‘มีมโลกจำ’ ตลกร้ายที่คนเป็นมีมไม่อยากจำ
เวลาเพียงเสี้ยววินาที ภาพตลกซึ่งถูกโพสลงบนอินเทอร์เน็ต จะได้รับการกดเข้าดูและแชร์ต่อจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน จนกลายเป็น ‘มีมโลกจำ’ บางคนตลกขบขัน บางคนบอกว่าการเสพสิ่งเหล่านี้ทำให้อารมณ์ดีขึ้น โดยที่พวกเขาแทบจะไม่รู้ถึงที่มา เจตนาและสิทธิเบื้องหลังภาพดังกล่าว
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการแชร์วิดิโอและภาพการประกวดนางงามในเวทีทางภาคอีสาน ปรากฏภาพหญิงสาวสวมชุดไทยยืนตอบคำถามบนเวที โดยมีการตั้งขาตั้งไมค์สูงเกินไปจนความสูงของไมค์เท่าระดับดวงตา ภาพที่ปรากฎออกมาจึงทำให้ดวงตาของเธอถูกปิดด้วยไมค์ทั้งสองข้าง ... มีผู้คน สื่อต่างๆ แชร์ออกไปด้วย #ไมค์จกตา #นางสิบสอง ภาพนี้กลายเป็นมีมที่ไวรัลอยู่ตลอดทั้งสัปดาห์
ด้านหนึ่ง ‘มีม’ ตลกโลกจำได้สร้างอารมณ์ในทิศทางบวกให้แก่ผู้ที่พบเห็น เพราะมันคือความสนุกสนานที่มาจากอารมณ์ขันที่สุดจะครีเอท และมันก็สามารถ ‘ไวรัล’ ไปในวงกว้าง เหมือนกับที่มาของคำว่า ‘มีม’ ซึ่งมาจาก ‘Meme’ ในภาษาอังกฤษ คำนี้เกิดขึ้นในปี 1976 เมื่อริชาร์ด ดอว์คินส์ (Richard Dawkins) ได้บัญญัติศัพท์นี้ในหนังสือ The selfish Gene ของเขา เพื่อจะอ้างอิงถึงวัฒนธรรมใดก็ตามที่ถูกจำลองขึ้นมาและเกิดการทำซ้ำ คัดลอกพฤติกรรมนั้นโดยมนุษย์ แต่อาจจะมีการดัดแปลงเปลี่ยนแปลง ‘เพื่อให้วัฒนธรรมนั้นคงอยู่ต่อไป’
มีมที่ถูกใช้บนอินเทอร์เน็ตมีการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ถูกส่งต่อ ดัดแปลง เพิ่มเติมข้อคิดเห็นของบุคคล สู่การขยายออกเป็นวงกว้าง และแน่นอน ‘เพื่อให้วัฒนธรรมนั้นคงอยู่ต่อไป’ ภาพเหล่านั้นจะยังคงอยู่บนอินเทอร์เน็ตตลอดกาล
Funny OR Bully? อารมณ์ขัน หรือ การบูลลี่
ลักษณะของมีมที่ใช้บนอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้มีอยู่หลายประเภท แต่ประเภทที่มีการถกเถียงว่ามันคืออารมณ์ขันหรือ ‘การบูลลี่’ อยู่บ่อยครั้ง คือมีมที่ใช้ภาพบุคคลจริงเป็นองค์ประกอบ แล้วถ้าหากมีมนั้น เกิดจากภาพที่คนถูกถ่ายไม่ได้รู้สึกดี หรืออับอายล่ะ? อะไรจะเกิดขึ้น
ในปี 2016 ลิซซี่ เวลาสเควซ (Lizzie Velasquez) ออกมาประนามบุคคลที่ใช้ภาพของเธอประกอบคำอธิบายที่ว่า ‘ไมเคิลพูดว่าเขาอยากจะเจอฉันที่หลังต้นไม้นั่น ... แต่เขากลับวิ่งหนีไป ใครก็ได้ช่วยบอกเขาทีว่าฉันรออยู่’ เพื่อเรียกความตลกจากใบหน้าของเธอที่ต้องทุกข์ทรมานจากอาการโรคชราในเด็ก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีพัฒนาการของร่างกายมากกว่าอายุจริงถึง 10 เท่า เธอกล่าวไว้บนหน้าอินสตราแกรมของเธอว่า ‘ฉันเขียนโพสต์นี้ไม่ใช่ในฐานะของเหยื่อ แต่ในฐานะของคนที่มีสิทธิจะส่งเสียงเรียกร้อง ... ไม่ว่าเราจะหน้าตาเป็นอย่างไร พวกเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน’
บางคนบอกว่าพวกเขาส่งต่อเพราะไม่ตั้งใจ ไม่รู้ว่านี่คือภาพของใคร นึกว่าเป็นการตัดต่อ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ลิซซี่ไม่ใช่คนสุดท้ายที่ถูกนำมาล้อเลียน ...
เริ่มต้นที่ ‘ล้อเล่นสนุกๆ’
งานวิจัยในประเทศไทยพบว่าร้อยละ 44 ของเด็กไทยเคยถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ แต่มีถึงร้อยละ 59 ของเด็กไทยที่เคยเป็นส่วนหน่ึงในการรังแกทางโลกไซเบอร์เช่นกัน เพราะเยาวชนคิดว่าการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์เป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นการล้อเล่นสนุกสนานกันระหว่างกลุ่มเพื่อน และ ‘ใครๆ ก็ทำกัน’
ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า อารมณ์ขันทางลบที่เกิดขึ้นมักเกิดจาก ‘การละเลยคุณธรรม’ คือการที่บุคคลให้คำอธิบายถึงพฤติกรรมไม่ดีที่ตนทำด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ทำให้ ‘ผิดน้อยลง’ หรือ ‘สามารถทำได้’ ข้อหนึ่งที่ตรงกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการสร้างมีมบนโลกออนไลน์ทุกวันนี้ คือ การพยายามลดค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ ... เราจะพบว่ามีมที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่ จะเป็นภาพของคนที่ไม่รู้จัก จึงทำให้โลกโซเชียลกล้าจะแสดงพฤติกรรมต่างๆ เช่น การว่ากล่าว การล้อเลียน ที่จะไม่ทำหากเผชิญกับคนนั้นซึ่งหน้า เหตุเพราะพวกเขาไม่ได้สัมผัสถึงเสียง ตัวตน คำพูดของคนนั้น จึงไม่ได้มีความรู้สึกเห็นใจ หรือเห็นว่าพวกเขาเป็นมนุษย์เหมือนกัน
ต้องรอดด้วยตัวเอง .. ชะตากรรมของคนถูกบูลลี่
การดำเนินการทางกฏหมายทุกวันนี้กับพฤติกรรมดังกล่าวค่อนข้างมีข้อจำกัด โดยส่วนมากจะเป็นการสั่งให้ต้นทางลบภาพเหล่านั้นออกไป แต่ภาพที่ถูกแพร่กระจายไปแล้ว กับสภาพจิตใจของคนในภาพนั้นใช้เวลาในการเยียวยา ... หลายครั้งเหยื่อต้องกลับมาจัดการที่ตนเองให้รับมือกับการบูลลี่ให้ได้ โดยต้องปรับมุมมองที่มีต่อตัวเอง เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมหรือปิดโซเชียลมีเดียของตนแทน หรือในกรณีร้ายแรงก็คือการพบกับจิตแพทย์
นอกจากนี้เรายังเห็นพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้การบูลลี่กลายเป็น ‘ความเคยชิน’ ในสังคมออนไลน์ของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ที่ถูกบูลลี่หากออกมายอมรับด้วยความยิ้มแย้ม อารมณ์ดีก็ยิ่งจะได้รับการยกย่อง และมีชื่อเสียงติดเทรนด์มากขึ้น บางคนเอาความพิการของตนออกมาบูลลี่ด้วยตัวของเขาเอง หรือแม่บางคนที่ถ่ายรูปลูกของตนซึ่งมีพฤติกรรมผิดปกติจากภาวะด้านสมอง เพื่อเรียกยอดไล้ค์ในโลกออนไลน์ ... มีมจึงกลายเป็น ‘ความบันเทิงบนการละเมิดสิทธิที่ถูกมองข้ามอยู่บ่อยครั้ง’ เพราะแม้แต่ผู้ที่โดนเองในบางครั้งก็ไม่ยังไม่ตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ของตน หรือบางครั้งพวกเขาก็ตระหนักถึงการถูกบูลลี่ดังกล่าว แต่การออกมาเรียกร้องสิทธินั้น ดูจะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะหากสังคมออนไลน์ไม่เห็นใจ ก็จะยิ่งทำให้พวกเขาดูเป็น ‘คนเรื่องเยอะ’ และถูกกระแสโจมตีมากกว่าเดิม
มีมที่ดี คือ มีมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
ภาพการเดินข้ามถนน Abby road ของวง the Beatles ในปี 1969 กลายเป็นมีมที่ทำให้หลายคนอยากเลียนแบบและทำตาม บางคนอยากจะเดินทางมายังประเทศอังกฤษ และไม่ลืมที่จะต้องถ่ายภาพแบบเดียวกัน หรือใช้ทางเท้าในประเทศของตนเองถ่ายภาพแบบเดียวกัน หรือในปี 2012 ท่าเต้นในเพลงกังนัมสไตล์ ของนักร้อง K-pop ชื่อ Psy กลายเป็นมีมที่ดังไปทั่วโลก เกิดการแพร่กระจายของวัฒนธรรมความบันเทิงเกาหลี และมีการนำไปปรับใช้ในรูปแบบต่างๆ ในปี 2018 นักแสดงตลกสตีเวน โครวเดอร์ ก็ได้สร้างมีมขึ้นมาภายใต้แคมเปญ ‘Change my mind’ หรือ เปลี่ยนใจฉันสิ เพื่อให้เกิดการถกเถียงในประเด็นความเท่าเทียมด้านเพศ ด้วยแคปชั่นที่ว่า ‘Male privilege is a myth, change my mind.’ สิทธิพิเศษของเพศชายคือตำนาน เปลี่ยนใจฉันสิ หรือแม้แต่ภาพตลกขบขันก็ยังคงอยู่ได้ โดยต้องพิจารณาว่าภาพเหล่านั้นไม่เข้าข่ายการบูลลี่ อาทิ การแสดงความเห็นไม่สร้างสรรค์ที่มีต่อ รูปร่าง หน้าตา เชื้อชาติ ภาษา สถานะทางสังคม ต่างๆ ของบุคคลที่อยู่ในภาพดังกล่าว
จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับการบูลลี่ อันดับ 2 ของโลกในปี พ.ศ. 2563 รองจากประเทศญี่ปุ่น จากข้อมูลการบูลลี่ด้วยการใช้ตัวอักษรผ่านโซเชียลมีเดีย ... เหตุการณ์นางงามบนเวทีการประกวดจะไม่เกิดขึ้นเลย หากทุกคนในสังคมตระหนักร่วมกัน การแก้ไขการบูลลี่จะต้องไม่ผลักภาระให้คนที่ถูกบูลลี่ออกมาปกป้องตัวเอง แต่ควรเริ่มจากทุกคนที่จะมีจิตสำนึก ตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานที่ว่า ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ และมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน แม้จะไม่รู้จักกันเลยก็ตาม.
ที่มา:
https://rsucon.rsu.ac.th/files/proceedings/nation2019/NA19-101.pdf
https://timesofindia.indiatimes.com/city/kolkata/it-woman-shames-cyber-bully-on-fb/articleshow/55233332.cms
https://medium.com/@fatibutt/internet-memes-new-face-of-cyber-bullying-2b0acab55d49
https://thedirect.com/article/tobey-maguire-memes-bully
https://en.wikipedia.org/wiki/Meme
https://www.amnesty.or.th/latest/blog/733/