ทานตะวัน
เล่าขานตำนานเพลง โดยประสาร มฤคพิทักษ์
ทานตะวันเป็นดอกไม้ที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับความกล้าหาญ ท้าทาย ยืนหยัดมั่นคงอย่างสวยงามอร่ามตา
ใครไม่รู้อาจจินตนาการว่าคนแต่งเพลงทานตะวันคงไปเก็บภาพและอารมณ์แถวๆ ทุ่งทานตะวันที่ลพบุรีหรือแถวสระบุรีมาเป็นแรงบันดาลใจ แต่ความจริงเพลงนี้เกิดขึ้นที่เมืองดัลลัส มลรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา
ในปี 2528 วงดนตรีคาราบาว ที่มียืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว เป็นหัวหน้าวง เดินทางไปคอนเสิร์ตทัวร์ที่หลายเมืองในสหรัฐอเมริกา โดยในเวลานั้น ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ก็ยังเป็นมือขลุ่ยประจำวงคาราบาวอยู่ ศิลปินที่ร่วมขบวนไปด้วยคือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ หมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
ขณะที่วงไปถึงเมืองดัลลัส มลรัฐเทกซัส มีหนัง TV นำเสนอฉากทุ่งหญ้าพอนเดอโรซ่า ซึ่งใช้เมืองดัลลัส เป็นฉากถ่ายทำ
บรรยากาศที่นั่นทำให้ศิลปินเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นึกถึงทุ่งทานตะวันแถวๆ ลพบุรี อารมณ์ของคนห่างไกลบ้านเมืองไปหลายวัน จึงคิดจะแต่งเพลงโดยใช้ดอกทานตะวันเป็นสัญลักษณ์
ความจริง ทั้งเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และธนิสร์ ศรีกลิ่นดี รวมทั้งพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ก็ตั้งใจทำเพลงกันอยู่แล้วในระหว่างเดินสายครั้งนั้น
การแต่งเพลงนั้นสำหรับคนแต่งแล้ว บางทีแต่งเนื้อก่อนทำนอง บางทีแต่งทำนองก่อนเนื้อ ถ้าคนแต่งเป็นคนละคนกัน แต่นักแต่งเพลงบางคนที่แต่งได้ทั้งสองอย่าง จะสามารถแต่งเนื้อและทำนองไปพร้อมกันได้
เพลงทานตะวันนี้ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี บอกว่า
“ผมเอาทำนองพื้นบ้านมาจากเพลงไทยเดิมคือเพลงลาวแพนน้อย แล้วพลิกกลับทำนอง เป็น ความบังเอิญ พอพลิกกลับแล้ว ทำนองมันไปตรงกับเพลง Local Hero เป็นเพลงฝรั่ง ที่รู้จักกันดีในเวลานั้น มันลงตัวกันได้ยังไงก็ไม่รู้ พอผมเป่าขลุ่ยทำนองขึ้นมา พี่เนาว์ (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) ชอบใจ ก็เลยแต่งเนื้อเดี๋ยวนั้น
พี่เนาว์ เป็นอัจฉริยะกวี แต่งได้เร็วมาก ถ้อยคำทุกคำประณีตงดงาม ลงตัวอย่างหมดจด เรียกว่าจะหาใครคิดคำได้อย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว
ผมบอกพี่เนาว์ ว่า ตัวโน้ตบางตัวไม่ต้องใส่คำกวีก็ได้ เพราะดนตรีสามารถจะเล่นสร้างความกลมกลืนได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีถ้อยคำ แต่พี่เนาว์ไม่ยอม จะต้องใส่ทุกคำลงในตัวโน้ตทุกตัว แล้วใส่ได้อย่างสมบูรณ์แบบด้วย”
ทานตะวัน
เนื้อร้อง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ทำนอง ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี
ตะวันส่องใสแดดฉายลงมาทาบทาทิวทุ่ง
แผ่วลมผ่านโรยเหมือนโปรยกลิ่นปรุงดอกฟางหอมลอย
ดอกหญ้าดาววับวาวทางเกลื่อนเหมือนดังหยาดพลอย
แตะนิด ต้องน้อยราวมณีร่วงพรูพัดพรายลงดิน
จะอยู่แดนไหนสุดฟ้าแสนไกล คะนึงถึงถิ่น
ด้าวแดนแผ่นดินที่เราจากมา เนิ่นนานแสนนาน
ดอกหญ้างามงดงามดังก่อนหรือรอนร่วงราน
แดดร้อน ดินแล้งลมระงมแผ้วพานบ้านนาป่าเขา
ทุ่มกาย ทุ่มใจเข้าโหมแรงไฟ หัวใจแรงเร่า
ยิ่งสร้าง ยิ่งทำระกำหนักเบา ดิ้นรนหนทาง
เจ้ามิ่งขวัญยิ่งวัน ยิ่งเยือนยิ่งเลือน ยิ่งราง
ทอดทิ้งทุ่งร้างวันและวันผ่านเยือนเหมือนเดินทางไกล
ตะวันส่องแสงสาดแสงลงมา ทาบทาทางใหม่
ร่วมจิตร่วมใจก้าวไป ก้าวไป ฝ่าภัยร้อยพัน
มิ่งขวัญเอ๋ยหัวใจเรามั่น เหมือนทานตะวัน
เฉิดแสงแรงฝันกลางรวีตะวัน สีทองส่องใส
เฉิดแสงแรงฝันกลางรวีตะวัน สีทองส่องใส
จะเห็นว่าแต่ละคำ แต่ละวรรค เป็นวิจิตรวรรณกรรมยอดฝีมือที่คนชั้นครูเท่านั้นที่จะกลั่นออกมาได้ นอกจากถ้อยคำงดงามแล้ว เสียงวรรณยุกต์ยังลงตัวไปด้วยกันกับทำนองเพลง
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เล่าให้ฟังว่า
“ธนิสร์ ถามว่า จะให้มีทำนองท่อนแยกต่างหากไหม ผมบอกว่าไม่ต้อง ใช้ทำนองเดียวไปทั้ง 4 ท่อนนั่นแหละ
อารมณ์เพลงก็เป็นการคิดถึงบ้าน สำหรับคนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศ บ้านไหนเมืองไหนมันจะอบอุ่นและมีความสุขเท่ากับอยู่บนแผ่นดินไทยไม่มีอีกแล้ว ผมใช้เวลาแต่งไม่นาน เพราะทำนองดีเขียนเนื้อก็ลื่นไหล
ตอนวรรคสุดท้ายผมสงสัยว่า หมู พงษ์เทพ คงจำผิด ของจริง ‘ เฉิดแสงแรงฝันกลางรวีตะวัน สีทองส่องใส ’ แต่หมูไปร้องว่า ‘ เฉิดแสงแรงฝัน ราวรวีตะวัน สีทองส่องใส ’ คนเอาไปร้อง ก็ร้องตามสำนวน หมูกันไปหมด”
ปรากฏว่า เมื่อนำเพลงนี้ไปเล่นในเวทีทัวร์คอนเสิร์ตที่อเมริกา คนไทยที่นั่นชอบมาก เพราะเนื้อเพลงให้อารมณ์ที่คนพลัดถิ่นถวิลหาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง
เพลงนี้มีการนำไปทำหลายเวอร์ชั่นด้วยกัน จะร้องหมู่ ร้องเดี่ยว หรือเป็นเพลงบรรเลงก็ไพเราะทั้งนั้น ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี นำไปให้วงประสานเสียง CU Band ทำเป็นชุดแรก ชุดที่สองเป็นวงของกรมประชาสัมพันธ์ ร้องเป็นเพลงหมู่ แต่ที่ร้องเหมือนเป็นเจ้าของเพลงไปแล้วคือ หมู พงษ์เทพ ซึ่งในช่วงทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนั้น ทั้งสามศิลปินร่วมกันทำเพลงนับสิบเพลงอยู่ในอัลบั้มเดียวกัน ทั้งหมดแต่งเนื้อโดย เนาวรัตน์ ธนิสร์แต่งทำนอง และหมู พงษ์เทพ เป็นคนร้อง เช่นเพลง
- นางนวล
- ก็ทีวีเขาว่า
- ตากะยาย
- ใบไม้ร่วง
- คนทำทาง
แต่ที่สุดของการใช้ภาษากวีได้ไพเราะงดงาม ถือเป็นเพลงครู ควรจะยกให้เพลง ทานตะวัน
ประสาร มฤคพิทักษ์ : [email protected]