เปิดรายงาน FBI ไม่ใช่ไซโคพาธทุกคนเป็น ‘ฆาตกรต่อเนื่อง’
ทุก 100 คน จะมี 1 คนที่มีอาการไซโคพาธ ... ไซโคพาธไม่ใช่แค่ ‘เรื่อง’ ของอาชญากรรม เพราะในความเป็นจริงแล้ว เกือบทุกคนจะมีหนึ่งคนที่เป็นไซโคพาธอยู่ใกล้ๆ โดยไม่รู้ตัว
หากใครเป็นแฟนตัวยงของหนังแนวทริลเลอร์ อาจจะเคยดูภาพยนตร์ดังอย่าง The Silence of the Lambs และคงจำได้ถึงฉากที่ดร.ฮันนิบาล เล็กเตอร์ (Hannibal Lecter) ฆาตกรจอมโหดเงยหน้าขึ้นมาจากเหยื่อและมีเลือดเต็มปาก เนื่องจากมีพฤติกรรมกินเหยื่อ!! ฮันนิบาล เป็นอาชญากรที่ฉลาดถึงขั้นอัจฉริยะ มีรสนิยมดีและมีมารยาทที่ไร้ที่ติ แต่ในขณะเดียวกันเขากลับไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีฉากหนึ่งในหนังพูดว่า 'ฮันนิบาลเป็นพวกต่อต้านสังคม ไม่มีความสำนึกผิดหรือรู้สึกผิดอะไรเลย' นอกจากนี้ยังชอบทรมานสัตว์ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก .. แต่นอกเหนือไปจากนิสัยดังกล่าว เขาไม่ได้แสดงความผิดปกติใดๆ จนสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้เป็นอย่างดี
หลายคนที่เสพภาพยนตร์เรื่องนี้จึงติดภาพพฤติกรรมของ ‘ฆาตกรโรคจิต’ จากฮันนิบาลหากพูดถึงการฆาตกรรมต่อเนื่อง การที่ฆาตกรมีพฤติกรรมการต่อต้านสังคม หรือไม่มีความสำนึกผิดของฆาตกร เช่นเดียวกับพฤติกรรมของผู้ที่ป่วยเป็นไซโคพาธ .. ทำให้มีการเหมารวมอยู่บ่อยครั้งว่า ‘ฆาตกรต่อเนื่อง’ ป่วยเป็น ‘ไซโคพาธ’
ไม่ใช่ไซโคพาธทุกคนจะเป็นอาชญากร
ในวงการอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรม ยอมรับว่าไม่สามารถหาแรงจูงใจร่วมของฆาตกรต่อเนื่องได้ ... อาชญากรแต่ละคนมีแรงจูงใจที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามฆาตกรเหล่านี้จะมีลักษณะนิสัยและบุคลิกร่วมกันบางอย่าง เช่น การมองหาสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอ พฤติกรรมไม่สำนึกผิด ความต้องการเข้าไปควบคุม หรือมีพฤติกรรมการล่าเหยื่อ ซึ่งตรงกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยไซโคพาธ .. จากรายงานของ FBI มีการระบุให้ตำรวจหรือผู้บังคับใช้กฎหมายเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ป่วย ‘ไซโคพาธ’ ด้วยเช่นกัน
ไซโคพาธ คือผู้ป่วยที่มีลักษณะนิสัยชอบหว่านเสน่ห์ ปั่นหัว บงการและข่มขู่ บางครั้งมีการใช้ความรุนแรงเพื่อควบคุมผู้อื่น ดร.โรเบิร์ต แฮร์ (Dr. Robert Hare) ผู้ทำการวิจัยไซโคพาธ ได้พัฒนาชุดเครื่องมือประเมินบุคลิกภาพและพฤติกรรมที่ชื่อ ‘The Hare Psychopathy Checklist’ เพื่อทำการทดสอบว่าผู้ป่วยเหล่านี้เข้าข่ายไซโคพาธหรือไม่ โดยศึกษาลักษณะบุคลิกภาพและพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางสังคมของผู้ป่วยในสี่หัวข้อ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล อารมณ์ความรู้สึก วิถีชีวิต และการต่อต้านทางสังคม
คำถามในชุดทดสอบนี้อย่างเช่น
‘คุณมีพฤติกรรมกะล่อนชอบโกหกหรือไม่’
‘คุณมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นบุคคลยิ่งใหญ่หรือไม่’
‘คุณมีความรู้สึกเบื่อและต้องการสิ่งที่จะไปกระตุ้นหรือไม่’ เป็นต้น
การทดสอบในแต่ละหัวข้อครอบคลุมในเรื่องต่างๆ อาทิ ในหัวข้อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จะถามถึงความกะล่อน ชอบหว่านเสน่ห์ ความรู้สึกยิ่งใหญ่ในตัวเอง หรือการบงการผู้อื่น การทดสอบในเรื่องอารมณ์ความรู้สึก จะทดสอบการขาดความสำนึกผิด ขาดความเห็นอกเห็นใจ ไม่ยอมรับผิดชอบ หัวข้อพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น มีพฤติกรรมแสวงหาสิ่งกระตุ้นความรู้สึกตลอดเวลา ความหุนหันพลันแล่น หรือขาดเป้าหมายในชีวิตหรือไม่ สุดท้ายคือเรื่องพฤติกรรมต่อต้านสังคม ซึ่งจะรวมถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีตั้งแต่เด็ก หรือการกระทำความผิดที่ผ่านมา
ผลจากการทดสอบที่คณะวิจัยรวบรวมขึ้นพบว่า ไม่ใช่ฆาตกรต่อเนื่องทุกคนจะเป็นไซโคพาธ และไม่ใช่ไซโคพาธทุกคนจะเป็นฆาตกรต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์เจฟ ฟอลลอน (Javes Fallon) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เคยออกความเห็นในคดีของ เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ (Jeffrey Dahmer) ฆาตกรต่อเนื่อง 16 ศพระหว่างปีค.ศ. 1978-1991 ซึ่งเป็นคดีดังจน Netflix เอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ระบุว่า แม้คนอื่นจะเชื่อว่าเจฟฟรีย์เป็นไซโคพาธ แต่มันคือการตัดสินจากพฤติกรรมอันตรายที่เขาก่อเท่านั้น ‘ทุกคนมักจะเหมารวมว่าคนที่ทำแบบนี้ได้คือไซโคพาธ’ ซึ่งไม่ใช่เสมอไปเพราะเจฟฟรีย์ แสดงภาวะความเห็นอกเห็นใจต่อผู้คนซึ่งไซโคพาธไม่มีความรู้สึกเหล่านี้
ในขณะเดียวกันหากผู้ที่เป็นทั้งฆาตกรต่อเนื่อง ป่วยเป็นไซโคพาธในเวลาเดียวกัน พวกเขาจะสามารถทำร้ายและสังหารโดยไม่คำนึงถึงผลทางกฏหมาย ศีลธรรมหรือสังคม และสามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้ทุกเมื่อ ... ในรายงานของ FBI ระบุว่าการทำความรู้จักโรคไซโคพาธทำให้สามารถนำจุดเด่นของฆาตกรมาใช้ในการสอบสวนให้เป็นประโยชน์ได้ เช่น นิสัยหลงตัวเอง .. ตำรวจอาจจะยกย่องความฉลาดของพวกเขาและสืบสวนโดยใช้การชมเชยความเก่งในการหลบเลี่ยงการจับกุมก็เป็นได้
วิจัยพบร้อยละ 3-21 ของซีอีโอ น่าจะมีนิสัยตามหลักไซโคพาธ
เมื่ออาชญากรเป็นไซโคพาธ พวกเขาสามารถรับโทษได้ตามกฎหมาย เนื่องจากมีตรรกะความคิด มีการวางแผน และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างสำคัญที่สุด ที่ทำให้ 'ไซโคพาธ' (Psychopathy) ต่างจากคนที่เป็น 'โรคจิต' (Psychosis)
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิต (Psychosis) จะไม่สามารถแยกความจริงออกจากจินตนาการได้ และเกิดภาพหลอน ผู้ป่วยบางคนได้รับการวินิจฉัยว่ามีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความจริง หรือบางคนอาจมีอาการของโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นไซโคพาธแต่อย่างใด
สำหรับไซโคพาธ .. นักจิตวิทยานาธาน บรู๊คส์ (Nathan Brooks) แห่งมหาวิทยาลัยบอนด์ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2021 งานวิจัยพบว่าร้อยละ 12 ของผู้นำระดับสูงในสหรัฐอเมริกามีลักษณะของโรคดังกล่าว
เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ในวงการจิตวิทยามาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วว่า ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่จะแสดงอาการบางอย่างของโรคไซโคพาธ เช่น ชอบความฉาบฉวย กะล่อน หลงตัวเอง ฯลฯ ในเว็ปไซต์ psychopathyis.org ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2020 โดยดร.อาบิเกล มาร์ช นักวิจัยต้นกำเนิดพัฒนาการทางระบบประสาทของโรคจิตเภท ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับไซโคพาธไว้ว่า
‘ไซโคพาธเป็นโรคทางจิตทั่วไป ที่จะพบอย่างน้อยในอันตรา 1:100 ของคนทั่วโลก เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสมองที่ทำให้ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมบกพร่อง และอาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงในการใช้ชีวิตประจำวันได้’
นั่นหมายความว่าเกือบทุกคน จะต้องมีคนรู้จักอย่างน้อยหนึ่งคนในชีวิต ที่เป็นไซโคพาธโดยไม่รู้ตัว
คุณอาจจะเคยเจอคนที่มักใช้ความรุนแรง มีเสน่ห์แต่ทำตัวเย็นชาใส่ โกหกบ่อย ชอบเอาเปรียบ แต่กลับไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไซโคพาธ เพราะความเข้าใจเรื่องไซโคพาธของสาธารณชนในปัจจุบันมีน้อยมาก
สิ่งนี้น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้คนที่มีพฤติกรรมดังกล่าวไม่ทราบว่า อะไรคือสาเหตุของพฤติกรรมที่เป็นอยู่ และที่สำคัญคือไม่ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นนิสัยส่วนตัว หรือเป็นเพราะการเลี้ยงดู ... ความก้ำกึ่งนี้เองที่เสี่ยงทำให้ผู้ป่วยไซโคพาธเหล่านั้นก่อพฤติกรรมต่อต้านสังคมและแสดงความก้าวร้าวมากขึ้นตามลำดับ
แท้จริงแล้วไซโคพาธเป็นโรคที่เกิดจากอิทธิพลของยีนส์ที่ผิดปกติมากถึงร้อยละ 50 ของการเกิดโรคทั้งหมด สภาพสังคมและการดูแลมีผลแค่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น และไซโคพาธเป็นโรคที่มีพัฒนาการตามอายุ .. โรคนี้จะแสดงสัญญาณบางอย่างที่พ่อแม่ทุกคนต้องระวังไว้ ตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ เช่น พฤติกรรมที่ไม่โชว์ความหวาดกลัวใดๆ ไม่มองคนอื่นที่ตา หรือไม่แสดงความเศร้าออกมา หลังจากนั้นบุคลิกนิสัยจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งโตก็จะพบว่าพวกเขามีพฤติกรรมเย็นชา ชอบโกหก ไม่กังวลกับการถูกลงโทษ คิดว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น หรืออาจเข้าไปพัวพันกับการกระทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ
เมื่อความไม่เข้าใจในเรื่องของไซโคพาธยังมีอยู่มากในสังคม และแม้แต่คนในครอบครัวก็ไม่สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงพัฒนาพฤติกรรมจนเข้าข่ายไซโคพาธที่มีความรุนแรงระดับสูงได้ .. ผลคือคนเหล่านี้จะมีโอกาสเป็น 2 เท่าที่จะทำความผิดด้านอาญา
จากสถิติของสหรัฐอเมริการะบุว่าร้อยละ 30-40 ของอาชญากรรมรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผู้กระทำความผิดเป็นผู้ป่วยโรคไซโคพาธแทบทั้งสิ้น
นอกจากนี้ หากอาการไซโคพาธรุนแรงเกิดกับเด็กวัยรุ่น พวกเขาจะมีแนวโน้มใช้ปืนในการก่อเหตุมากขึ้นถึง 4 เท่า และผู้กระทำความผิดทั้งหมดที่เป็นโรคไซโคพาธมีโอกาสกลับมาทำผิดซ้ำอีกถึง 5 เท่า
อย่างไรก็ตามไซโคพาธสามารถรักษาให้หายได้ ด้วยความเข้าใจในเรื่องไซโคพาธ การรู้จักสังเกตคนรอบข้าง ความเห็นอกเห็นใจและการดูแลจากครอบครัว รวมไปถึงการเข้ารับการบำบัดที่เหมาะสมตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมเหล่านั้นดีขึ้นและลดความเสี่ยงที่จะเป็นไซโคพาธขั้นรุนแรง ที่อาจจบลงด้วยผลร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม อย่างเช่นในข่าว 'ฆาตกรรรมต่อเนื่อง' ที่เห็นตามหน้าสื่อในทุกวันนี้ ..
ที่มา
https://psychopathyis.org/what-is-psychopathy
/https://www.businessinsider.com/hare-psychopath-checklist-test-sociopath-2016-11
https://www.fbi.gov/stats-services/publications/serial-murder