posttoday

เปิดรายงาน FBI รวบประเด็นเข้าใจผิดเรื่อง‘ฆาตกรต่อเนื่อง’ในภาพยนตร์ดัง (1)

04 พฤษภาคม 2566

ชื่อของ แจ็คเดอะริปเปอร์ หนังดังอย่าง Silence of the Lambs โด่งดังจนใครหลายคนคุ้นหู ด้วยเรื่องราวของ ‘ฆาตกรต่อเนื่อง’ ที่ชวนติดตาม สืบค้นว่าใครคือฆาตกรและทำเพราะอะไร .. ในขณะเดียวกันก็ได้สร้าง ‘ภาพจำ’ ที่มีต่อฆาตกรต่อเนื่องซึ่งมีส่วนที่ผิดจากความเป็นจริง

ในรายงานของ FBI ระบุว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการพยายามที่จะหาความหมายของคำว่า ฆาตกรต่อเนื่อง โดยใช้ทั้งหลักกฏหมาย จิตวิทยา วิชาการและนักวิจัย จนได้คำนิยามที่ใช้กันนั่นคือ

 

ฆาตกรรมต่อเนื่อง คือ การฆาตกรรมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปโดยผู้กระทำความผิดคนเดียวกัน ในเหตุการณ์ที่แยกออกจากกัน

 

ฆาตกรรมต่อเนื่อง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ถึงร้อยละ 1 ของเหตุการณ์ฆาตกรรมทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์หายากในความเป็นจริง   อย่างไรก็ตามด้วยความโหดของการฆ่าต่อเนื่องหลายราย ที่มี ‘สตอรี่’ ให้ติดตามจึงทำให้เป็นที่สนใจของสื่อและประชาชนเป็นจำนวนมากเมื่อเกิดเหตุการณ์

 

ย้อนไปในช่วงท้ายของปีค.ศ.1880 เกิดเหตุฆาตกรรมโสเภณีขึ้นที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ฆาตกรรายนี้ได้เขียนจดหมายมายังตำรวจและบอกว่าตนเองคือฆาตกร ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันในชื่อ แจ๊คเดอะริปเปอร์ ‘Jack the Ripper’  ในมุมมองของ FBI ดูเหมือนว่าความโด่งดังของแจ็คเดอะริปเปอร์ ทำให้ภาพจำของผู้คนต่อการเป็นฆาตกรต่อเนื่องอิงแบบอย่างแจ๊คเดอะริปเปอร์จนเกินไป และกลายเป็นผิดเพี้ยนจากความจริง  และยังถูกซ้ำด้วยภาพของฆาตกรต่อเนื่องสุดโด่งดังในหนังอย่าง Silence of the Lambs ซึ่งทำให้ความรู้ที่มีต่อฆาตกรต่อเนื่องนั้นเกิดความสับสน อันเป็นผลจากการปรุงแต่งของสื่อระดับฮอลลีวูด

ภาพ Jack the Ripper จากกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่ใช้ DNA ในการระบุรูปพรรณของผู้ร้ายในปี 2019  จนเชื่อว่า Jack the Ripper คือ Aaron Kosminski ช่างตัดผมชาวโปแลนด์ในสมัยนั้น

 

เรื่องเล่า VS ความจริง รวบรวมประเด็นเข้าใจผิดเรื่อง ‘ฆาตกรต่อเนื่อง’ ในภาพยนตร์

 

  • ฆาตกรต่อเนื่องเป็นคนไม่เข้าสังคม?

หลายครั้งที่คนจะคิดว่าฆาตกรต่อเนื่องมักจะต้องเป็นคนสันโดษ และไม่สามารถเข้ากับสังคมได้ แต่แท้ที่จริงแล้วฆาตกรต่อเนื่องสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติ บางคนมีครอบครัวที่รัก ร่วมสังสรรค์กับคนในชุมชน ในที่ทำงาน และสามารถเข้ากับสังคมได้อย่างไม่ต้องพยายามใดๆ

อย่างเช่นฆาตรกรต่อเนื่อง Robert Yates ที่ฆ่าหญิงโสเภณีในพื้นที่วอชิงตันในปี 1990 ก็มีครอบครัวที่ประกอบด้วยลูก 5 คน  เขาทำงานเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ในกองทัพสหรัฐ เหยื่อบางคนรู้จักเขาดีด้วยซ้ำ หรือฆาตกร The Green River ที่ฆ่าผู้หญิงไปกว่า 48 คนก็เข้าโบสถ์เป็นประจำ แต่งงานสามครั้งและกำลังจะแต่งงานใหม่ในขณะที่ถูกจับ

ภาพ Gary Ridgway ฆาตกรต่อเนื่อง The Green River ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตหลังจากรับสารภาพ

 

  • ฆาตกรต่อเนื่องมีแรงจูงใจทางเพศเท่านั้น?

เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะฆาตกรต่อเนื่องจะมีแรงจูงใจอื่นๆ ร่วมด้วย อย่างเช่นคดีของ Paul Reid ซึ่งฆ่าคนอย่างน้อย 7 คนระหว่างการปล้นร้านอาหารในรัฐเทนเนสซี ซึ่งแรงจูงใจในการฆาตกรรมของเขาคือต้องการกำจัดพยาน ที่เห็นการปล้นเพื่อจุดประสงค์คือนำเงินไปซื้อรถยนต์เท่านั้น

 

เพื่อช่วยในการตามหาผู้ต้องสงสัย FBI ได้สร้างกรอบของแรงจูงใจในการเป็นฆาตกรต่อเนื่องไว้ในหลายประเด็น ได้แก่

 -  ความโกรธ     ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่จะทำร้ายหรือก่อคดีกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 -  การเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอาชญากรรม  คืออยู่ในองค์กรที่ก่อเหตุอาชญากรรมเช่น องค์กรที่ค้ายาเสพติด แก๊งมาเฟียต่างๆ

-   ด้านการเงิน  เป็นแรงจูงใจในการฆาตกรรม เช่น ฆ่าเพื่อจะฉ้อโกงประกันหรือสวัสดิการ ฆ่าเพื่อรับผลประโยชน์บางอย่างที่เป็นเงิน

 

ภาพ (ซ้าย) แอมไซยาไนด์ ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม ก่อเหตุโดยเชื่อว่ามีจุดประสงค์ทางด้านการเงิน , ขวาคดีแม่ม่ายดำ ฆาตกรต่อเนื่องที่โด่งดังในญี่ปุ่น

 

อุดมการณ์   เป็นแรงจูงใจในการฆ่าได้เช่นกัน เช่น กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ หรือการฆ่าที่มุ่งไปยังคนกลุ่มน้อย เพศใดเพศหนึ่งเป็นต้น

- ความรู้สึกตื่นเต้นและมีพลัง เป็นแรงบันดาลใจที่ฆาตกรจะได้รับหลังจากที่ลงมือสังหารเหยื่อจนเสพติดสิ่งเหล่านี้

- โรคจิตเภท   จนกระทั่งมีสภาวะประสาทหลอน เห็นภาพหลอน เสียงแว่ว เป็นต้น

- ด้านเพศ   คือแรงจูงใจที่ถูกกระตุ้นด้วยความต้องการทางเพศ  แต่อาจจะมีหรือไม่มีหลักฐานในการกระทำความผิดทางเพศ เช่นการข่มขืนร่วมด้วยก็เป็นได้

 

การระบุแรงจูงใจของฆาตกรต่อเนื่องนั้นยากกว่าฆาตกรทั่วไปค่อนข้างมาก เนื่องจากบางครั้งฆาตกรต่อเนื่องจะมีแรงจูงใจหลายอย่าง และเป็นแรงจูงใจส่วนตัว หรือบางคนก็ไม่มีแรงจูงใจในการกระทำความผิดเลยเพียงแต่อยากที่จะทำเท่านั้น ที่สำคัญคือพฤติกรรมของฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่จะไม่ฆ่าคนที่อยู่ในแวดวงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน จึงไม่สามารถหาแรงจูงใจในการกระทำได้ง่ายนัก

 

อย่างไรก็ตามในงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Penn State Harrisburg ระบุว่าถ้าฆาตกรต่อเนื่องเป็นผู้ชายมักจะมีแนวโน้มที่จะ ‘ล่าเหยื่อ’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนแปลกหน้า แต่หากเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่เป็นผู้หญิง พวกเธอจะ ‘สะสมเหยื่อ’ โดยมุ่งไปที่คนใกล้ชิดรอบตัวที่รู้จัก และส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ แทบทั้งสิ้น

 

  • ฆาตกรต่อเนื่องจะต้องเดินทางไปหลากหลายที่และก่อเหตุในหลายแหล่ง

จริงๆ แล้วฆาตกรต่อเนื่องจะมีพื้นที่เซฟโซนหรือพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง แต่ถ้ามีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นพวกเขาจะลงมือนอกพื้นที่เซฟโซนนั้น  ยกเว้นคนที่มีไลฟ์สไตล์เดินทางไปหลายที่อยู่แล้ว จะถือว่าบริเวณเหล่านั้นคือพื้นที่ปลอดภัยในการลงมือ

 

  • ฆาตกรต่อเนื่องไม่สามารถหยุดฆ่าได้?

มีความเชื่อว่าฆาตกรต่อเนื่องถ้าได้ฆ่าแล้วจะหยุดฆ่าไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงมีฆาตกรต่อเนื่องบางคนที่สามารถเลิกลงมือก่อนที่จะถูกจับด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเพราะได้เจอกับสิ่งที่ทดแทนการฆ่าได้เช่น กิจกรรมในครอบครัว การทดแทนทางเพศ ฯลฯ

 

ยกตัวอย่างเช่น Jeffrey Gorton ฆ่าเหยื่อรายแรกในปี 1986 แต่ลงมือฆ่าในเหยื่อต่อไปในอีก 5 ปีถัดมา หลังจากนั้นเขาไม่ได้ฆ่าเหยื่อรายอื่นเลยแต่กลับถูกจับได้ในปี 2002 สาเหตุที่เขาเลิกฆ่าเพราะกอร์ตันทำกิจกรรมแต่งตัวข้ามเพศ และมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาในระหว่างนั้นทดแทน

 

  • ฆาตกรต่อเนื่องเป็นคนป่วยทางจิต? หรือไม่ก็อัจฉริยะ?

มีหลายเรื่องในภาพยนตร์ที่สร้างบุคลิกของฆาตกรต่อเนื่องถึงการมีปมในอดีต มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ เป็นโรคจิต หรือมีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม แต่ในทางกฏหมายของอเมริกานั้นไม่ได้มีการตัดสินว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นคนวิกลจริตตามกฏหมาย  เช่นเดียวกับกฏหมายไทย ที่ระบุว่าบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลสามารถตัดสินว่าไร้ความสามารถจะต้องเป็นถึงขนาดที่ไม่สามารถทำงาน หรือกิจวัตรประจำวันของตนเองได้เลย และอาการก็ต้องเกิดขึ้นเป็นประจำ

 

ส่วนฆาตกรต่อเนื่องนั้น โดยปกติก็สามารถเข้าสังคมได้และทำกิจวัตรประจำวัน หรือทำงานได้ตามปกติ จึงไม่ใช่คนที่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือไร้ความสามารถตามกฏหมาย .. ที่สำคัญคือฆาตกรต่อเนื่องนั้นมีไอคิวตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงมากกว่าปกติเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

 

คาแรคเตอร์ Hannibal Lecter จากภาพยนตร์เรื่อง Silence of the Lambs ฆาตกรต่อเนื่องที่มีไอคิวระดับอัจฉริยะ

 

  • ฆาตกรต่อเนื่องอยากถูกจับ?

คนที่ฆ่าใครเป็นครั้งแรกนั้นจะขาดประสบการณ์ และขาดความมั่นใจจนนำไปสู่ข้อผิดพลาด แต่ในกรณีของฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่จะวางแผนการลงมืออย่างละเอียด ทั้งการเลือกเป้าหมาย วิธีการเข้าหา วิธีการควบคุมและกำจัดเหยื่อ ในภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะระบุว่า ฆาตกรมักจะเปิดเผยตัวเพื่อให้ตนเองถูกจับได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ฆาตรกรต่อเนื่องเหล่านี้เมื่อทำความผิดและไม่ถูกจับครั้งแล้วครั้งเล่า จะยิ่งรู้สึกว่าทำอะไรก็ได้!! และมั่นใจว่าจะไม่ถูกจับ ซึ่งนำไปสู่การกระทำความผิดที่ขาดความระมัดระวัง และนำไปสู่การถูกจับกุมตัวได้ในที่สุด

 

อีกประเด็นหนึ่งที่คนมักจะพูดถึงหากมีเรื่องของฆาตกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้น คือประเด็น ‘ไซโคพาธ’ หรือผู้ที่มีภาวะผิดปกติทางจิตใจชนิดหนึ่ง ต่อต้านกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างสุดโต่ง ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่รู้สึกว่าตนกระทำในสิ่งที่ผิด จนบางครั้งเลยเถิดไปถึงการก่ออาชญากรรม ซึ่งเราจะมาทำความเข้าใจความเกี่ยวโยงระหว่าง ไซโคพาธและฆาตกรต่อเนื่องมากขึ้น

 

ในตอนหน้า... กับ เปิดรายงาน FBI ไม่ใช่ไซโคพาธทุกคนจะเป็น ‘ฆาตกรต่อเนื่อง’

 

 

ที่มา

https://www.fbi.gov/stats-services/publications/serial-murder

https://www.psu.edu/news/research/story/psychology-may-help-explain-why-male-and-female-serial-killers-differ/#:~:text=The researchers found that male,know, often for financial gain.

https://www.abc.net.au/news/2021-12-26/jack-the-ripper-mythology/100724304