posttoday

รู้จัก “เรือหลวงช้าง” เรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือไทย

25 เมษายน 2566

เรือหลวงช้าง เรือสนับสนุนการรบลำใหม่ของราชนาวีไทย ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย เตรียมเข้าประจำการในฐานะเรือยกพลขึ้นบก ที่สามารถทำหน้าที่เรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำได้ในอนาคต ด้วยขนาดที่ใหญ่โตกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินจักรีนฤเบศร

ทำให้เรือลำนี้ เป็นเรือสังกัดของทัพเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน

เรือยกพลขึ้นบกลำใหม่นี้ ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “เรือหลวงช้าง” (เกาะช้าง จังหวัดตราด) เรือหลวงช้าง ซึ่งเป็น "เรืออู่ลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบก ( Amphibious transport dock )" หรือ เรียกอีกชื่อว่า "เรืออู่ยกพลขึ้นบก ( LPD : Landing Platform Dock ) ที่มีขีดความสามารถ "สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ" หรือ ใช้เป็น"เรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ ( Submarine Tender )" ได้ด้วย ต่อที่อู่ต่อเรือ Hudong-Zhonghua Shipbuilding เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งได้รับการปรับปรุงและพัฒนาแบบมาจากเรือ LPD Type 071 ที่ประจำการในกองทัพเรือจีน   

รู้จัก “เรือหลวงช้าง” เรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือไทย

โดยกองทัพเรือไทยได้ลงนามสัญญาจัดหาเรืออู่ยกพลขึ้นบกชั้น Type 071E LPD กับจีนเมื่อ 9 กันยายน 2562 มูลค่าประมาณ 6,100 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นลูกค้าส่งออกรายแรกสำหรับเรืออู่ยกพลขึ้นบกชั้น Type 071 แต่มีคุณลักษณะแตกต่างจากเรือที่จีนใช้เองบางจุด คือดาดฟ้าบินเฮลิคอปเตอร์ที่ท้ายเรือมีขนาดยาวกว่า มีจุดรับ-ส่งเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทางทะเลขนาดกลางอย่าง เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำแบบ Sikorsky SH-60B Seahawk หรือเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ Sikorsky MH-60S Knighthawk สามจุดรวม 3เครื่อง โรงเก็บอากาศยานรอบรับเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลาง 2 เครื่อง ขณะที่ Type 071 ที่จีนใช้เองรองรับ 4 เครื่อง และอู่ลอย (well deck) รองรับเรือระบายพลขนาดกลาง(LCM: Landing Craft Mechanized) หรือยานเบาะอากาศ LCAC(Landing Craft Air Cushion) ขนาด 150tonnes ได้ถึง 4 ลำ และรถสายพานลำเลียงพลได้ถึง 20 ลำ

โดยการสั่งต่อเรือจากจีนนี้ จะเป็นการต่อเรือเปล่า ส่วนระบบปฏิบัติการณ์และระบบอาวุธจะมีการติดตั้งเพิ่มเติมหลังเรือมาถึงเมืองไทยแล้ว ซึ่งอาจต้องใช้งานประมาณอีกกว่า 3,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับประเภทและจำนวนของระบบอาวุธและระบบสนับสนุนการรบต่างๆ โดยสามารถติดตั้งอาวุธปืนเรือขนาด 76 มิลลิเมตร จำนวน 1 แท่นยิง และระบบป้องกันระยะประชิด (Close-In Weapon System : CIWS) ปืนกล 6 ลำกล้องหมุนขนาด 30 มิลลิเมตร จำนวน 4 แท่นยิง

รู้จัก “เรือหลวงช้าง” เรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือไทย

 

กองทัพเรือระบุว่า เรือหลวงช้าง จะเข้าประจำการ ในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ มีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนเรือยกพลขึ้นบกลำเก่า (เรือหลวงช้างลำที่ 2) ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือระยะ 20 ปี พ.ศ.2560 - 2579 ซึ่งกำหนดความต้องการ เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ไว้ จำนวน 4 ลำ และใช้ปฏิบัติงานร่วมกับเรือ อากาศนาวี หน่วยกำลังต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยกำลังนาวิกโยธิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ตั้งแต่ในภาวะปกติโดยมีขีดความสามารถปฏิบัติการรบ 3 มิติ ได้แก่ การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งลำเลียงและเป็นเรือบัญชาการ และการสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล รวมทั้งสนับสนุนการช่วยเหลือและกู้ภัยเรือดำน้ำ และการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย การอพยพประชาชน สนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ แต่ปัจจุบันกองทัพเรือ มีจำนวนเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ไม่เพียงพอตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาเพิ่มเติม เพื่อให้มีขีดความสามารถสูงสุด 

รู้จัก “เรือหลวงช้าง” เรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือไทย

ลักษณะของเรือ

ทั่วไป

หมายเลข 792

วางกระดูกงู 20 ก.ค.2564

ปล่อยเรือลงน้ำ 4 ม.ค.2566

ขึ้นระวางประจำการ (ประมาณ เม.ย.2566)

ผู้สร้าง บริษัท Hudong-Zhonghua Shipbuilding สาธารณรัฐประชาชนจีน

คุณลักษณะทั่วไป

ความยาวตลอดลำ 213 เมตร

ความกว้าง 28 เมตร

กินน้ำลึก 17.4 เมตร

ความเร็วสูงสุด 25 นอต

ระวางขับน้ำสูงสุด 20,003 ตัน

ระยะปฏิบัติการไกลสุด 10,000 ไมล์

ความคงทนทะเล ได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 9

บรรทุกกำลังรบยกพลขึ้นบกได้ 600 นาย

เรือในชุดเดียวกัน

เรือหลวงอ่างทอง(ลำที่ 3)

เรือหลวงช้าง (ลำที่ 3) 

รู้จัก “เรือหลวงช้าง” เรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือไทย

ทั้งนี้ เรือหลวงช้างลำที่ 2 ซึ่งได้ปลดประจำการไปแล้ว เดิมชื่อ USS Lincoln County 898 สร้างขึ้นในปี 1944 โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ ในฐานะเรือจอดเทียบท่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และในสงครามเกาหลี (1950-1952) ต่อมาในปี 1962 USS Lincoln County ถูกขายและโอนไปยังกองทัพเรือไทย เรือถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “เรือหลวงช้าง หรือ HTMS Chang”   หลังจาก 50 ปีก็ถูกปลดประจำการ เมื่อปี 2555  ก่อนที่จะถูกจมลงเพื่อทำเป็นแนวปะการังเทียมที่เกาะช้าง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 อยู่ห่างจากเกาะช้าง ประมาณ 8 ไมล์ทะเล