเองเชิงบวกคืออะไร มันคือการเห็นคุณค่าในตนเอง แล้วการเห็นคุณค่าตนเองคืออะไร เพราะคนเราผ่านประสบการณ์ทั้งบวกและลบมามากมายทั้งชีวิต การเห็นคุณค่าตนเองจึงเป็นการยอมรับ เข้าใจ ให้อภัยในสิ่งที่ตนทำในอดีตทั้งด้านบวกและลบ
ประเด็นด้านบวกไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมันฟังแล้วดูดี แต่ที่เป็นปัญหาก็คือประสบการณ์ด้านลบ ซึ่งแน่นอนว่ามันอยู่ในรูปของความผิดพลาด ล้มเหลว ที่ทุกคนล้วนต้องผ่านมาอย่างหนักหน่วงและไม่ใช่เพียงครั้งเดียว แต่มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทับซ้อนกันจนกลายเป็นตัวตนของคนๆ นั้น
ประสบการณ์ด้านลบดังกล่าวนี้เองที่มันหลอมรวมเข้าด้วยกัน และก่อรูปขึ้นมาเป็นกรอบความคิดที่สะท้อนเป็นตัวตน แต่มันเป็นตัวตนที่ติดลบและผูกปมเป็นเรื่องขึ้นมา แล้วสะท้อนออกมาเป็นอาการปัญหาทางอารมณ์ที่ทำให้ตนไม่อาจควบคุมตนเองได้ หุนหันพลันแล่น บ่อยครั้งที่ใช้อารมณ์เกินเหตุ เป็นคนวิตกจริต คิดมาก หยุมหยิม แม้เรื่องเพียงเล็กน้อยก็ไม่ผ่าน มักจะเก็บเอามาคิด มากดดัน ย้ำคิดย้ำทำ จนกลายเป็นปัญหาทั้งต่อตนเองและในทุกความสัมพันธ์ และนี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้บุคคลไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งและความรับผิดชอบที่สูงขึ้นได้ เพราะในเมื่อยังควบคุมตนเองไม่ได้ แล้วจะไปปกครองคนอื่นได้อย่างไร ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ พาลไปสร้างปัญหาให้กับส่วนรวมอีกด้วย บุคคลเหล่านี้จึงพลาดโอกาสก้าวหน้าในชีวิต และความผิดหวังดังกล่าวจะกลับมาซ้ำเติมให้ตนกลับแย่ลงไปอีก มันเป็นการซ้ำเติมว่าตัวเองไม่เอาไหน ไร้ความสามารถ ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วท่านลองวาดภาพว่าหากเรื่องนี้เกิดขึ้นที่บ้าน กับคนที่ท่านรัก สภาพมันจะเป็นอย่างไร
แล้วเราจะสร้างเส้นใยอารมณ์ให้แข็งแกร่งได้อย่างไร มันต้องกลับไปที่รากของปัญหาอันเป็นก้นบึ้งของสาเหตุที่แท้จริง นั่นก็คือ ความรู้สึกถึงการขาดคุณค่าที่มีต่อตนเอง มันคือกรอบความคิดที่เห็นตนเองไม่เอาไหน มันเป็นภาพที่เห็นตัวเองติดลบ ดังนั้น รากของปัญหา มันจึงเกิดจากการที่ตนมองตนเองเป็นใครอย่างไร โดยทั่วไป คนเรามักจะจดจำภาพลบหรือสิ่งที่ตนทำผิดพลาดมาในอดีต แล้วขุดเอาขึ้นมาโทษตัวเองตลอดเวลา บ่อยครั้งเข้าก็กลายเป็นปมลบฝังแน่นที่คอยกดดัน กัดกินใจ จนเป็นความรู้สึกผิดหวังต่อตนเองเชิงลึก ปัญหามันอยู่ที่ตรงนี้แหละที่บุคคลทั่วไปไม่เข้าใจ มองไม่ขาด จึงแก้ปัญหาไม่ตก เมื่อคุณค่าตนเองหายไป จึงพยายามหาทางชดเชย แต่ทางออกของคนทั่วไปก็คือ พยายามเอาปัจจัยภายนอกตัวมาปกปิด หรือมาเสริมเติมแต่งในรูปของเสื้อผ้าหน้าผม หรือสิ่งของภายนอกเพื่อยกฐานะตนเอง โดยเชื่อว่าจะสามารถลบล้างภาวะติดลบในใจออกไปได้ หรืออย่างน้อยก็กลบเกลื่อนมันพอไปได้บ้าง
แต่ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ หลายคนเที่ยวไประรานคนอื่น พูดจาข่มคนอื่น แสดงตนเหนือกว่า มองคนอื่นว่าด้อยกว่า หรือบ่อยครั้งแสดงออกถึงความสมบูรณ์แบบ เพื่อต้องการให้คนอื่นมองว่าตนนั้นมีอะไรดีแต่หารู้ไม่ว่า อาการเหล่านี้ล้วนสะท้อนมาจากความรู้สึกติดลบที่ตนมีต่อตนเอง โดยรวมแล้ว อาการเหล่านี้มักสร้างปัญหาในรูปของความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ดังนั้น ทางออกจะต้องกลับเข้าไปสำรวจภายในตนเอง โดยการปรับมุมมองของตนเองที่มีต่อตนเองเสียใหม่ มันเป็นการยอมรับ มองตนเองอย่างเข้าใจ ให้อภัยตนเองในอดีตอย่างลึกซึ้ง มองเรื่องที่ผ่านมาเป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อการเติบโตในอนาคต
มันคือการยอมรับว่าตนเองมีข้อผิดพลาด ซึ่งโดยปกติคนทั่วไปจะไม่สามารถผ่านเงื่อนไขนี้ไปได้เพราะมันรับไม่ได้ว่าตนมีความผิดพลาดต่อสิ่งที่ผ่านมาในอดีต มันจึงเป็นภาวะติดลบเชิงซ้อนที่แกะไม่ออกเพราะหลักการบอกว่า ต้องมองตนเองเชิงบวก แต่การที่จะมายอมรับว่าตนเองผิดพลาดนั้น มันรับไม่ได้จริงๆ เพราะถ้ารับ นั่นแสดงว่าตนผิดจริงๆ นะซิ ตรงนี้เองที่เป็นความเข้าใจผิดต่อความรู้สึกผิด เมื่อยังยอมรับตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ผ่านเงื่อนไขสำคัญ ไม่สามารถเก็บกวาดขยะในใจได้ ภาวะติดลบนั้นมันจึงเกาะกัดกินใจตนเองไปเรื่อย สะสมนานๆ เข้า ก็กลายเป็นปัญหาทางอารมณ์ การยอมรับตนเอง ให้อภัยตนเอง จึงเป็นการปลดปล่อยภาวะจองจำในใจที่ตนสร้างขึ้นมาเองและนำติดตัวมาตลอดเวลา แล้วกลับมาทำร้ายตนเอง กระบวนการดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จ ไม่ว่าจะในมิติใดของชีวิต ไม่ว่าโลกจะผันผวนอย่างไร เทคโนโลยีจะก้าวหน้าเพียงใด การแข่งขันทางธุรกิจจะรุนแรงเพียงไร การสร้างเส้นใยอารมณ์ที่แข็งแกร่ง มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีเข้มแข็งภายใน มีภูมิต้านทาน ยืนหยัด หนักแน่น อดทน สามารถนำตนเองได้ รู้ว่าจะตอบสนองอย่างไรให้เหมาะสม ทั้งหมดนี้คือตำตอบของความอยู่รอดอย่างยั่งยืนในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าท่านจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม