Marry My Dead Body สะท้อนสังคมเท่าเทียมในไต้หวัน ที่ครอบคลุมถึงโลกของผี!
ไต้หวันเป็นชาติเดียวในเอเชีย ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และความภาคภูมิใจของชาวไต้หวันก็สะท้อนออกมาได้อย่างสนุกสนานในหนัง Marry My Dead Body ที่ลากความหลากหลายมาแผ่ให้เห็นว่าในประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วนั้น เท่าเทียมและหลากหลายจริงหรือไม่?
** บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์
ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหนังไต้หวันเรื่องหนึ่งขึ้น TOP 10 movies ของเน็ตฟลิกซ์ประเทศไทยติดต่อกัน ซึ่งน้อยครั้งที่เราจะได้เห็นปรากฎการณ์หนังไต้หวันที่ทำได้แบบนี้ หรือในทวิตเตอร์เองก็มีการขึ้น #แต่งงานกับผี อยู่หลายวันเลยทีเดียว หน้าหนังหากใครมองผ่านๆ ก็จะคิดว่าน่าจะเป็นภาพยนตร์สายวาย แต่แท้ที่จริงแล้วมันคือภาพยนตร์สะท้อนสังคมของไต้หวัน ที่เดินหน้าเต็มกำลังเข้าสู่บริบทความเท่าเทียมรุดหน้าแซงชาติอื่นในเอเชีย ..
ก่อนจะเข้าเรื่องหนัง Marry My Dead Body หรือ แต่งงานกับผีในชื่อภาษาไทย ก็ขอปูพื้นกันสักนิด ว่าประเทศไต้หวันนั้นเป็นประเทศแรกและยังเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งประกาศใช้ในปี 2019 อย่างไรก็ตามแค่ประกาศว่ามีตัวกฎหมายยังไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเสรีและครอบคลุม เพราะยังคงต้องมีการพัฒนาตัวกฎหมายในแต่ละปีให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
อย่างเช่นในปี 2023 นี้ก็เพิ่งมีการอนุญาตให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในไต้หวันครอบคลุมคู่สมรสต่างชาติ ที่มาจากชาติซึ่งไม่มีกฏหมายสมรสเท่าเทียม หมายถึงหากคุณเป็นคนไทยพบรักกับคนรักชาวไต้หวัน จะไปแต่งที่นั่นได้สิทธิตามกฎหมาย!! ยกเว้นการแต่งงานระหว่างคนไต้หวันกับคนจีนแผ่นดินใหญ่ ที่คงมีเรื่องทางการเมืองที่ซับซ้อนซึ่งแกะปมกันไม่ออก หรือเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้มีกฎหมายที่ครอบคลุมการรับรองบุตรบุญธรรมร่วมกันได้เป็นผลสำเร็จ! ซึ่งนับว่าไต้หวันเป็นประเทศที่ก้าวหน้าเรื่องความหลากหลายและเท่าเทียมเป็นอย่างมากเลยทีเดียว เมื่อเหลียวดูประเทศต่างๆ ในเอเชีย ที่ยังคงอยู่ที่จุดสตาร์ทเพราะกฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่ได้มีการประกาศใช้
แล้ว Marry My Dead Body ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นไต้หวันในมุมไหนได้บ้างล่ะ ก็ในเมื่อรู้กันอยู่แล้วว่าที่ไต้หวันนั้นสมรสได้อย่างเท่าเทียม จึงอยากนำบางฉากที่ประทับใจมารีวิวกัน
สมรสเท่าเทียมที่ทำได้แม้อยู่ในปรโลก
เรื่อง Marry My Dead Body เป็นเรื่องราวของ อู่หมิงฮั่น นายตำรวจหนุ่มเลือดร้อน เพศชายแท้ต้องมาแต่งงานกับคนตายที่ชื่อ เหมาพังหยู ซึ่งเป็นเกย์และตายไปด้วยอุบัติเหตุรถชน ในธรรมเนียมของชาวจีนมีพิธีกรรมของการแต่งงานกับผู้ที่ตายแล้ว จากความเชื่อหลายอย่าง ภายในเรื่องได้ให้เหตุผลว่า อู่หมิงฮั่นต้องทำตามสิ่งที่เหมาพังหยู อยากจะทำก่อนตายให้สำเร็จ เพื่อที่จะตายอย่างสงบสุข หลังจากที่เขาเก็บซองแดงได้ เขาจึงต้องรับหน้าที่เจ้าบ่าวของเหมาพังหยู ไม่งั้นจะมีโชคร้ายตามมา และร่วมกันไขคดีสาเหตุการตาย อีกทั้งทำตามความปรารถนาของเหมาพังหยู เพื่อให้ตายอย่างสงบสุข
ผู้ที่เริ่มแผนการณ์นี้ โดยการเอาซองแดงวางไว้ และยินดีรับอู่หมิงฮั่นให้แต่งงานกับหลานชายตัวเองก็คือ ยายของเหมาพังหยู และเพราะกฏหมายสมรสเท่าเทียมของไต้หวัน ซึ่งชายมีสิทธิแต่งงานกับชายแม้จะตายไปแล้วก็ตาม การแต่งงานของอู่หมิงฮั่น-ชายแท้ กับ เหมาพังหยู-เกย์ที่ตายไปแล้ว จึงเกิดขึ้น
ย่าของเหมาพังหยูแม้จะเกิดในยุคที่เรื่องของความหลากหลายไม่ได้ถูกยอมรับ แต่เธอก็เป็นตัวแทนของกลุ่มคนผู้สูงอายุที่สามารถยอมรับบริบทความเท่าเทียมที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
‘ ตอนที่เราร่วมขบวนไพรด์พาเหรดด้วยกัน ย่าบอกเขาว่า ย่าจะสนับสนุนหลานทุกทาง และอยู่รอดูหลานแต่งงาน’
หนังทำให้เราได้เห็นภาพย่าถือป้ายในขบวนไพรด์ที่ระบุข้อความว่า ย่าอายุ 70 แล้วอยากเห็นหลานแต่งงาน เพราะฉะนั้นมันคงเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยากไม่น้อยว่าในเวลาที่สังคมไต้หวันเปิดให้แต่งงานได้ แต่เหมาพังหยูกลับประสบอุบัติเหตุก่อนจะได้แต่งงาน เธอจึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้หลานชายได้แต่งงานได้อย่างสมใจแม้จะตายไปแล้วก็ตาม ..
ซีนนี้ทำให้รู้สึกได้ว่าหากการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น คงจะมีคนอีกหลายคนที่ไม่ต้องรอที่จะ ‘แต่งงาน’ หรือรอจนตายก็ไม่ได้แต่ง เพียงเพราะว่าไม่สมควรมีสิทธิในการแต่งงาน
แต่นอกเหนือไปจากส่วนของย่าแล้ว ภาพของหนังเรื่องนี้กลับไม่ได้ให้เรารู้สึกแตกต่างไปจากสังคมที่ไม่ได้มีกฏหมายสมรสเท่าเทียมเท่าไหร่นัก ..
ในหนังก็ยังคงมีประเด็นของเพศหญิงในวงการตำรวจ ที่ถูกนำมาใช้เป็นเพียงแค่มาสคอต หรือประชาสัมพันธ์องค์กร โดยมองข้ามความสามารถที่แท้จริง เพศชายที่ถือว่าตนเองต้องปกป้องเพศหญิงทั้งๆ ที่ผู้หญิงก็สามารถปกป้องตนเองได้ หรือแม้แต่ความคิดของอู่หมิงฮั่นที่มองว่าสังคมเกย์ก็ยังคงมีแต่แสงสี ปาร์ตี้และยาเสพติดตั้งแต่ฉากแรกที่นำเสนอออกมา รวมไปถึงในฉากที่อู่หมิงฮั่นต้องปลอมเป็นเกย์เข้าไปจับผู้ร้าย ก็โป๊ะแตกเพราะเขาแสดงถึงความเป็นเกย์ในแบบที่ตนเองคิด แต่ไม่ใช่ในสิ่งที่ LGBTQIA+ เป็นจริงๆ
หนังจงใจใส่เรื่องราวนี้ลงไป .. เหมือนเปรียบเปรยว่า กฏหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้วอย่างไร หากคนที่อยู่ภายใต้กฎหมายและใช้กฎหมายไม่เข้าใจถึงหัวใจของความเท่าเทียมอย่างแท้จริง!
เรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ แต่กลับไม่กล้าทำสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพูดคุยกับคนในครอบครัว
อีกประเด็นหนึ่งที่ขอซูฮกให้เรื่องนี้ ที่กล้าพูด ก็คือการพูดเจาะลงไปที่พฤติกรรมของ LGBTQIA+ ที่ไม่ใช่ในฐานะของผู้ถูกกระทำ หรือฮีโร่ อย่างที่เราได้เห็นกันทั่วไป หนังเล่าว่าเหมาพังหยูชอบใช้เวลาไปประท้วงต่อต้านนิวเคลียร์ หรือไม่ก็เก็บขยะที่ชายหาด แต่สิ่งที่เขากลับไม่กล้าทำคือการพูดคุยเปิดอกกับพ่อ ซึ่งต่อต้านไม่ให้เขาแต่งงานกับชายที่เขารัก .. แม้จะตายไปแล้วแต่เหมาพังหยูคิดอยู่เสมอว่าพ่อไม่เคยรับได้ในตัวตนที่เขาเป็น และไม่อยากให้เขาแต่งงานกับผู้ชาย ...
แต่แล้วเมื่อความจริงปรากฎว่า พ่อไม่ได้ต่อต้านเขาไม่ให้แต่งงานเพราะไม่อยากให้ลูกเป็น LGBTQIA+ แต่เป็นเพราะคนที่ลูกจะแต่งงานด้วยนั้นเป็นคนไม่ดีและมีคนอื่น ซึ่งเหมาพังอยู่ไม่เคยได้รับรู้ความจริงเลยจนตายไป ...
ถ้ามองพื้นๆ ก็อาจจะเห็นแค่ว่าเป็นเรื่องความรักของพ่อลูกที่มีต่อกันและกันแต่ไม่สื่อสารกัน แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกเมื่อมองว่าหนังเรื่องนี้พยายามจะพูดในประเด็นของสังคมที่มีความเท่าเทียม ก็จึงได้เห็นว่าหนังอาจจะพยายามบอกว่าเหล่า LGBTQIA+ ที่สามารถออกมารณรงค์ตามท้องถนนทั้งหลายได้ เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ แต่อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่คุณควรจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ทัศนคติของคนรอบข้างและคนในครอบครัว ซึ่งควรเริ่มจากการเปิดใจพูดคุยกัน
และเช่นเดียวกับคนรอบข้าง ที่ต่อให้เราจะเห็นว่า LGBTQIA+ แข็งแกร่ง และสามารถออกมารักตัวเองได้ในแบบที่ตัวเองเป็น แต่มันคงมีเศษเสี้ยวหนึ่งในใจที่อยากให้คนที่เป็นดั่งครอบครัวยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็นเช่นกัน ดังเช่น เหมาพังหยู เขาค้นหาสิ่งที่จะปลดล็อคและทำให้เขาได้ตายตาสงบสักทีอยู่นาน สุดท้ายสิ่งที่ทำให้เขาไปได้จริงๆ คือความในใจของพ่อที่ยอมรับและรักเขาในสิ่งที่เขาเป็น
‘ ถ้าเหมาเหมายังมีชีวิตอยู่และได้ลงเอยกับเธอ (อู่หมิงฮั่น) ฉันคงจะมีความสุขมาก’
‘ ถ้างั้น คุณลุงจะมาเป็นเจ้าภาพงานแต่งพวกเราไหม’
‘ ไปสิ ฉันไปแน่นอน’
หนังจบด้วยการทำให้เราเห็นว่า 'พ่อ' ยินดี เข้าใจ และเปิดรับเรื่องสมรสเท่าเทียมอย่างแท้จริง ..
Marry My Dead Body สะท้อนภาพของประเทศที่กำลังจะขับเคลื่อนเรื่องกฏหมายสมรสเท่าเทียมได้เป็นอย่างดี และอาจเป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องขบคิดกันอย่างจริงจังในเรื่องนี้ เพราะแม้เป็นประเทศไต้หวัน ที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีการพัฒนาและคิกออฟไปไกลกว่าที่อื่นในเอเชียแล้วนั้น ก็ยังเกิดคำถามว่า สังคมได้เติบโตตามไปกับกฎหมายจริงหรือไม่? .. เพราะกฏหมายจะไม่มีความหมายเลย หากทัศนคติและความคิดของคนในสังคมไม่ได้ หลากหลาย และเท่าเทียม อย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ
และสำหรับประเทศที่ยังไม่ได้เริ่มเลยแม้แต่กฏหมายสมรสเท่าเทียม ยิ่งทำให้ได้เห็นว่า เรายังเหลือหนทางอีกมากที่จะผลักดับและขับเคลื่อนสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมกับทุกคนจริงๆ .. และไม่ได้เป็นเหมาพังหยูคนที่สอง ที่กว่าจะได้สิทธินั้นก็สายไปเสียแล้ว.