posttoday

2 นักธุรกิจผู้ปลุกปั้นไวน์ไทย GranMonte ขึ้นชั้นระดับโลก

01 กรกฎาคม 2566

สัมภาษณ์สุด Exclusive กับ 2 นักธุรกิจสาวผู้ปลุกปั้น แบรนด์ GranMonte จากธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กแต่ได้ใจในระดับสากล และเป็นผู้นำนวัตกรรมการปลูกองุ่นและทำไวน์เขตร้อนแห่งเดียวในประเทศไทย ภายใต้ความมุ่งมั่นที่ว่า อยากให้คนไทยได้มีไวน์ดีๆ ดื่ม

GranMonte (กราน-มอนเต้) เป็นธุรกิจในครอบครัว ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของรุ่นคุณพ่อ-คุณแม่ จาก 25 ปีก่อนที่ได้ตัดสินใจซื้อพื้นที่เขาใหญ่และเริ่มปลูกองุ่นไวน์และผลิตไวน์เป็นจำนวนไม่มากนัก ปัจจุบัน กราน-มอนเต้สามารถเพิ่มพื้นที่การปลูกอยู่ที่ 200 ไร่ และเป็นหนึ่งในสองแบรนด์ไวน์ไทยแท้ๆ ที่ใช้องุ่นทำไวน์ 100%  และสามารถสร้างชื่อเสียงระดับโลกได้เป็นผลสำเร็จ แม้จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กก็ตาม

 

2 นักธุรกิจผู้ปลุกปั้นไวน์ไทย GranMonte ขึ้นชั้นระดับโลก

 

เอเชียก็ขึ้นชื่อเรื่อง ‘ไวน์’ ได้

 

คุณนิกกี้ วิสุตา โลหิตนาวี ผู้เชี่ยวชาญด้านปลูกองุ่นและทำไวน์ (oenologist) ควบตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป (general manager) ได้เข้ามาสานรุกงานต่อจากคุณพ่อ-คุณแม่อย่างจริงจัง หลังจากเรียนต่อด้านการปลูกองุ่นและทำไวน์โดยเฉพาะที่ประเทศออสเตรเลีย  เธอมองว่าอุปสรรคสำคัญของการผลิตไวน์ในบ้านเราแต่เดิม คือ เรื่ององค์ความรู้และเรื่องการโลจิสติกส์ ซึ่งไม่ได้เป็นผลต่อการทำแบรนด์เท่าไหร่นัก

 

‘ เราอยู่ ณ จุดเริ่มต้นของธุรกิจไวน์ เมื่อเทียบกับฝั่งตะวันตกที่ปลูกมาเป็นร้อยเป็นพันปี หรือทางออสเตรเลียก็ 70-100 ปีกว่าจะมีชื่อเสียง แต่ไวน์ในเอเชียคือ 20-30 ปี ซึ่งก็ถือว่าสร้างชื่อเสียงได้ไว้คือแค่ประมาณ 10 ปี ความยากของการทำไวน์คือองค์ความรู้และเรื่องโลจิสติกส์ เพราะองุ่นทำไวน์ไม่ใช่ไม้พื้นถิ่นของเอเซีย อาจจะมีเล็กน้อยในพื้นที่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น จึงต้องมีการนำเข้าองค์ความรู้จากเข้ามา แต่เอเชียก็ทำได้สำเร็จ ส่วนด้านโลจิสติกส์มีอุปสรรค เช่น ถังทำไวน์ก็ต้องมีการอิมพอร์ตมา เพราะว่าในเอเชียไม่มีไม้ที่จะทำถังพวกนี้ หรือสมัยก่อนยีสต์ที่ทำไวน์ก็ต้องอิมพอร์ต วัตถุดิบทุกอย่างนอกจากองุ่น ก็ต้องอิมพอร์ตเข้ามาทั้งหมด’

 

ซ้าย คุณนิกกี้ วิสุตา โลหิตนาวี / ขวา คุณมีมี่ สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี  ผู้ปลุกปั้น GranMonte ซ้าย คุณนิกกี้ วิสุตา โลหิตนาวี / ขวา คุณมีมี่ สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้ปลุกปั้น GranMonte

 

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์และวัตถุดิบต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้สำคัญเท่ากับตัว ‘องุ่นไวน์’ ซึ่งการทำไวน์มีความเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์ค่อนข้างมาก นักดื่มไวน์จากทั่วโลกต้องการลิ้มลองรสชาติไวน์ในพื้นที่ใหม่ๆ อยู่เสมอ นั่นจึงเป็นโอกาสและช่องทางการทำแบรนด์ให้เติบโตขึ้นมาได้

 

‘ เมื่อเทียบกับยุโรป เรื่องการตลาดจะรุนแรงกว่าเพราะมีผู้ผลิตเป็นพันเป็นหมื่นราย แต่ในประเทศไทยมีผู้ผลิตที่ผลิตจากองุ่นทำไวน์ร้อยเปอร์เซ็นต์แค่ 2 รายเท่านั้น ซึ่งทำให้สิ่งนี้กลายเป็นจุดเด่นของเรา และเพิ่มโอกาสในการทำตลาดมากกว่า’

 

นวัตกรรมการปลูกองุ่นไวน์ในเขตร้อน  องค์ความรู้ที่ต้องเข้าถึงให้ได้

 

อีกประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือด้านองค์ความรู้  ซึ่งคุณนิกกี้ยอมรับว่าประเทศไทยมีองค์ความรู้ด้านการผลิตไวน์น้อยมาก  ตามมหาวิทยาลัยเองก็ยังไม่มีองค์ความรู้ด้านนี้ จึงต้องเป็นองค์ความรู้ที่นำเข้ามาทั้งหมด หรือออกไปเสาะแสวงหาเองก่อนที่จะนำมาปรับใช้กับท้องที่ ซึ่งทางกราน-มอนเต้ ก็ใช้เวลาในการทำรีเสริชเป็นอย่างมาก จนขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งองค์ความรู้นวัตกรรมการปลูกองุ่นไวน์ในเขตร้อนของประเทศไทย!!

 

‘ การปลูกองุ่นทำไวน์ในไทยเป็นองค์ความรู้ใหม่มาก เป็นนวัตกรรมเลยทีเดียวซึ่งเราเป็นผู้นำในด้านนี้  นวัตกรรมการปลูกองุ่นทำไวน์ในเขตร้อนก็อย่างเช่น  Micro cimate monitoring system เป็นระบบวัดสภาพอากาศและเป็นโปรแกรมที่สามารถทำนายสภาพแวดล้อมได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเราใช้ในกระบวนการปลูกมานานกว่า 20 ปี และน่าจะเป็นไร่ไวน์ลำดับต้นๆ ของโลกที่มีระบบดังกล่าว  หลักการคือเราจะมี Station ที่ทำกับมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่หลายจุดเพื่อวัดอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง การระเหยของน้ำ และใช้ข้อมูลในการจัดการระบบภายในไร่

เพราะฉะนั้นเราจะมี Data ที่เก็บมานานกว่า 20 ปี ซึ่งจะนำมาใช้พยากรณ์อากาศ หรือเทรนด์ว่าปีนี้สภาพอากาศเป็นอย่างไร มีความคล้ายคลึงกับสภาพอากาศปีไหนในอดีต  ฝนจะหยุดช่วงไหน มาช่วงไหน ทำให้เราสามารถวางแผนในไร่ได้ เช่น ตอนแต่งกิ่ง เราแต่งตามาจะออกดอก ฝนต้องหมดแล้ว หรือสุกต้องสุกก่อนฝนจะมา ก็ทำให้เราควบคุมได้ หรือ รู้ปริมาณแสง อุณหภูมิการระหายของน้ำ เราก็จะรู้ว่าแต่ละช่วงของปีนั้นต้องการน้ำขนาดไหน เราจะได้ไม่ต้องให้น้ำมากหรือน้อยจนเกินไป ให้มากก็ทำให้องุ่นเจือจาง หรือน้อยเกินการเจริญเติบโตก็ชะงักได้ '

 

คุณมีมี่ สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี  ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ อีกหนึ่งกำลังหลักของธุรกิจครอบครัวแห่งนี้ได้เน้นย้ำถึงประเด็นของการมี Know How ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

 

‘ อย่างคุณนิกกี้จะอุทิศการเรียนเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ เกิดเป็นรากฐานของความรู้ ได้มาแล้วก็ต้องทำงานวิจัยในประเทศไทยอย่างหนักมากๆ เลย เช่น การทดลองปลูกพันธุ์องุ่นพันธุ์ต่างๆ เพราะว่าการปลูกองุ่นในไทยยังถือว่าใหม่มาก  อย่างองุ่นในตระกูลทำไวน์มีตั้ง 1,500 สายพันธุ์ ซึ่งยังไม่รู้ชัดว่าอะไรใช้ได้หรือไม่ได้ในไทย

สามสิบปีที่แล้วมีคนเริ่มให้แล้วคือ โครงการหลวงเริ่มต้นให้ ทดลองและพบว่า (พันธุ์องุ่น) แดงเซียร่า และ(พันธุ์องุ่น) ขาวเชนินบลองที่ใช้ได้ คนก็ทดลองปลูก แต่หลังจากนั้นหากอยากจะทดลองพันธุ์อื่นๆ ก็ต้องพึ่งพาตัวเอง  นอกจากนี้ยังมีเรื่องเทคนิคการบริหารจัดการไร่ เพื่อให้คุณภาพของการปลูกองุ่นทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้อุณหภูมิอากาศบ้านเรา  ยังมีในเรื่องของสไตล์และวิธีการทำไวน์ก็ต้องผ่านการวิจัยค่ะ  จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องของความรู้ที่ต้องพัฒนาได้ไม่หยุด’

 

ภายในโรงงานผลิตไวน์ของ GRAN MONTE ภายในโรงงานผลิตไวน์ของ GRAN MONTE

 

สู่เวที APEC อย่างที่ไม่รู้ตัวมาก่อน

 

คุณมีมี่ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ทางกราน-มอนเต้ ไม่ได้รู้มาก่อนว่าจะไวน์จะเข้าไปอยู่บนโต๊ะอาหารของการประชุม APEC ในปี 2022 มารู้อีกทีก็ตอนที่มีผู้ดำเนินการหลายเจ้าติดต่อมาเพื่อที่จะขอใช้ไวน์ของกราน-มอนเต้ในฐานะซัพพลายเออร์ ก็ปรากฎว่าเกือบทุกเจ้าที่เข้าประกวดแข่งขันราคาใช้ไวน์ของที่นี่ เพราะได้รับโจทย์มาว่า ‘ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ของไทย’

 

‘ ทุกคนเลือกไวน์ของเราไปเสนอให้กับรัฐบาลว่างานเลี้ยงใหญ่จะใช้ของเรา งานเลี้ยงย่อยซึ่งมีมาก่อนหน้านั้นก็ใช้ของเรา  ตอนแรกก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เราก็มาเข้าใจโจทย์จากเขา ว่าเขาไฮไล้ท์ของไทย สินค้าที่มาจากไทย เรารู้ว่านี่คือตัวเรา และรู้สึกมีความสุข ที่ในที่สุดเราพิสูจน์ได้แล้วว่าการที่เราเน้นย้ำมาตลอดถึงตัวตนเรา ว่าเป็นองุ่นไวน์ที่ปลูกเองในไทย และทำไวน์เองในไทย ได้รับรู้แล้วในวงกว้าง รวมไปถึงวงการ F&B และหน่วยงานรัฐเองก็เชื่อมั่นตัวเราหากพูดถึงไวน์ที่ปลูกและทำในประเทศไทย’

 

บรรยากาศงานTourism Ministerial Meeting APEC 2022 สำหรับรัฐมนตรีการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิก 21 ประเทศ บรรยากาศงานTourism Ministerial Meeting APEC 2022 สำหรับรัฐมนตรีการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิก 21 ประเทศ

 

อุปสรรคที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การผลิต แต่อยู่ที่กฎหมายและนโยบาย

 

‘ ขั้นตอนการปลูกไม่ยากนัก หากมีองค์ความรู้ในการทำไวน์ แต่สิ่งที่ยากสำหรับการเติบโตของผู้ประกอบการเล็กๆ คือ เรื่องของกำลังการผลิต ที่จำกัดด้วยแรงม้าว่าห้ามเกิน 5 แรงม้า และภาษีของไวน์ที่สูงมากๆ’

 

คุณนิกกี้ ให้ข้อมูลในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า ไวน์ตามมาตรฐานสากลต้องเป็นองุ่นไวน์ 100% แต่ในไทยระบบการจัดเก็บภาษีนั้นจะกำหนดว่า ไวน์ที่ผลิตในไทยที่เป็นองุ่นไวน์ 100% จะต้องเสียภาษีมากกว่าไวน์ที่มีส่วนผสมขององุ่นธรรมดาและผลไม้อื่น  ซึ่งไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เพราะไวน์เป็นเครื่องดื่มที่ดื่มกันทั่วโลก แต่ในไทยกลับถูกจำกัดและเข้าถึงยากและมีราคาสูง  ซึ่งทำให้ผู้ผลิตรายเล็กๆ  เกิดขึ้นยากและเติบโตได้ยากตามมา

 

หลากหลายสายพันธุ์องุ่นภายในไร่ หลากหลายสายพันธุ์องุ่นภายในไร่

นอกจากนี้ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ก็พบกับอุปสรรคในเชิงของข้อกฎหมายอีกเช่นกัน คุณมีมี่ได้แชร์สิ่งที่ GranMonte เรียนรู้และทำเพื่อเพิ่มโอกาสให้คนได้ทำความรู้จักไวน์ของพวกเธอไว้ว่า ‘ต้องทำควบคู่กับการท่องเที่ยว’

 

‘ ความเสรีที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต จะต้องเริ่มจากการที่ว่าเราเลือกได้ว่าเราอยากทำธุรกิจสเกลไหน ซึ่งในปัจจุบัน ธุรกิจแอลกอฮอล์และไวน์ถูกจำกัดด้วยกฎหมายและสิ่งต่างๆ จนทำให้เราต้องเลือกว่าอยากเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่  ไม่มีตรงกลางเลย  โดยเฉพาะในมาตรา 32 เรื่องของการโฆษณาบรรยายสรรพคุณ แม้จะเป็นความเป็นจริงก็จะผิด และมีการยกเว้นคือการให้ความรู้และการศึกษา ซึ่งตรงนี้ก็เทามากๆ สรุปคือสื่อสารไม่ได้เลยเช่นเดียวกัน โฆษณาตรงๆ ไม่ได้ หรือการโพสต์รูปขวดก็ทำไม่ได้

ตรงนี้สำหรับแบรนด์ของเรา การท่องเที่ยวช่วยได้มากในภาวะที่เราไม่สามารถพูดถึงสินค้าเราได้ เพราะการท่องเที่ยวช่วยให้คนได้เข้าถึงสินค้าของเรา  หลังจากนั้นถ้าเขาชอบก็จะแนะนำต่อๆ กันไป  ...  เราสร้างธุรกิจท่องเที่ยวคู่มากับการปลูกองุ่นและทำไวน์ มันแสดงให้เห็นว่าสองอย่างนี้ไปด้วยกันได้ และช่วยเกื้อกูลให้ธุรกิจเติบโต อย่างไร่ของเราก็เป็นไฮไล้ท์จุดท่องเที่ยวของเขาใหญ่ เพราะเราเปิดให้มีการเยี่ยมชมและเข้ามาเที่ยว ก็ช่วยเศรษฐกิจชุมชนที่นี่ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าเราเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มคุณค่าให้การท่องเที่ยวในประเทศไทย’

 

นอกจากนี้คุณมีมี่ยังมองว่า ไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ ถ้าเราไม่เลือกที่จะแมส โดยผู้ผลิตรายย่อยสามารถเจาะตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่มได้ โดยใช้ช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายและระบุกลุ่มลูกค้าของเราให้ชัดเจน จึงจะทำการสื่อสารได้ตรงจุด

 

2 นักธุรกิจผู้ปลุกปั้นไวน์ไทย GranMonte ขึ้นชั้นระดับโลก

 

มองไวน์ไทยในอนาคต

 

ตั้งแต่เริ่มต้นการสัมภาษณ์จนถึงวินาทีข้อคำถามสุดท้าย นอกจากความรู้ในเรื่องธุรกิจการทำไวน์ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ความรักในการอดทนรอ ทำวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์มานานกว่าหลายสิบปี เราเห็นความมุ่งมั่นของพวกเธอที่จะปลุกปั้นไวน์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเข้าถึงใจของนักดื่มไวน์ทั้งไทยและเทศเป็นอย่างดี

 

‘สำหรับนิกกี้เองความสำเร็จของการทำแบรนด์คือ การไปทานข้าวแล้วเห็นโต๊ะข้างๆ สั่งไวน์ของเราดื่ม เราจะภูมิใจมาก เพราะว่านี่คือสิ่งที่เราปลูกเองและทำไวน์เอง นี่คือโมเม้นของความสำเร็จของเรา เราไปแข่งขันแบบ Blind testing คือคณะกรรมการจะชิมไวน์โดยไม่รู้ว่ามาจากไหน ผู้ผลิตเป็นใคร และทำการตัดสิน และเราก็ได้รางวัลกลับมาจากการแข่งขันระดับโลก’  คุณนิกกี้พูดด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

‘ทุกอย่างใหม่หมด บางคนก็เลยไม่ค่อยให้ค่ากับสิ่งใหม่ สำหรับไวน์บางคนมองว่ามีประวัติศาสตร์ยาวนาน ทำมานานจะดีกว่า แต่สำหรับเราถ้าถามว่าทำไมถึงทำที่นี่ ก็เพราะมันใหม่นี่แหละ มันคือเสน่ห์ใหม่ เหมือนค้นพบทวีปใหม่ เราสามารถ Explore อะไรก็ได้ เรารู้อยู่แล้วมาตรฐานการทำไวน์คืออะไร แต่ข้างบนบรรทัดฐานเราสามารถทดลองวิธีและสไตล์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเลย  ...  ซึ่งเรามองว่าเป็นข้อได้เปรียบและเป็นเสน่ห์ของเราในตอนนี้ เพราะนักชิมไวน์บางคนที่ชอบชิมอะไรใหม่ๆ ก็จะตื่นเต้นกับไวน์ของเรา’  คุณมิมี่กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ขอขอบคุณ

ภาพ : FB : GranMonte Vineyard and Winery

Thailand Web Stat