‘โฮมคอมมิวนิตี้สำหรับผู้สูงอายุ’ ทางเลือกใหม่ลดค่าใช้จ่ายวัยเกษียณ
ต่างประเทศมีระบบการดูแลผู้สูงอายุหลังวัยเกษียณที่เรียกว่า ‘Assisted living community’ ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือในแต่ละชุมชนที่พวกเขาอยู่อาศัย จะมีบ้านหลังหนึ่งที่ให้คนวัยเกษียณมาอยู่รวมกัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย มีเพื่อนคุย และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
อะไรคือ Assisted Living community
Assisted Living เป็นคำใหม่ ที่ต่างประเทศก็ถึงกับต้องให้ความรู้กันเมื่อไม่นานมานี้ ถ้าพูดให้เห็นภาพ อาจจะสามารถเปรียบได้กับโฮมสเตย์ ที่มีคนจากหลายแห่งมาอยู่ร่วมกัน และใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน เช่น ห้องดูทีหนัง สระว่ายน้ำ สวนหย่อม ห้องรับประทานอาหาร ก็คงจะพอเห็นภาพได้ .. อย่างไรก็ตาม Assisted living นั้นมีความแตกต่างจากโฮมสเตย์บ้างในบางอย่าง
สิ่งที่ต่างออกไปคือที่นี่จะมีแต่ ‘ผู้สูงอายุ’ และมีนักบริบาลคอยอำนวยความสะดวกตลอด 24 ชม. เพื่อให้พวกเขาสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้สะดวกมากขึ้น รวมไปถึงมีการเตรียมอาหาร 3 มื้อและมีแม่บ้านคอยทำความสะอาด ซักเสื้อผ้าให้และมีบริการรับส่งอีกด้วย .. โดยจะมีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน หากไม่พอใจก็สามารถเปลี่ยนที่พักได้ และมีห้องแยกพิเศษไม่นอนรวมกัน
แล้ว Assisted Living สำหรับผู้สูงอายุต่างจาก บ้านพักคนชรา อย่างไร?
องค์กรอย่าง คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง 101 PUB กับ สสส. ได้ให้ข้อมูลและเสนอแนวทางไว้ว่า Assisted Living ในรูปแบบดังกล่าว จะมีราคาถูกกว่าสถานดูแลขนาดใหญ่ เพราะไม่มีพยาบาลอยู่ประจำ แต่แทนที่ด้วยนักบริบาลตลอด 24 ชม.ที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายพยาบาลซึ่งอาจมีตารางการเยี่ยมตรวจสุขภาพโดยบุคลากรทางการแพทย์แทน
นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็นบ้านมากกว่าทั้งภายนอกและทางการรับรู้ด้านจิตใจ โดยเจ้าของบ้านแห่งนี้ ก็คือบุคคลทั่วไปที่ผ่านการอบรมและมีความรู้ อีกทั้งยังได้ใบอนุญาตในการประกอบกิจการด้วย บางแห่งนั้นเป็นที่พักขนาดไม่ใหญ่นักแต่ดูแลกันด้วยเป็นครอบครัวมากกว่า นอกจากนี้ผู้ที่อยู่อาศัยก็ไม่ต้องทำกิจกรรมตามตารางเวลาที่พยาบาลจัดแจง แต่สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระเหมือนอยู่ในบ้านของตัวเอง แต่ดีกว่าตรงที่มีคนช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งแตกต่างจากบ้านพักคนชรา ที่มักจะต้องการการดูแลที่เข้มข้นขึ้น เพราะเงื่อนไขทางสุขภาพเช่น มีภาวะสมองเสื่อม คนที่มีอาการป่วยจากเส้นเลือดในสมองแตก หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เลย คนเหล่านี้เหมาะกับการอยู่อาศัยในบ้านพักคนชราที่จะมีคุณหมอหรือคนที่ช่วยดูแลเฉพาะด้านคอยดูแลอยู่มากกว่า
นิตยสาร Forbes ได้กล่าวถึงรายละเอียดของ Assisted Living ในต่างประเทศไว้ว่า บ้านแห่งนี้จะอนุญาตให้ผู้คน สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระ ไม่ต้องอยู่ในการควบคุม และปล่อยให้เรื่องของการดูแลบ้านต่างๆ เป็นเรื่องของคนอื่นๆ และชุมชนที่มี Assisted Living มักจะมีการจัดกิจกรรมในชุมชนที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจให้แก่คนในบ้านแห่งนี้ ซึ่งจากงานวิจัยหลายฉบับก็ระบุว่าสุขภาพของผู้สูงวัยที่ได้มีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้นกว่าการอยู่เพียงลำพัง อีกทั้งบ้านแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นสถานที่ซึ่งเชื่อมโยงสังคมและความรู้สึกรูปแบบใหม่ให้แก่ชุมชนอีกด้วย
นิยมเป็นอย่างมากในหลากหลายประเทศ
ในอเมริกามีจำนวนของ Assisted Living อยู่ที่ 30,600 แห่ง รองรับได้กว่า 1.2 ล้านคน กระจายไปทั่วภูมิภาคของอเมริกา โดย 56% ของบ้านพักเป็นบ้านที่รองรับ 2 ชุมชนขึ้นไป โดยจะอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบที่แตกต่างกัน อย่างเช่นในรัฐนิวยอร์กจะอยู่ภายใต้กรมสุขภาพ ส่วนที่อื่นๆ อาจจะอยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด นอกจากนี้กรมการเคหะและการพัฒนาเมืองของอเมริกามีโครงการสนับสนุนให้ดัดแปลงอาคารให้เป็น Assisted Living ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด
ในขณะเดียวกันที่ฝรั่งเศสก็มี Assisted Living ขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘ครอบครัวอุปถัมภ์’ ซึ่งเปิดให้ผู้สูงอายุเช่าห้องพักอาศัยร่วมกับครอบครัว ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ได้ไม่เกิน 3 คนต่อครอบครัว เป็นต้น
ทางเลือกสำหรับสังคมผู้สูงอายุในไทย
ปัจจุบันประเทศไทยเน้นไปที่การลงทุนกับโครงการ Senior Complex ขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่การก่อสร้างเยอะ จึงไม่สามารถเข้าไปอยู่ในชุมชนได้ หมายความว่าการเข้าไปอยู่ใน Senior Complex ดังกล่าวจะทำให้พวกเขาต้องแยกตัวจากชุมชนเดิมที่เคยอยู่ เพราะบางศูนย์ที่พักมักจะตั้งอยู่ในชานเมือนห่างไกลจากชุมชนเดิม อีกทั้งเพื่อความเรียบร้อยก็มักจะไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ หรือห้ามน้ำเด็กเล็กเข้ามาในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุในสังคมเมืองที่เมื่อถึงวัยเกษียณก็มักจะขาดจากการเชื่อมโยงกับเครือข่ายสังคมเดิมด้วย จึงทำให้เกิดความเหงา อันเป็นที่มาของความเสี่ยงให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งกายและใจ
Assisted Living มีข้อดีคือลักษณะที่พักนั้นเล็กลง หรืออาจจะเคยเป็นที่พักอาศัยของบางคนอยู่แล้วก็ได้ จึงสามารถกระจายตัวเข้าไปอยู่ใกล้แหล่งชุมชนต่างๆ ได้ทั่วประเทศ หากมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังก็จะช่วยด้านจิตใจของผู้สูงอายุให้รู้สึกว่าไม่ได้ไปไกลจากถิ่นฐานเดิมมากนัก อีกทั้งยังสามารถทำได้เลย ไม่ต้องใช้เวลานานเพราะใช้เงินทุนไม่สูง โดยไม่ต้องรอว่าจะต้องมีคนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่อาจจะไม่ทันกับสภาพสังคมที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ Assisted Living ที่เป็นขนาดเล็กยังสามารถตอบสนองต่อผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มได้ เช่น ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือผู้ที่ต้องการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงให้พวกเขาสามารถมีที่พักอาศัย และมีกลุ่มชุมชนเป็นของตัวเอง ไม่รู้สึกแบ่งแยกเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น
รวมไปถึงปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายซึ่งลดน้อยลงแม้ว่าประเทศไทยจะมีบ้านพักคนชราในระบบที่ราคาถูก แต่ความเป็นอยู่รวมไปถึงปริมาณก็ไม่เพียงพอรองรับ หากต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่สูงขึ้นถึงหลักหมื่นหรือหลายหมื่นบาท ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตก่อนบั้นปลายเต็มไปด้วยความกดดัน การทำงานหนัก หรืออาจตกเป็นภาระสำหรับลูกหลานในอนาคตตามมา Assisted Living ที่มีลักษณะเหมือนโฮมสเตย์แบบนี้ ก็เหมือนการแชร์ที่อยู่อาศัยร่วมกัน และจ้างคนดูแลที่มีมาตรฐานร่วมกัน ซึ่งสามารถช่วยเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต และเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง
วิจัยระบุ 'ผู้สูงวัย' อยากอยู่ในถิ่นเดิม
จากสถิติของการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2564 พบว่าผู้สูงอายุ 93.8% อาศัยในที่พักที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม และจากการศึกษาโครงการวิจัย ‘รูปแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพกาย-ใจ ภายใต้ แนวคิดชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ’ โดย รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ปัญหาสุขภาพทั้งทางกาย และจิตใจ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุ มีการคาดประมาณว่าในปี 2590 จะมีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 1.2 ล้านคน และต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงถึงประมาณ 3.4 แสนล้านบาท และในด้านที่อยู่อาศัยพบว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 92.44 ต้องการที่จะอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยเดิม และต้องการปรับปรุงที่อยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
เพราะฉะนั้นการได้เข้ามาอยู่ในบ้านพักแบบ Assisted Living ที่มีการดูแลพื้นฐานอย่างเหมาะสม และเข้าถึงการบริการนี้ได้ง่ายขึ้น ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้สามารถใช้ชีวิตในถิ่นฐานเดิม ด้วยการดูแลที่มีคุณภาพได้อย่างมีความสุขอีกด้วย.
ที่มา
https://www.forbes.com/health/senior-living/what-is-assisted-living/
https://kidforkids.org/elderly-assisted-living-housing/
https://health.usnews.com/best-assisted-living/articles/what-is-assisted-living