สมดุลชีวิตและมนุษย์นิยมของ หงา คาราวาน
เล่าขานตำนานเพลง โดยประสาร มฤคพิทักษ์
ความเป็นศิลปินของหน่วยศิลป์ในเขตงานป่าเขา ทำให้ หงา คาราวาน ซึ่งมีมือหนึ่งถือกีตาร์ อีกมือถือปืน ช่วงที่อันตรายคือตอนไปอยู่เขตน่าน หงา ต้องอยู่ในสมรภูมิศึกผาแดงที่มีเหตุปะทะกันถึงเลือดถึงเนื้ออยู่เป็นประจำ
สหายบิน เป็นหนุ่มชาวลัวะ ที่อยู่ใกล้ชิดกับหงา ประเภทไปไหนไปกัน
ที่สมรภูมิห้วยหลักลาย เขตน่านใต้ หงากับสหายบินต้องออกลาดตะเวนดูเส้นทาง รัฐบาลกำลังสร้างเส้นทางสายใหม่ระหว่างห้วยหลักลายกับบ่อเกลือใต้ แนวเส้นทางต้องผ่ากลางฐานที่มั่น โดยฝ่ายทางการใช้จีนฮ่อเป็นทหารรับจ้างคุ้มกัน สหายบินพาทหารป่าชุดหนึ่ง ซึ่งมีหงาอยู่ด้วยเดินลัดเลาะเรียงเดี่ยวตามสหายบินอย่างระมัดระวังเพราะอาจมีการซุ่มโจมตีได้ทุกนาที
มีวันหนึ่ง การลาดตะเวนวันนั้น ฝ่ายตรงข้ามสืบรู้ จึงเกิดปะทะกันดุเดือด เสียงปืนทั้งสองฝ่ายคำรามลั่นสนั่นป่า หงาซึ่งไม่ได้เดินทางวันนั้นแต่ได้รับรายงานว่า เพื่อนสหายตกอยู่ในวงล้อมสหายบินปลอบขวัญทุกคนอย่างมีสติ และช่วยให้คนอื่นๆ ออกจากวงล้อมอย่างปลอดภัย แต่สหายบินเองกลับถูกรุมยิงเสียชีวิต
หงามีความผูกพันเป็นสหายร่วมตายกับสหายบิน จึงเขียนเพลง “บิน” ให้กับสหายผู้จากไปว่า
“บิน บิน แผ่นดินร้องเรียก
เสียงผองชนเพรียกขาน
ลับลา จวบนิรันดร์กาล
นานแสนนาน แสนนาน”
เพลง “ใกล้ตา ไกลตีน” เป็นอีกเพลงหนึ่งของ หงา คาราวาน ที่มีคนรู้จักและประทับใจมากเพลงหนึ่ง ในจำนวนเพลงนับพันของผู้แต่ง
“........ เจ้าเคยฝันถึงวันที่ดี
มาบัดนี้มิอาจพบหน้า
ดูใกล้ตา แต่แล้วไกลตีน
แผ่นดินหอม แผ่นดินที่ตรอม
จะกอดเจ้าไว้ ยังไออุ่นกัน .........”
ฟังเพลงนี้แล้ว ได้อารมณ์โรแมนติก เสมือนหนึ่งการรำลึกถึงความรักแสนอบอุ่น ที่คนสองคนมีอันต้องพลัดพรากจากกันไป
แต่ความจริงเพลงนี้ หงาแต่งให้กับ สหายไสว ซึ่งเป็นหนุ่มชาวลัวะอีกคน เป็นคนชำนาญการเดินป่าและการสู้รบ และยังเคยเป็นหน่วยศิลป์ของเขตงานมาก่อนด้วย
“ ทำไมจึงใช้ชื่อเพลงว่า ‘ใกล้ตา ไกลตีน’ ” ผู้เขียนถาม
- หงาตอบว่า “คนลัวะ ใช้คำนี้เปรียบกับการเดินทางในเขตป่าเขา เรามองไปที่ภูอีกลูกหนึ่ง รู้สึกเหมือนใกล้ แต่เวลาเดินจริงมันไกลมาก เรียกว่า ใกล้ตา ไกลตีน กว่าจะเดินถึงก็เหนื่อยพอแรง เดิมผมตั้งชื่อเพลงว่า “ธงไสว” ก็เลยเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “ใกล้ตา ไกลตีน”
เพลง ใกล้ตา ไกลตีน
ศิลปิน คาราวาน
ไกลโอ้ไกลจากโพ้นขอบฟ้า
เราจากมาด้วยการก้าวย่าง
จากกลิ่นฟางรอยยิ้มเจ้าเอย
ใครเล่าเคย ใครเล่าเคย
พี่น้องเอ๋ยจะเล่าให้ฟัง
ตามทิวเขาที่ยาวเหยียดฟ้า
ตามหมู่ปลาลำธารใสสด
ตามหมู่มดที่ร้างเลิกรัง
ไปจากหลัง ใจฝากฝัง
ฝากเจ้าไว้ในแผ่นดิน
ดินเคยนอนสะท้อนอุ่นกาย
มองยอดไม้เมื่อยามแรกผลิ
ปริกิ่งรวงเป็นพวงพุ่มใบ
น้ำที่ไหลหลั่งลงจากดอย
ใจเจ้าลอยไปสู่ท้องทุ่ง
มุ่งสู่เมืองเฟื่องฟุ้งแปลกตา
เจ้าเคยยิ้มเคยแย้มเบิกบาน
สนุกสนานท่ามกลางผองเพื่อน
เคยพูดเตือนและสนทนา
เจ้าเคยฝันถึงวันที่ดี
มาบัดนี้มิอาจพบหน้า
ดูใกล้ตาแต่แล้วไกลตีน
แผ่นดินที่หอม
แผ่นดินที่ตรอม
จะกอดเจ้าไว้ยังไออุ่นกัน
รักเจ้าไว้ยังไออุ่นกัน
ฝันและฝันให้ไกลที่สุด
เจ้ามนุษย์เจ้าหวังสิ่งใด
( คำร้อง / ทำนอง : สุรชัย จันทิมาธร)
นี่คืออารมณ์พลิ้วไหวของหงา ที่ฟังเสมือนคนรัก “ที่ยิ้มแย้มเบิกบาน มิอาจพบหน้า”
แต่เมื่อสอบถามความเป็นจริงจากหงาโดยตรงแล้ว จึงพบว่าที่แท้เป็นความสะเทือนใจรำลึกถึงสหายลัวะที่ชื่อ “สหายไสว” ที่จากไปอย่างไม่หวนคืนจากการถูกซุ่มโจมตี
ส่วนอีกเพลงหนึ่งคือ จากภูผาถึงทะเล ซึ่ง “ภูผากระซิบสั่ง ถึงทะเลที่ไกลสุดตา”
เพลง จากภูผาถึงทะเล
ศิลปิน คาราวาน
ฝากลมพา ลอยไป
สู่แดนไกลสุดตา
ดั่งภูผา กระซิบสั่ง ถึงทะเล
เรือลำน้อย แล่นลอย
ให้คนคอย หวนคะนึง
พวกเรายัง คิดถึง ถึงทะเล
จะเร่คว้าง ทางใด
จะมีใครฝากฝัง
สู่ความหวัง เยือนฝั่ง สีน้ำผึ้ง
พายุร้าย คลุ้มคลั่ง
คลื่นประดัง โถมซัด
สั่งนาวา ปลิวพัด เพราะลมตึง
ฝากภูผา กลางไพร
จากดอกไม้ ป่าเขา
เถื่อนลำเนา ยังชื่น ทุกคืนวัน
จากน้ำค้าง ที่พรมฉ่ำ
จากสายธาร ที่ไหลริน
ฝากบทเพลง
แห่งผาหิน ถึงทะเล
หงา คาราวาน บอกว่า “เพลงนี้เป็นจินตนาการของคนที่อยู่บนป่าเขา ฝากความระลึกถึงผ่านลมไปยังเรือลำน้อยที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล คนฟังเพลงจะได้อารมณ์ความรู้สึกอย่างไรได้ทั้งนั้น”
น่าสังเกตว่าลีลาเพลง ของหงา คาราวาน มักมีท่วงทำนองโรแมนติกที่มีเสน่ห์ เช่น เพลง “คืนรัง” ก็ใช้คำว่า “โอ้ยอดรัก ฉันกลับมา .....” ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความหมายถึงความรักของหนุ่มสาว
อารมณ์เพลงซึ่งมีทั้ง หวาน เศร้า สุข ปีติ รักและปรารถนาดีจะประกายสีสันอยู่ทั่วไปในวรรณกรรม และบทเพลง
หนังสือ ชื่อ “หงา คาราวาน ตำนานมีชีวิต” ซึ่งเขียนโดย ชูเกียรติ ฉาไธสง บันทึกถึงความรู้สึกของหงา ที่เข้าไปใช้ชีวิตสู้รบในเขตป่าเขา ซึ่งหงา บอกว่า
“ป่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่โตมาก ทำให้ได้เรียนรู้อะไรเยอะ เพียงแต่ต้องใจเย็นๆ กับมัน ค่อยๆ ทบทวนไป เราถึงไม่ใช่คนที่เจ็บปวดออกมาจากป่า ไม่ใช่คนที่เสียใจพ่ายแพ้ เรามองทุกอย่างเป็นประสบการณ์ที่ดี ออกมายังเสียดายอยู่เลย เราอยู่เกือบหกปี ยังคิดอยากอยู่ต่อ เพื่อจะได้บันทึกจดจำ ได้เห็นว่า ป่ามันแตกไปต่อหน้าต่อตาเป็นยังไง อยากเห็นถึงขนาดนั้น ในป่าไม่มีอะไรผิดหวังเลย เหมือนเป็นนิยาย เป็นหนังจอใหญ่ๆ ยิ่งได้เรียนรู้ชีวิต หาปูหาปลา รู้ชีวิตชาวบ้าน รู้ภาษา - งาน ศิลปะพื้นเมืองยิ่งดีใหญ่ มันมีคุณค่าไปหมด นี่เรามองอีกทัศนะหนึ่ง”
ทัศนะเช่นนี้ ทำให้เห็นได้ว่า หงา คาราวาน เป็นคนที่ต้อนรับ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะดีหรือร้าย เข้ามาสู่ชีวิตของตน ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ไม่กล่าวโทษ ไม่เคียดแค้น ไม่ชิงชัง ไม่เรียกร้อง ไม่เสียดายพลังและเวลาที่พบผ่าน โดยถือว่าสรรพสิ่งเป็นการเรียนรู้โลก เข้าใจโลก เป็นการเรียนรู้และเข้าใจตนเอง
ทำให้นึกถึง ถ้อยคำของ อ็องตวน เดอ แซ็งเต๊ก ซูเปรี นักเขียนฝรั่งเศสที่เขียนนวนิยายบันลือโลกเรื่องเจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) ที่แปลออกไปทั่วโลกถึง 300 ภาษา
มีคนถามเขาว่า
“อะไรคือสิ่งที่มีความหมายต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์”
แซ็งเต๊ก ซูเปรี ตอบว่า
“สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่าคือ การรู้จักหาความสมดุล และทำให้มนุษย์นิยมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตจิตใจของตน”
ประสาร มฤคพิทักษ์ : [email protected]