ทฤษฎีกาแฟร้อน Coffee Theory ตอนที่ 2 : Thailand Mission to Transform
โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่าย เพื่อเป็นแนวทางของร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. (2566-2570) เพื่อ "พลิกโฉมประเทศไทย สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน" ไปสู่การปฏิบัติที่มีทิศทางชัดเจนและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สามารถตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต
โดยมีเป้าหมายที่สำคัญทั้งหมด 5 ประการ ดังนี้
1. เศรษฐกิจมูลค่าสูงบนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม
2. การผลิตและการบริโภคมีความยั่งยืน
3. สังคมแห่งโอกาสสำหรับทุกกลุ่มคนและทุกพื้นที่
4. กำลังคนมีศักยภาพสูง
5. พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
ทั้งนี้ มีหมุดหมายหลัก 13 ประการ คือ เน้นสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปมูลค่าสูง การท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง จุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ของภูมิภาค เป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs ระหว่างพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้และความมั่งคั่ง เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ สามารถปรับตัวและลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และ องค์กรภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เป็นแผนแม่บทของการพัฒนาประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ครอบคลุมมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ เราจำเป็นต้องเห็นความจริงว่า ทุกปัญหามันเป็นปัญหาเชิงซ้อน ปัญหาทับซ้อนปัญหา มันเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต โอกาสซ้อนอยู่ในโอกาส และการจะรับมือกับปัญหาเชิงซ้อนในลักษณะนี้ได้จำเป็นต้องผ่านมุมมองเชิงระบบ แล้วมุมมองเชิงระบบคืออะไร
การทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของปัญหาเชิงซ้อน เราสามารถอุปมาอุปไมยได้จาก ทฤษฎีกาแฟร้อน หรือ Coffee Theory ที่อธิบายถึงธรรมชาติของแนวคิดเชิงระบบที่ว่า สรรพสิ่งมีคุณสมบัติสำคัญ 6 ประการคือ
1. ความเป็นหนึ่งเดียว
2. องค์ประกอบ
3. การเชื่อมโยง
4. การผุดกำเนิด
5. ศักยภาพที่แตกต่าง
6. คุณค่าและความหมาย
แล้วทฤษฎีกาแฟร้อน จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความซับซ้อนของปัญหา รวมทั้งการหาทางออกต่อปัญหานั้นๆ ได้อย่างไร
ขอเริ่มที่เอสเพรสโซ่ จะเห็นว่าเอสเพรสโซ่มีความเป็นหนึ่งหน่วย หนึ่งเดียว ที่มีองค์ประกอบคือ ผงกาแฟและน้ำร้อน (น้ำตาลเป็นทางเลือก) เมื่อนำทั้งสองมาชง มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ในขณะนั้นเอง มันได้ผุดกำเนิดขึ้นเป็นภาวะองค์รวมใหม่ ที่มีคุณสมบัติและศักยภาพที่แตกต่างจากองค์ประกอบเดิมเมื่ออยู่อย่างแยกส่วน นั่นคือความหอมและรสชาติที่เข้มข้นที่นำไปสู่คุณค่าและความหมาย นั่นคือ ราคา
แต่เมื่อนำเอสเพรสโซ่ที่ได้มาเติมด้วยฟองนมและนมสด เราได้สิ่งใหม่เรียกว่าคาปูชิโน่ และเมื่อนำคาปูชิโน่มาเติมด้วยช็อกโกแลต เราเปลี่ยนชื่อมันเป็นมอคค่า
นั่นหมายความว่า ในคาปูชิโน่ มันมีเอสเพรสโซ่ฝังอยู่ข้างใน และตัวมันเองก็ฝังอยู่ในมอคค่าด้วย
จะเห็นได้ว่า กาแฟแต่ละชนิดคือระบบ เพราะเข้าลักษณะสำคัญทั้ง 6 ประการตามทฤษฎีกาแฟร้อนนี้ และหากต้องการปรุงมอคค่าให้มีคุณค่าที่ดี เราต้องเตรียมคาปูชิโน่และผงช็อกโกแลตที่มีคุณภาพ แล้วนำทั้งสองมาชงเข้าด้วยกัน และหากจะเตรียมคาปูชิโน่ให้มีคุณค่า เราต้องเตรียมเอสเพรสโซ่ ฟองนม และนมสดที่มีคุณภาพ แล้วนำทั้งสามมาชงเข้าด้วยกัน ในทำนองเดียวกัน คุณภาพของกาแฟร้อนเอสเพรสโซ่ ก็ขึ้นกับคุณภาพของผงกาแฟเอสเพรสโซ่และน้ำร้อน
จะเห็นว่าทั้งมอคค่า คาปูชิโน่ เอสเพรสโซ่ต่างก็คือระบบ มันเป็นระบบที่ทับซ้อนกัน มันจึงเป็นระบบซ้อนระบบอย่างเป็นลำดับชั้น กล่าวคือ ระบบเอสเพรสโซ่ซ้อนอยู่ในระบบที่ใหญ่กว่าคือระบบคาปูชิโน่ และระบบคาปูชิโน่ก็ซ้อนอยู่ในระบบที่ใหญ่กว่าขึ้นไปอีก นั่นคือ ระบบมอคค่า ดังนั้น หากจะปรุงมอคค่าให้อร่อย มีคุณค่า เราต้องพิจารณาย้อนหลัง ไล่เรียงลงไปทีละขั้นตอนอย่างเป็นลำดับชั้น ทีละชั้น
อุปมาดังกล่าว นำมาซึ่งความเข้าใจที่ว่า ความท้าทายใดๆ มันก็มีธรรมชาติเป็นเช่นเดียวกับความเป็นกาแฟร้อนที่ต่างชนิดกันที่ทับซ้อนกันอยู่ภายใน ดังนั้น ในการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดเป็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เราจึงต้องพิจารณาทั้งหมดอย่างเป็นภาพรวม โดยเห็นว่าอะไรคือองค์ประกอบหลัก จากองค์ประกอบหลัก เราต้องหาว่าอะไรคือองค์ประกอบรอง จากองค์ประกอบรอง อะไรคือองค์ประกอบย่อยแล้วจากองค์ประกอบย่อยนั้นๆ อะไรคือองค์ประกอบย่อยๆ ลงไปอีก แล้วดูว่าทั้งหมดนั้นเชื่อมโยง สัมพันธ์กันอย่างไร และด้วยการจัดการองค์ประกอบต่างๆ ดังกล่าว จะนำมาซึ่งทางออกเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงประประจักษ์
ในทำนองเดียวกัน การนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปทำให้เกิดผลเชิงประจักษ์ เราต้องพิจารณาว่าประเทศไทยคือระบบใหญ่ มีความซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียว โดยมีองค์ประกอบหลักคือหมุดหมาย 13 ประการดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกัน สัมพันธ์ ส่งผลซึ่งกันและกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ เพื่อเป้าหมายหลักคือ การพลิกโฉมประเทศไทย สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน
ทีนี้ในทางปฏิบัติเพื่อทำให้หมุดหมายทั้ง 13 ประการเป็นจริงได้นั้น จำเป็นต้องมองว่าแต่ละหมุดหลักนั้นก็คือระบบที่มีองค์ประกอบย่อยๆ มาสัมพันธ์กันเพื่อให้แต่ละเป้าหมายเป็นจริง
ยกตัวอย่าง หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง และมีประเด็นรองๆ คือ
1. ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า เพื่อยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่า
2. ส่งเสริมการขยายตัวของตลาดสินค้าเกษตรมูลค่าสูง
3. ขยายผลรูปแบบเกษตรยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4. พัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ
5. ส่งเสริมตลาดกลางและตลาดออนไลน์
6. สนับสนุนระบบประกันภัยและมาตรฐานสินค้าเกษตร
7. พัฒนาประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิต
8. ส่งเสริมให้เกษตรกรมีที่ทำกินและรักษาพื้นที่เกษตรกรรมที่เหมาะสม
9. พัฒนาฐานข้อมูลและการใช้ประโยชน์ข้อมูลการเกษตร
10. ยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกร
11. พัฒนากลไกเพื่อเชื่อมโยงภาคีต่าง ๆ ของภาคเกษตร
และจากประเด็นรองเหล่านี้ เราต้องแตกออกเป็นประเด็นย่อยๆ ลงไปอีกอย่างเป็นลำดับชั้น และด้วยการพิจารณาถึงความเชื่อมโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่างเหล่านี้ จะนำมาซึ่งทางออกของปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ดังนั้น ในการพิจารณาการนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ไปปฏิบัติให้เป็นจริง เราจำเป็นต้องพิจารณาด้วยมุมมองระบบเชิงซ้อน นั่นคือประเด็นต่างๆ มันเป็นประเด็นซ้อนประเด็น มันจึงเป็นประเด็นเชิงซ้อน เปรียบได้กับปัญหาซ้อนปัญหา วิกฤตซ้อนวิกฤต มันเป็นโอกาสซ้อนอยู่ในโอกาส มันเป็นปัญหาที่หลากหลายที่ทับซ้อนกันอย่างสลับซับซ้อนอย่างเป็นลำดับชั้น ยิ่งมีลำดับชั้นสูงขึ้น ความซับซ้อนก็มากขึ้น ความท้าทายก็ยิ่งสูงขึ้น
ทฤษฎีกาแฟร้อนจึงช่วยให้เข้าใจถึงธรรมชาติของความซับซ้อนของปัญหา และเป็นแนวทางเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาระบบเชิงซ้อนได้อย่างมั่นใจ เป็นรูปธรรม เพื่อการพลิกโฉมประเทศไทย สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน
ทฤษฎีกาแฟร้อนจึงเป็นศาสตร์องค์รวมแห่งความสำเร็จ