posttoday

ย้อนประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศในหนังไทยกับนิทรรศการต้นธารสายรุ้ง

15 มิถุนายน 2566

หอภาพยนตร์จัดนิทรรศการ ต้นธารสายรุ้ง : ประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศในหนังไทย เอาใจแฟนหนังไทยต้อนรับเดือน Pride Month

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดนิทรรศการต้นธารสายรุ้ง : ประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศ ภายในงานจะพาแฟนหนังไทยไปสำรวจความหลากหลายทางเพศที่ปรากฏในภาพยนตร์ไทยในหลายหลากรูปแบบย้อนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่อง เพลงสุดท้าย ผลงานกำกับของ พิศาล อัครเศรณี ปี 2528 จะทำให้ สมหญิง ดาวราย ดาวเด่นแห่งทิพฟานี่โชว์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนทำให้หลายคนคิดว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่นำเสนอคนหลากหลายทางเพศ

ภาพจาก FB หอภาพยนตร์ Thai Film Archive : จำลองฉากละครเพลงสุดท้าย

ในนิทรรศการเราจะได้เห็นการนำเสนอตัวละครหลากหลายทางเพศในยุคเริ่มต้นของภาพยนตร์ไทยกว่า 30 เรื่องที่ถือได้ว่าเป็นต้นธารของหนัง queer ไทย ในสถานะและบทบาทต่าง ๆ ทั้งเป็นผู้สร้างสีสันและเสียงหัวเราะ เป็นผู้สับสนและถูกทำให้สับสนในเพศวิถีของตัวเอง เป็นตัวร้ายและภัยคุกคามที่ต้องถูก “แก้ไข” ให้เข้าที่เข้าทางด้วยวิธีการตามความเชื่อของสังคม ฯลฯ

ภาพจาก FB หอภาพยนตร์ Thai Film Archive

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Rainbow Over You ที่ให้ทุกคนสามารถแต่งแต้มสีสันบนตัวผ่านสายรุ้งที่พาดผ่านบนร่างกายเพื่อถ่ายภาพเก็บความประทับใจกลับบ้าน

ภาพจาก FB หอภาพยนตร์ Thai Film Archive

นิทรรศการ ต้นธารสายรุ้ง: ประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศในหนังไทย จัดแสดงที่ชั้น 2 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 09.30 น. – 17.30 น. ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2566 – 8 ตุลาคม 2566