posttoday

6 หลักการเพื่อพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน

14 กุมภาพันธ์ 2565

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

6 หลักการเพื่อพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน

ในโลกที่ผันผวน เป้าหมายสูงสุดขององค์กรคือ ความยั่งยืน องค์กรที่ยั่งยืนจำเป็นต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลง แล้วคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนคืออะไร

1. การสร้างทีมงานเชิงรุก

2. การแก้ปัญหาเชิงซ้อน

3. การสร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่า

4. ผู้นำต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์

5. ผู้นำที่สามารถสร้างทีมงานเข้มแข็ง

6. ผู้นำที่เห็นคนเป็นมนุษย์

6 หลักการเพื่อพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน

1. การสร้างทีมงานเชิงรุก

ทีมงานเชิงรุกจะเป็นจริงได้ จำเป็นต้องผ่านการปรับมุมมอง (Mindset) เชิงบวก ด้วยมุมมองเชิงบวก ทีมงานจึงจะสามารถนำตนเองได้ การนำตนเองได้ โดยความหมายที่แท้แล้วก็คือ ภาวะที่บุคคลสามารถระเบิดศักยภาพภายในของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่ สามารถปรับฟื้นคืนสภาพตนเองได้ แม้ในภาวะที่ยากลำบาก สามารถควบคุม กำหนดทิศทาง และจัดการตนเองได้ นั่นคือ รู้ว่าจะตอบสนองอย่างไรให้เหมาะสม เมื่อมีอะไรเข้ามากระทบ เมื่อเลือกตอบสนองได้ บุคคลจึงนำตนเองได้ เมื่อนำตนเองได้ ก็สามารถเล่นเชิงรุกได้ สามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ การที่บุคคลสามารถเลือกที่จะเล่นเชิงรุกนี้เองเป็นรากฐานสำคัญของความยั่งยืนขององค์กร

2. การแก้ปัญหาเชิงซ้อน

เพราะโลกซับซ้อน คลุมเครือ ไม่แน่นอน จึงไปสู่สถานการณ์ที่ท้าทาย การจัดการกับความท้าทายก็คือ การแก้ปัญหา แต่ปัญหาใดๆ มันไม่เคยมาเดี่ยวๆ มันทับซ้อนกันอย่างลึกซึ้ง ในการแก้ปัญหา เราจำเป็นต้องใช้ความรู้ ความรู้จะเกิดขึ้นได้ ต้องพัฒนามุมมองเชิงระบบที่เห็นความจริงว่า ปัญญา ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ใดๆ เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงขององค์ประกอบ ดังนั้น การแก้ปัญหาซับซ้อนจึงต้องพิจารณาว่ามีประเด็นใดบ้างที่เกี่ยวข้องและประเด็นเหล่านั้นสัมพันธ์กันอย่างไร ทั้งในระดับที่สูงกว่าและต่ำกว่า

6 หลักการเพื่อพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน

3. การสร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่า

ผู้นำการเปลี่ยนแปลง นอกจากจะสามารถสร้างทีมงานเชิงรุกและแก้ปัญหาเชิงซ้อนได้แล้ว ยังต้องสามารถสร้างพัฒนาความคิดใหม่ๆ ที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างที่เรียกว่า นวัตกรรม (Innovation) และนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการเชื่อมโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่าง

4. ผู้นำต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์

เพราะโลกเปลี่ยนแปลง ไม่เคยหยุดนิ่ง ปัญหาเข้ามาไม่เคยซ้ำเดิม สร้างแรงกดดัน ผู้นำองค์กรจึงต้องสามารถปรับตัว ในการปรับตัวเพื่อความยั่งยืนนั้น ลำพังความสามารถด้านการบริหารจัดการเพียงนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องปรับสมดุลด้วยทักษะอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ ความมั่นคงทางอารมณ์ ภาวะดังกล่าวแสดงออกมาในรูปของความมั่นคงภายใน มีความเชื่อมั่น มีภูมิต้านทาน เข้มแข็ง สามารถปรับฟื้นคืนสภาพตนเองได้ แม้ในภาวะที่ยากลำบาก และระเบิดศักยภาพภายในออกมาได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้รากของศักยภาพด้านอารมณ์นี้คือ การเห็นตนเองเชิงบวก มันคือกรอบความคิดที่เห็นตนเองมีคุณค่า

5. ผู้นำที่สามารถสร้างทีมงานเข้มแข็ง

ประเด็นท้าทายต่อมาของผู้นำคือ การสร้างทีมงานเข้มแข็ง การงานร่วมกันเป็นทีม การมีส่วนร่วม ความผูกพัน ความสอดคล้องไปในแนวเดียวกัน เมื่อพูดถึงทีมงานเข้มแข็ง มันเป็นสถานการณ์ที่บุคคลสามารถระเบิดศักยภาพออกมาเสริมกันได้อย่างเต็มที่ ภาวะนี้จะเป็นจริงได้ ทีมงานต้องตั้งอยู่บนฐานของความเข้าใจ ไว้วางใจ เชื่อมั่นต่อกัน นั่นคือ ศรัทธา และศรัทธาจะเกิดขึ้นได้ ทีมงานต้องเห็นคุณค่าในความแตกต่าง และมันจะเป็นจริงได้ ผู้นำบุคคลต้องสามารถเหนี่ยวนำให้ทีมงานปรับมุมมองเสียใหม่ มีทัศนคติเชิงบวก เปิดใจกว้างรับฟังอย่างเข้าใจ ไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง

6. ผู้นำที่เห็นคนเป็นมนุษย์

ภาวะะผู้นำมิใช่ตำแหน่งผู้นำ เพราะเรามิได้ยอมรับใครในตำแหน่งที่เขาเป็น แต่เรายอมรับในภาวะผู้นำที่เขามี และคุณสมบัตินี้จะเป็นจริงได้ต้องเกิดจากการได้รับการยอมรับ การยอมรับที่ว่านี้คือ การยอมรับในความมีอยู่ของตัวตน เพราะตัวตนคือชีวิต ชีวิตต้องการคุณค่าและความหมาย ดังนั้น ภาวะผู้นำจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้นำเห็นคนเป็นมนุษย์ เมื่อบุคคลได้รับการเห็นคุณค่า เขาจึงให้คุณค่าตอบ ดังนั้น ภาวะผู้นำจึงเกิดขึ้นในขณะที่บุคคลได้รับการยอมรับถึงความมีคุณค่าเท่านั้น “เพราะใครก็ตามที่เห็นฉันมีค่า เธอก็มีค่าเช่นกัน” ดังนั้น ภาวะผู้นำจึงเป็นการแสดงออกที่สะท้อนถึงการเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่เราสัมพันธ์ด้วย ในรูปของการมอบอำนาจ การสร้างแรงบันดาลใจ การให้เกียรติ และการยอมรับยกย่อง

ในโลกของความไม่แน่นอนอ่อนไหวคลุมเครือการปรับตัวคือหัวใจสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลงผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนจำเป็นต้องสามารถสร้างทีมงานเชิงรุกด้วยการปรับกรอบความคิดเชิงบวกสามารถแก้ปัญหาเชิงซ้อนด้วยแนวคิดเชิงระบบสามารถพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจด้วยมุมมองเชิงองค์รวมที่สำคัญผู้นำต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์หนักแน่นผ่านการเห็นคุณค่าตนเองและสามารถสร้างทีมงานที่เข้มแข็งบนฐานของศรัทธาที่เห็นคุณค่าในความแตกต่างเห็นคนเป็นมนุษย์ทั้งหมดนี้จึงจะสามารถพัฒนาไปสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำองค์กรสู่ความยั่งยืน