ปักหมุดท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์แบบ ‘พิธา’
ปักหมุดท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ การท่องเที่ยวแบบใหม่ที่เข้าไป ‘คลุกคลี’ และเข้าใจ ‘คัลเจอร์’ ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวไทย ‘แตกต่าง’ และสร้างความประทับใจได้มากกว่าที่คิด
อาทิตย์ที่ผ่านมา ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คของตัวเองระบุถึงการท่องเที่ยวไทยที่ตนชื่นชอบ หนึ่งในนั้นคือการเที่ยวแบบ Indigeneour tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ หรือการท่องเที่ยวในสถานที่ๆ มีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชื่นชอบมากที่สุด
กลุ่มคนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยนั้นหลัก ๆ กระจายอยู่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน และภาคใต้ และหลายแห่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว 'ตัวท็อป' ของเมืองไทยไม่ว่าจะด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือคนชาติพันธุ์นั้นๆ เปิดรับการท่องเที่ยวจากภายนอกมากขึ้น และเล็งเห็นโอกาสในการทำมาหากิน จนเกิดเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ซึ่งนอกจาก จะได้พักผ่อน ดูแหล่งท่องเที่ยวสวยๆ งามๆ แล้ว ยังได้สัมผัสถึง ‘ประสบการณ์’ กับคนในชุมชนที่แตกต่างไปจนทำให้เป็นที่สนอกสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ..
‘มอแกน’ ยิปซีทะเลแห่งพังงา
มอแกนคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ชีวิตในทะเล ปัจจุบันอยู่ในหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เกาะเหลา เกาะพยาม และเกาะสินไห จังหวัด ระนอง และที่บ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ต แต่เดิมพวกเขาถูกเรียกว่า ‘ชาวน้ำ’ แต่สมัยนี้ไม่นิยมใช้เนื่องจากเป็นคำที่เจือความดูหมิ่นดูแคลน .. ชาวมอแกนมีตำนานหรือนิทานที่เล่าสืบกันมาถึงต้นกำเนิดของคำว่ามอแกน ว่ามาจากคำว่า ละมอ (ในภาษามอแกน แปลว่า จมน้ำ) และ แกน ซึ่งเป็นชื่อของน้องสาวของราชินีซิเปียนผู้ครองแว่นแคว้นหนึ่งริมฝั่งทะเล ตำนานเรื่องนี้กล่าวถึง กามัน กะลาสีเรือผู้มาจากดินแดนอันห่างไกล ผู้นำข้าวสารและไฟมาสู่วิถีชีวิตของมอแกน ต่อมาราชินีซิเปียนและกามันรักกันจึงตัดสินใจแต่งงาน แต่ทว่าน้องสาวของราชินีที่ชื่อ แกน กลับมาแย่ง กามัน คนรักของพี่สาวไป ราชินีซิเปียนจึงร่ายคำสาปให้คนทั้งสองและพรรคพวกมอแกนต้องมีชีวิตเร่ร่อนอยู่ในทะเลตลอดไป
ชาวมอแกนมีวิถีชีวิตเร่ร่อนในทะเลและใช้เวลาส่วนใหญ่ในเรือที่เป็นทั้งบ้านและยานพาหนะเพื่อย้ายตัวเองไปสู่เกาะเล็กใหญ่ต่างๆ วิถีชีวิตแบบนี้ของพวกเขาเมื่อชาวตะวันตกมาเห็นก็เลยให้สมญานามว่า ‘ยิปซีทะเล’ นั่นเอง แต่ปัจจุบันนี้บางกลุ่มเริ่มตั้งถิ่นฐานถาวร บางกลุ่มก็ยังคงใช้ชีวิตในเรือและเดินทางระหว่างเกาะเช่นเดิม โดยชาวมอแกนจะใช้ชีวิตสอดคล้องกับฤดูกาลของลมมรสุม ถ้าลมดีสงบ ก็ใช้ชีวิตในเรือ แต่ถ้ามีพายุก็สร้างกระท่อมขึ้นชั่วคราว
นอกจากความเป็นอยู่ที่ต่างออกไป พวกเขายังมีพิธีกรรมความเชื่อเป็นของตนเอง เช่น การฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ คือการเซ่นสรวงวิญญาณให้คุ้มครองตนเอง พวกเขาเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณบรรพบุรุษ มีตำแหน่ง โต๊ะหมอหรือออลางปูตี เป็นผู้ทำพิธีกรรมสำคัญต่างๆ .. พวกเขาใช้ความรู้ทางสมุนไพรในการรักษาโรค และมีความรู้ในการสร้างบ้านและเรือเป็นของตนเอง มีภาษาเป็นของตนเอง แต่ในปัจจุบันบางคนก็สามารถพูดภาษายาวีและภาษาไทยได้บ้าง
หากใครอยากจะทำความรู้จัก ได้เดินดูบ้านและเรือของพวกเขา อุดหนุนสินค้าแฮนด์เมดจากชาวมอแกน ก็สามารถเดินทางไปพบกับชาวมอแกนได้ง่ายๆ ที่หมู่บ้านมอแกน ที่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา
‘คนเลี้ยงช้าง’ แห่งห้วยผักกูด
ที่นี่เป็นหมู่บ้านของ ‘ปะกาเกอะญอ’ หรือชาติพันธุ์กะเหรี่ยงใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เดิมชื่อหมู่บ้าน ‘ห้วยพระกู’ แต่มีการผิดเพี้ยนจนถึงปัจจุบัน สมัยก่อนชาวบ้านนั้นนับถือผี โดยเชื่อว่าผีนั้นสิงสถิตตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงธรรมชาติโดยรอบ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นศาสนาพุทธผสมผสานกันไป พวกเขามีภาษาเป็นของตนเอง นอกจากนี้ยังมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยเสื้อทอมือสีสันสดใส .. แต่ที่เด่นที่สุดคงไม่เว้นการเลี้ยงช้างในวิถีดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ที่เน้นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้าง โดยแนวทางปฏิบัติดั้งเดิมของการเลี้ยงช้างได้เข้ามาในหมู่บ้านห้วยผักกูดเมื่อ 130 ปีที่ผ่านมา ช้างตัวแรกของหมู่บ้านห้วยผักกูดได้มีการซื้อมาจากประเทศลาวซื่งเป็นตัวแม่ คือ ‘โม๊ะตะหม่อโค๊ะ’ และเป็นช้างตัวแม่ตัวแรกของหมู่บ้าน อดีตชาวบ้านเลี้ยงช้างไว้สำหรับต่างพืชผลทางการเกษตร ต่อมาก็เริ่มทำงานในกิจการทำไม้ แต่ภายหลังช้างในหมู่บ้านเกือบทั้งหมดก็ออกไปทำงานตามปางช้างต่างๆ แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด ปางช้างปิดตัวช้างกว่า 50 เชือกจึงต้องเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร เพื่อกลับภูมิลำเนา
กิจกรรมที่เด่นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวจึงเป็นการเดินป่ากับช้าง เพื่อดูวิถีชีวิตของช้าง รวมไปถึงยังสามารถศึกษาวิถีชีวิตชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ไม่ว่าจะเป็นทั้งการกินอยู่ พิธีกรรม รวมไปถึงอาหารการกิน
วิถี ‘อาข่า’ ที่หล่อโย
บ้านหล่อโย ตั้งอยู่บนดอยแม่สลอง จ.เชียงราย เป็นชุมชนชาติพันธุ์อาข่าร้อยเปอร์เซ็นต์ คือราว 300 คน ซึ่งประกอบอาชีพเป็นชาวสวน ทั้งปลูกลิ้นจี่ เชอร์รี่ กาแฟ และข้าว เมื่อสิบปีก่อนมีการปลุกปั้นการท่องเที่ยวชุมชนมาตลอด โดยพยายามทำให้หมู่บ้านน่าอยู่มากขึ้น จนสามารถพัฒนากลายเป็นที่พักโฮมสเตย์ได้
ชาติพันธุ์อาข่า เป็นชาติพันธุ์ที่นิยมตั้งบ้านเรือนบนพื้นที่สูงในหลายประเทศของทวีปเอเชีย ว่ากันว่าถิ่นฐานดั้งเดิมนั้นตั้งอยู่ในประเทศจีนก่อนจะอพยพเข้ามายังเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา และลงมาเรื่อยๆ ในแถบลาว เวียดนามตอนเหนือ ส่วนอาข่าในไทยนั้นอพยพมาจากเมียนมาอีกทอดหนึ่ง พวกเขายังคงคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตดั้งเดิม มีคำกล่าวว่าชาวอาข่าทุกคนทำงานหนักและใช้เวลาอยู่ในไร่มากกว่าอยู่กับครอบครัว
หากใครมาที่นี่ก็ได้ครบรส ทั้งความอร่อยด้วยเมนูแบบอาข่า อย่างข้าวดอย น้ำพริกอาข่า ผัดยอดฟักแม้ว หรือแกงอาลู นอกจากนี้ยังสามารถเดินชมชุมชนได้ มีการจักสานให้ได้เห็น การร้อยกำไลจากลูกปัดธรรมชาติ การเลี้ยงหมูหลุม รวมไปถึงสามารถศึกษาธรรมชาติภายในป่าที่อยู่บริเวณรอบๆ อีกด้วย
แลบ้านชิมอาหารฟิวชั่นแบบ ‘เปอรานากัน’ ที่ภูเก็ต
ภูเก็ตไม่ได้มีดีแค่ทะเลสวย แต่ที่นั่นมีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่ซุกซ่อนเป็นหมัดเด็ดอยู่ นั่นคือวัฒนธรรมเปอรานากัน .. เปอรานากันคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผสมผสานระหว่างจีนฮกเกี้ยนและมลายู หลังจากชาวจีนโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบมลายูในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 หากใครยังไม่ชินคำว่า เปอรานากัน ก็อาจจะคุ้นชินกับคำว่า บาบ๋าย่าหยา ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกลูกครึ่งมลายู - จีน .. ชาวเปอรานากันมีวัฒนธรรมเป็นของตนเองที่โดดเด่นตั้งแต่บ้านเรือนซึ่งมีสถาปัตยกรรมโดดเด่นในแบบ 'ชิโน-โปรตุกีส' ได้รับอิทธิพลมาจากชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาค้าขายในเมืองท่ามะละกา ... แม้โครงสร้างบ้านเรือนจะมีความตะวันตกแต่เครื่องตกแต่งกลับเป็นเครื่องเรือนแบบจีน มีการประดับด้วยเครื่องกระเบื้องต่างๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากจีน และมักใช้ลวดลายที่มีความสิริมงคลอย่างลายนกและดอกไม้ หากใครอยากไปดูบ้านทรงชิโน-โปรตุกีส อาจจะสามารถเดินดูได้แถวย่านเมืองเก่าในภูเก็ตนั่นเอง
นอกจากนี้ที่โดดเด่นไม่แพ้กันที่อยากจะแนะนำคือเรื่องอาหาร วิธีการทำอาหารของชาวเปอรานากันจะผสมผสานวิธีการทำแบบจีนแต่กลับมีเครื่องปรุงและวัตถุดิบท้องถิ่นของมลายู จึงเป็น ‘อาหารฟิวชั่น’ ที่มีมาเป็นร้อยๆ ปีนั่นเอง เครื่องปรุงหลักก็อย่างเช่น กะปิ กะทิ และเครื่องเทศต่างๆ ซึ่งจะสร้างกลิ่นหอมเครื่องเทศในอาหารได้ชัดเจน ทุกวันนี้นอกจากจะผสมผสานระหว่างจีนฮกเกี้ยนและมลายูแล้ว ก็ยังมีการใส่วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นเข้าไปด้วย เช่น อาหารไทย ซึ่งก็ฟิวชั่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของอาหารเปอรานากันแห่งภูเก็ตได้เป็นอย่างดี อาหารจานเด็ดที่ควรจะลองก็อย่างเช่น 'น้ำชุบหยำ' ซึ่งเป็นการทำน้ำพริกกะปิโดยใช้มือขยำแทนการใช้ครกตำ 'หมูฮ้อง' หรือหมูสามชั้นชิ้นหนาปรุงด้วยเครื่องเทศทั้งจีน อินเดีย และมลายู 'โลบะ' คือการนำหมูส่วนต่างๆ ไปทอดให้ได้สัมผัสกรอบแต่ด้านในยังคงความนุ่มจิ้มกับน้ำจิ้มสูตรเฉพาะ หรือจะเป็น 'แกงตูมี้' แกงปลาโบราณคล้ายแกงแดงผสมแกงส้ม รสชาติเปรี้ยวหวานเค็ม ก็น่ากินพอกัน
งานผ้าทอ ‘ไทดำ’ ที่บ้านนาป่าหนาด
บรรพบุรุษของชาวไทดำนั้นอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย หรือปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ก่อนที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำจะอพยพเข้ามายังประเทศไทยหลายครั้งและหลายกลุ่มเนื่องจากสงคราม และตั้งรกรากกระจัดกระจาย แต่มีกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาตั้งรกร้านที่ ‘บ้านนาป่าหนาด’ อ.เชียงคาน จ.เลย โดยเชื่อว่ากลุ่มที่เข้ามาตั้งรกรากที่นี่เป็นชนชั้นสูง
กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าไทซงดำ หรือลาวโซ่ง ความหมายแปลตามตัวคือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเครื่องแต่งกายเป็นสีดำ นับถือและให้ความสำคัญในเรื่องผีและเทวดา และจะนับถือพระยาแถนว่าเป็นผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล และมีการนับถือดวงวิญญาณของบรรพชน
ชุดแต่งกายของคนไทซงดำทำให้เห็นว่าพวกเขามีความชำนาญทางด้านการทอผ้าที่สวยงาม มีการทอผ้าใช้ในครัวเรือนเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีรูปแบบและสร้างเรื่องราวในลายผ้าที่กล่าวขานกันว่า 'ผ้านางหาญ' เป็นชื่อเรียก ซิ่นตาหมี่ของชาวบ้านนาป่าหนาด ใช้สำหรับพิธีกรรมไหว้ผีเรือนหรือเรียกว่า ‘พิธีเสนเรือน’ ซึ่งความหมายของลวดลายของผ้านางหาญนั้นแฝงไว้ด้วยความเชื่อ และให้รักและสามัคคีกัน
ที่บ้านนาป่าหนาดมีกลุ่มผ้าฝ้ายทอพื้นเมือง จะสาธิตการทำผ้าฝ้ายทอมือสวยๆ จากคนในชุมชนให้ได้ดูกันตั้งแต่กระบวนการผลิตเส้นฝ้าย การย้อมสี และการทอ ซึ่งที่นี่มีความโดดเด่นมากในเรื่องของผลิตภัณฑ์ประยุกต์จากผ้าฝ้าย นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านยังมีสาธิตการทำ 'หัวใจไทดำ' ของที่ระลึกยามนึกถึงชุมชนไทดำ ซึ่งเป็นดอกไม้ไทดำประเภทหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องรางบูชาบรรพบุรุษ เป็นตัวแทนในเรื่องของความรักและความสามัคคีกันของคนในชุมชน
นี่ยังเป็นแค่เพียงตัวอย่างของสถานที่ปักหมุดเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งทำให้เห็นว่าประเทศไทยเต็มไปด้วยวัฒนธรรมหลากหลาย และนี่ย่อมเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ชั้นดีที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาทำความรู้จักประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งคงเป็นการดีหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่เล็งเห็นด้านดีของการท่องเที่ยวแบบดังกล่าว.